Digiqole ad

“อาม่า” ที่โลก(อาจ)ลืม สังคมครอบครัวและผู้สูงอายุไทยยุคดิจิทัล

 “อาม่า” ที่โลก(อาจ)ลืม สังคมครอบครัวและผู้สูงอายุไทยยุคดิจิทัล
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 427 ระหว่างวันที่ 12-18 เมษายน 2567

หน้า 2-3 (สกู๊ปปก)

“อาม่า” ที่โลก(อาจ)ลืม

สังคมครอบครัวและผู้สูงอายุไทยยุคดิจิทัล

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีทั้งวันผู้สูงอายุ (13 เมษายน) และวันครอบครัว (14 เมษายน) อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับนี้ของนำเสนอเรื่องราวที่กำลังเป็นกระแสทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ซึ่งทัชใจผู้คนได้พูดถึงและต้องไปติดตามชมภาพยนตร์ไทยแนวดราม่าครอบครัวและผู้สูงอายุ เรื่อง  “หลานม่า”  (LAHN MAH) ที่กำลังทำลายได้ถล่มทลาย โดยเฉพาะเข้าฉาย 4 วันแรก (เริ่มวันที่ 4 เมษายน 2567) รายได้ทะลุถึง 100 ล้านบาท หลายคนต้องหลั่งน้ำตากับภาพยนตร์ฝีมือคนไทย สร้างโดย จอกว้าง ฟิล์ม จัดจำหน่ายโดย จีดีเอช ห้าห้าเก้า กำกับภาพยนตร์โดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ อำนวยการสร้างโดย วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และ จิระ มะลิกุล นำแสดงโดย พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล , ต้นตะวัน ตันติเวชกุล , สัญญา คุณากร , พงศธร จงวิลาส , สฤญรัตน์ โทมัส และ อุษา เสมคำ นักแสดงอาวุโส วัย 78 ปี

โดยเรื่องย่อคือ เอ็ม (บิวกิ้น พุฒิพงศ์) ตัดสินใจดรอปเรียนตอนปีสี่ เพื่อมาเอาดีทางการแคสต์เกมแต่ทำยังไงก็ไม่รุ่ง เอ็มเลยคิดว่าจะรวยด้วยการทำงานสบายๆ แบบ มุ่ย (ตู ต้นตะวัน) ลูกพี่ลูกน้อง ที่รับหน้าที่ดูแลอากงที่ป่วยระยะสุดท้าย จนกลายเป็นทายาทเพียงคนเดียวที่ได้รับมรดกเป็นบ้านราคากว่าสิบล้าน เส้นทางเศรษฐีอยู่ตรงหน้า เอ็มจึงอาสาไปดูแลอาม่า (แต๋ว-อุษา เสมคำ) ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง และน่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินปี โดยหวังว่าจะได้รับมรดกหลักล้านเช่นกัน เมื่อหลานกับอาม่าที่อายุห่างกันกว่า 50 ปี ต้องมาอยู่ร่วมกัน การต่อปากต่อคำจึงเกิดขึ้นในทุกโมเมนต์แต่มันกลับเป็นช่วงเวลาที่ให้อาม่าลืมเหงาจากการเฝ้ารอลูกชายคนโต กู๋เคียง (ดู๋ สัญญา) ลูกสาวคนกลางอย่าง แม่ของเอ็ม (เจีย สฤญรัตน์) และลูกชายคนเล็กอย่าง กู๋โส่ย (เผือก พงศธร) ที่จะมาพร้อมหน้ากันตามเทศกาลต่างๆ เท่านั้นไม่น่าเชื่อว่า งานที่เริ่มต้นทำเพราะหวังรวย จะทำให้คนห่วยๆ อย่างเอ็มได้รู้ว่า คำว่า “ครอบครัว” มีค่ามากกว่าเงิน

            จากแรงบันดาลใจสู่ภาพยนตร์

วัน-วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ “อาม่า” เปิดใจว่า ไอเดียนี้เริ่มจาก เป็ด-ทศพล ทิพย์ทินกร ซึ่งเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ของจีดีเอช มาแล้วหลายเรื่อง เดินมาบอกเราว่าอยากลองเขียนบทเรื่องราวของตัวเองที่กลับไปดูแลอาม่าที่ป่วย ซี่งวันกับพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) รู้สึกว่าเป็ดเป็นคนเขียนบทที่มีอินเนอร์ในการเขียนเรื่องครอบครัวที่ดีมาก และเราชอบไอเดียนี้ของเป็ดมากๆจึงช่วยกันพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ จนกลายเป็น “หลานม่า”ซึ่งเป็นฝีมือการกำกับของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่วันชื่นชอบงานของเขามาตั้งแต่ SOS Skate ซึม ซ่าและหนังเรื่องนี้จะทำให้พัฒน์ได้โชว์ศักยภาพของเขาออกมาอย่างเต็มที่รวมถึงนักแสดงทุกคน ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

            เก้ง-จิระ มะลิกุล ผู้อำนวยการสร้างอีก 1 คน กล่าวว่า จำได้ว่าตอนที่เป็ดส่งบทเรื่องนี้มาตอนนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดแรก ๆ ที่เราต้องล็อคดาวน์อยู่ที่บ้านทำให้เราต้องเขียนบทผ่านการ Zoom เป็นครั้งแรกช่วงนั้นออกไปไหนยากมาก เพราะหน้ากากอนามัย และ ATK หายากมาก และเป็นช่วงที่มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการเป็นโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราควรทำที่สุด คือ การอยู่บ้าน และดูแลคนในครอบครัวยิ่งพอเราได้มาอ่านบทหนังเรื่องนี้เรารู้สึกว่า จริง ๆ อาม่าคือคนข้างเคียงที่เรามองข้ามไปในชีวิตจริงเหมือนกันนะ แกเป็นคนที่เคยเลี้ยงดูเรามาตอนเราเป็นเด็ก ตอนที่ร่างกายแกยังแข็งแรง แต่พอวันเวลาผ่านไป อาม่ากลายเป็นคนเสื่อมถอยทางด้านร่างกาย แล้วเราก็ลืมไปว่าแกก็คือคนหนึ่งที่ใกล้ชิดเรามาในตอนเด็ก ๆ ตลอดระยะเวลาในการเขียนบทหนังเรื่องนี้ ทำให้เราได้กลับไปคิดถึงอาม่า คิดถึงญาติผู้ใหญ่ในชีวิตของเราอีกหลายๆ คน ซึ่งมันดีมากๆ เลยครับ ยิ่งเมื่อบทหนังเรื่องนี้ได้ไปอยู่ในมือ พัฒน์ ผู้กำกับที่ผมชื่นชอบเขามานานและยิ่งได้ทีมนักแสดงอย่าง บิวกิ้น, ดู๋ สัญญา, เผือก, ตู ต้นตะวัน พร้อมด้วยคุณยายแต๋ว นักแสดงหน้าใหม่ของเราที่ผมพูดได้คำเดียวว่าเป็นการคัดเลือกนักแสดงที่ลงตัวมาก จึงอยากให้ทุกคนได้ไปดูหนัง “หลานม่า”

จากใจผู้กำกับฯ-นักแสดง

                พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ไฟแรง  เปิดเผยถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า หลานม่าเป็นหนังที่ผมใช้เวลาในการพัฒนานานกว่า 3 ปี เพราะอยากให้หนังออกมาเป็นธรรมชาติมากที่สุด ลงตัวที่สุด หนังเรื่องนี้เหมือนการส่งไม้ต่อ ที่มันเริ่มมาจากชีวิตของพวกเราทุกคน เริ่มจากชีวิตของพี่เป็ด คนเขียนบทที่เขียนเรื่องราวจากที่ประสบการณ์จริงในชีวิตของเขาขึ้นมา แล้วส่งต่อบทเรื่องนี้มาให้ผม โดยที่เราสองคน รวมถึงโปรดิวเซอร์ พี่เก้ง พี่วัน ได้ช่วยกันพัฒนาบทหนังเรื่องนี้จนลงตัว ผมก็ส่งไม้ต่อให้กับทีมงาน ทีมนักแสดง พอหนังถ่ายทำเสร็จ ผมก็ส่งไม้ต่อให้กับคนตัดต่อ คนทำเพลง มันเป็นเวลา 3 ปีที่เราค่อยๆ ส่งไม้ต่อกันมาเรื่อย ๆ

“ตอนนี้ผมกำลังส่งไม้นี้ต่อให้กับผู้ชมทุกคน “หลานม่า” เป็นหนังที่ถ่ายทำยากมาก เพราะต้องอาศัยความเป็นธรรมชาติสูง การที่จะทำบทให้มัน Realistic สำหรับผมมันยากมาก เราไม่สามารถดีไซน์ได้เลยว่าอยากให้แต่ละซีนเป็นแบบไหน เคยพยายามดีไซน์แล้วก็ดูฝืนๆ ไม่ดี เราเลยใช้ความเป็นธรรมชาติของนักแสดงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบิวกิ้น, ยายแต๋ว, พี่ดู๋, พี่เผือก,พี่เจีย, น้องตู ที่ช่วยกันทำมันออกมาให้ดี ทุกอย่างคือจิ๊กซอว์ที่ลงล็อคไปหมด ผมขอฝากหนังเรื่องนี้ไว้ด้วยนะครับ พาครอบครัวไปใช้เวลาร่วมกันในโรงภาพยนตร์กับหนัง “หลานม่า” ซึ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้วครับ”

​            ทางด้านนักแสดง ดู๋-สัญญา คุณากร เผยความรู้สึกว่า ตอนที่ถูกติดต่อให้มาเล่นหนัง “หลานม่า” ผมตอบตกลงในใจไปแล้ว ตั้งแต่ผู้กำกับเล่าเรื่องย่อสั้นๆ ให้ฟัง แต่พอได้อ่านบทบอกเลยว่า “ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ถูกสร้าง ผมจะเสียใจมาก และจะเสียใจรองลงมาคือถ้าผมไม่ได้เล่น” พัฒน์ คือผู้กำกับที่มีความละเอียดอ่อนมากๆ เขาต้องการให้ตัวละครทุกตัวในเรื่องมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งความยากของหนังเรื่องนี้คือ เราจะเล่นให้สุดไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้เลย เราต้องอยู่กับความพอดี  ตอนแรกผมไม่คิดว่าบทกู๋เคี้ยงจะยากขนาดนี้นะ แต่พอได้มาเล่นแล้วมันยากจริงๆ มันเลยกลายเป็นความท้าทายของผม และการได้มาเล่นหนังเรื่องนี้ มันทำให้ผมรู้สึกถึงยุคสมัยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นยุคคุณปู่ คุณย่า หรือยุคพ่อแม่เรา

จนมาถึงยุคนี้ มันเป็นอีกแบบนึง มีบางอย่างที่เพิ่ม บางอย่างที่ลด สิ่งที่เพิ่มของผมคือ ความรู้สึกแตกต่างของวัย และสิ่งที่ลดลงคือ ความผูกพันและเวลาที่มีให้กัน บางคนตระหนักได้ในวันที่คนอันเป็นที่รักจากไป แล้วเราทำได้เพียงแค่เสียดาย และเสียใจ แต่หนังเรื่องนี้กำลังจะบอกเราว่า ถ้าคนเรามีอายุขัยจำกัด แล้วเราจะใช้ชีวิตแบบไหน มันคือความงดงามของชีวิตเท่าที่เราจะจดจำไว้ได้เหมือนกันนะ

“ ผมว่าหนังเรื่องนี้กำลังจะส่งข้อความนี้ถึงทุกคน ผมเลยอยากชวนทุกคนให้ไปดูหนังเรื่องนี้กับครอบครัวกันนะครับ จูงมือไปดูด้วยกัน แล้วก็มาวิจารณ์ด้วยกัน ถ้าลูกอยู่ในวัยเดียวกับบิวกิ้นในเรื่อง ก็มานั่งคุยกันว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ถ้าคุณแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมันคือจุดเริ่มต้นของการที่จะอยู่ด้วยกันได้เป็นอย่างดีกับคนในครอบครัว 4 เมษายนนี้ ไปดูหนังกับครอบครัวที่คุณรักในโรงภาพยนตร์ด้วยกันนะครับ”

            รู้จัก “ยายแต๋ว” ผู้รับบท “อาม่าเหม้งจู

กลายเป็นนักแสดงหน้าใหม่วัย 78 ปี ที่ใคร ๆ ก็อยากรู้จัก สำหรับ “ยายแต๋ว-อุษา เสมคำ ผู้รับบท “อาม่าเหม้งจู” ที่มีคนบอกว่า ยามนี้กลายเป็น “นางเอกระดับ 100 ล้าน ของไทยที่มีอายุมากที่สุด”

สำหรับชีวิตก่อนจะมาเล่นภาพยนตร์นั้น “ยายแต๋ว” เป็นแม่บ้านธรรมดาๆ ใช้ชีวิตอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัวและลูกๆ ไม่ค่อยได้ออกไปไหน จนวันหนึ่งมีน้องแนะนำไปออกกำลังกายที่เขตสะพานสูง ทำให้ได้เจอโมเดลิ่งทาบทามไปเล่น อาม่า คาเฟ่ หลังจากนั้นก็มีงานโฆษณาถ่ายทำกับ หมาก-ปริญ สุภารัตน์ หลังจากได้ถ่ายโฆษณาแล้ว มีคนชักชวน ยายแต๋ว ไปแคสติ้งภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตอย่าง หลานม่า ตอนแรกยายแต๋วกังวลและไม่มั่นใจ เพราะมีคนไปสมัครบทบาทนี้เยอะ บวกกับไม่เคยมีประสบการณ์แสดงบทยาวๆ มาก่อน แต่สุดท้ายฝีมือการแสดงของ ยายแต๋ว ชนะใจผู้กำกับ ได้เป็นเจ้าของบทบาท อาม่าเหม้งจู ในหนัง หลานม่า

หลานม่า เป็นผลงานแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของคนวัย 78 ปีอย่าง ยายแต๋ว แน่นอนว่าการรับบทครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนสูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องการจำบท แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยากเกินความพยายาม เพราะ ยายแต๋ว ใช้วิธีคัดบทของตัวเองทั้งหมดลงกระดาษ เขียนด้วยลายมือของตัวเองทุกหน้า รวมถึงจดคำพูดทีละคำ จดทุกอย่างว่าตัวเองจะพูดกับใครช่วงไหน ยายแต๋วบอกวิธีเขียนบทจะผ่านได้ 2 อย่าง คือผ่านสายตาและผ่านมือที่เขียน นอกจากนี้ ยายแต๋ว ยังบอกอีกว่าตัวเองทุ่มเทกับการจำบท ชนิดที่ว่าล้มตัวนอนเมื่อไหร่ บทต่างๆ จะเข้ามาในสมองยายทุกครั้ง ทำให้บางครั้งนอนไม่หลับ ( ที่มา :GDH / มนุษษย์ต่างวัย)

            เพจดัง “ตุ๊ด review” รีวิวได้ถึง

เพจชื่อดัง “ตุ๊ด review” รีวิวถึงภาพยนตร์ “หลานม้า” ไว้เป็นข้อ ๆ ได้อย่างน่าสนใจ โดยได้ตั้งหัวข้อคือ “คนไม่มีลูก แก่ตัวไป ใครจะเลี้ยง?” ความจริงอีกด้าน มองผ่าน #หลานม่า
            1.ถ้าเราตกผลึกหนังเรื่องนี้ดีๆ มันพูดเรื่องการกลับไปดูแลของลูกหลานที่ควรจะใส่ใจ และให้คุณค่ากันมากพอที่จะเรียกว่ากตัญญู หรือการแสดงความรักความอบอุ่น ตอบแทนบุญคุณ ในสังคมของคนเอเชีย แต่บอยลองเขียนเรื่องนี้มาชวนคิดอีกด้านว่า “แล้วคนที่เขาไม่มีลูกล่ะ ทำยังไงกันชีวิต?” หรือ “ถ้ามีลูก ก็คือต้องหวังให้เลี้ยงดูไปตลอดชีวิตเลยรึเปล่า?”
            2.สิ่งที่บอยคิดได้จากหนังเรื่องนี้ ในมุมตรงกันข้ามคือ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในสังคมคนเอเชีย ที่เติบโตมากับการสอนเรื่องกตัญญูกตเวทีแบบจัดๆเข้มๆ สังคมตะวันตก เขาจะไม่มองวิธีการคิดในการดูแลพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุแบบบ้านเราทำเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเขาให้คุณค่าและอิสระกับการเคารพชีวิตกัน ไม่เอาชีวิตเราไปแขวนเป็นภาระให้ชีวิตลูกหลาน ไม่คาดหวังว่าลูกหลานจะกลับมาดูแล เพราะทุกคนต่างใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง และควรมีชีวิตที่อยากมี โดยที่ไม่ต้องมีใครไปคาดหวังกับชีวิตคนอื่น
3.เรากำลังจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เลี้ยงเราได้จริงๆ คือ “ก่อนเกษียณ ต้องมีเงินมากพอจะมาดูแลตัวเอง โดยที่ไม่ต้องหวังพึ่งพาลูกหลาน” นั่นคือหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะดูแลตัวเองได้ดีพอ และจะยิ่งโคตรดี ถ้ามีรัฐสวัสดิการ support ให้อยู่ได้ตอนแก่บั้นปลายแบบสบายๆ เราจะตัดเรื่องการพึ่งพาลูกหลาน หรือคาดหวังการดูแลออกไปเลยโดยสิ้นเชิง


4.ที่เขียนแบบนี้ เพราะชีวิตที่เกิดขึ้นจริงของชาวตะวันตก พอตอนเขาแก่ เขาเกษียณเขาก็ท่องเที่ยวกันตายาย ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้กันเอง โดยที่ไม่ได้รอลูกหลานกลับมาหา โหยหาความรักจากลูก เพราะเขาเชื่อว่า ลูกก็มีชีวิตเป็นของลูกเอง ที่ต้องสร้างครอบครัวตัวเองให้ดีเช่นกัน ไม่ได้มีหน้าที่หลักมาเลี้ยงพ่อแม่อีกแล้ว ในแบบสังคมคนเอเชีย
5. เพราะเขาจะเชื่อในเรื่องเดียวเป็นหลักคือ พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงลูกให้ดีที่สุด ให้เติบโตและเอาตัวเองรอด ดูแลตัวเองได้ อันนี้คือจบแล้วกับหน้าที่พ่อแม่ที่ดี แต่ลูกไม่ได้มีหน้าที่มาเลี้ยงพ่อแม่ หรือตอบแทน เพราะค่านิยมความกตัญญูกตเวที เป็นสิ่งที่ปลูกสร้างขึ้นมาเองทางวัฒนธรรม มันไม่ควรเป็นสิ่งผูกมัดที่เป็นสลักกักขังชีวิตลูกหลานไปตลอด
6.ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะมีลูกหรือไม่มีมันไม่เกี่ยว อย่างเดียวที่ต้องทำให้ได้คือ พึ่งพาตัวเองให้ได้ มีเงินให้มากพอที่จะซื้อความมั่นคงวัยเกษียณ โดยที่ไม่ต้องคาดหวังจากชีวิตลูก ดังนั้น คนที่มีลูก เพื่อหวังให้ลูกเลี้ยงตอนแก่เฒ่า เป็นชุดความคิดที่ล้าหลัง และกักขังชีวิตลูก ไม่เคารพชีวิตที่คุณสร้างขึ้นอย่างมาก มีลูกเพราะหวังประโยชน์จากเขา อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมยุคนี้แล้ว


7.ที่บอกว่ายุคนี้ควรเลิกคิดเรื่องมีลูกเพื่อหวังให้ลูกเลี้ยงตอนแก่ได้แล้ว เพราะมันไม่ใช่หน้าที่เด็กคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาเพื่อแบกภาระหน้าที่ของครอบครัว แบกความฝันความต้องการของพ่อแม่ เขาควรเติบโตขึ้นจากความปรารถนาดีของพ่อแม่ที่อยากให้เขากำเนิดมาเพื่อมีชีวิตเป็นของเขาเองต่างหาก ดังนั้น การที่มีลูกเพื่อให้ลูกมารับใช้ความต้องการของตัวเอง เป็นพ่อแม่ที่แย่จริงๆ
8.ถ้าลูกจะกลับมาดูแล มาให้ความรัก ก็เป็นที่ตัวเขาเองมีความรักความผูกพัน และให้คุณค่ากับที่บ้าน กับครอบครัว แต่มันไม่ควรเป็นหน้าที่ กตัญญูกตเวที หรือการต้องตอบแทน ก็เท่ากับว่ามันเป็นบทบังคับทางวัฒนธรรมและค่านิยม ที่ไม่ใช่ตัวลูกเองเป็นผู้เต็มใจทำเสมอไป นี่แหละคือความต่างของค่านิยมตะวันออก กับฟากตะวันตก ที่ treat มุมมองการใช้ชีวิต และบทบาทในครอบครัว ให้มีอิสระในชีวิตต่างกัน ด้วยคำว่าภาระหน้าที่ของความเป็นลูกที่ดี
9.เราอยู่ในสังคมไทย ที่รัฐสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุไม่ดีนัก เบี้ยผู้สูงอายุ 600-800 บาท ยังไงก็ไม่พอกิน การโยนภาระความกตัญญูให้ลูกหลานทำงานแทนรัฐ มันง่ายกว่าเยอะ ฉะนั้นแล้ว การปลูกฝังค่านิยมเลี้ยงลูกไว้ใช้งานตอนบั้นปลาย มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตราบใดที่เราอยู่ในวงวนของประเทศที่ไม่ได้ตระหนักในความสำคัญของสังคมผู้สูงวัยที่ขยายขนาดมากขึ้น แต่ไร้นโยบาย มาตรการ และกลยุทธ์ในการทำให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ด้วยตัวเอง ลูกหลานก็จะแบกภาระแบบนี้ไปทั้งชีวิต


10.มาลองชวนคิดว่า ทำไมประเทศเราต้องมีหนังอย่าง “หลานม่า” ให้เราร่วมซึ้ง ร่วมร้องไห้ ร่วมรู้สึกไปด้วยกัน เพราะพวกเราล้วนเติบโตมาแบบนั้น ค่านิยมของชาติเรามีส่วนเสี้ยวที่คิด ทำ เลี้ยงดูกันแบบลูกคนไทยเชื้อสายจีนในแบบนั้น มันเลยทำให้เรารู้สึกร่วมได้ไม่ยาก แต่มองในอีกด้านหนึ่ง “แล้วจริงๆ มันใช่หน้าที่ลูกจริงๆหรือ ที่ต้องมีชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ???”
            เรากำลังคิดแบบเห็นแก่ตัว หรือเอาจริงๆ มันถูกแล้วที่ทุกคนก็มีช่วงชีวิตไปตาม Life Cycle บนอายุขัยของตัวเองอย่างเข้าใจ และไม่โยนภาระให้ใคร เป็นหน้าที่ใคร เพราะเราต่างเกิดมามีชีวิตเป็นของตัวเอง และใช้ชีวิตให้ดีที่สุด (ไม่ว่าจะวัยไหน ก็ต้องใช้ชีวิตตัวเองไปให้ดีที่สุดเช่นกันมิใช่หรือ?)
หลักการตอนนี้ : “ประกันชีวิต เก็บให้ครบ แล้วจะไม่เสียใจทีหลัง”

ไทยเข้าสู่สังคม”แก่เต็มขั้น”

            หันกลับมามองผู้สูงอายุไทยในโลกแห่งความเป็นจริง โดยในขณะนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูป รับปีงูใหญ่หรือปีมังกรซึ่ง 1 ใน 5 อายุเกิน 60 ปี สูง 13 ล้านคน สวนทางเด็กเกิดน้อย ทั้งนี้ผู้สูงวัยกำลังซื้อสูง มีเงิน แนะผู้ประกอบการลุยธุรกิจด้านสุขภาพ-อาหาร-การลงทุน ขณะทั่วโลกพบผู้สูงวัย 10 % คาดพุ่ง 16 % ปี 2593

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2567 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน  นอกจากนี้ข้อมูลจาก World Population 2022 ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ตัวเลขจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคน โดยเป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ 10 % และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นภายในปี 2593 เป็น 16 % กลุ่มผู้สูงอายุในไทยเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ มีอำนาจทางการเงิน และมีอิทธิพลต่อคนในครอบครัว เป็นโอกาสของธุรกิจไทยในการนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและสุขภาพ

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ความต้องการของผู้สูงอายุที่น่าสนใจออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ ความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค , ความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะทางการเงิน และ ความต้องการสุขภาพกายและใจที่ดี โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่จำเป็น

อธิบดีกรมพัฒน์ฯ กล่าวด้วยว่า เพื่อรองรับจำนวนผู้สงอายุที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของการทำธุรกิจเพื่อรองรับคนกลุุ่มดังกล่าว เช่น ธุรกิจผลิตอาหารปรุงสำเร็จ ธุรกิจผลิตอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจบริการด้านเครื่องดื่ม ฯลฯ ที่อยู่อาศัย ออกแบบเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงเครื่องอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่างๆ ในที่พักอาศัย เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจขายส่ง ขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่เหมาะสมตามกาลเทศะช่วงวัย ที่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในช่วงสูงวัย

ธุรกิจที่เป็นโอกาสเช่น โรงพยาบาล คลินิกรักษาโรคทั่วไป เภสัชภัณฑ์และเคมีที่ใช้รักษาโรค ที่ปรึกษาการลงทุน ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการการเงิน ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ต้องหาช่องทาง รูปแบบการลงทุน หรือหลักประกันที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ความเสี่ยงและผลตอบแทนต่างๆ เพื่อจูงใจกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมผู้สูงอายุในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564 – 2566) มีแนวโน้มการจัดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 จัดตั้ง 10,676 ราย ปี 2565 จัดตั้ง 13,915 ราย และปี 2566 จัดตั้ง 16,913 ราย

นางอรมน กล่าวอีกว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของ Aging Society ในอนาคตส่งผลให้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบมาก ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัวและแสวงหาโอกาส ในการทำธุรกิจจากความต้องการสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นและตลาดที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกมาตรการหรือนโยบายในการดำเนินธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโต เข้มแข็ง และแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับสังคมผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทุกประเทศทั่วทุกมุมโลกในอนาคตอันใกล้นี้ (ที่มา : thaipbs)

          หนุนครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ

ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์ โดยจำนวนประชากรไทย ณ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุกว่า  13 ล้านคน คิดเป็น 20 %  ในจำนวนนี้ 97 %เป็นกลุ่ม Active Aging ดูแลตัวเองได้ดี ,กลุ่มติดบ้าน 2.5 % และกลุ่มติดเตียง 0.5 %  ทั้งนี้ ปี 2576 คาดว่า ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้น 3.5 %ต่อปีและมีจำนวนสูงขึ้นถึง 28 %  และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ  อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติโครงสร้างประชากรมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง วัยแรงงานน้อย ถ้าให้วัยแรงงานมาดูแลผู้สูงอายุ โดยที่ผู้สูงอายุไม่เตรียมพร้อมตัวเอง หรือกลไกลของรัฐและชุมชนไม่ยกระดับ ก็มีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมเปราะบาง โดยแนวทางที่จะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จะต้องเตรียมตั้งแต่ก่อนถึงวัยอายุ 60 ปีให้ครบถ้วนใน 4 มิติ คือ

1.สุขภาพ ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง  รู้วิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัย 2.เศรษฐกิจ อาชีพ รายได้  คนที่มีศักยภาพทำอาชีพได้ก็ดำเนินการต่อ เตรียมเงินออม ไม่ให้แบกภาระหนี้ ส่วนภาครัฐให้การสนับสนุนเบี้ยยังชีพเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ 3.สังคม ครอบครัว ชุมชน เรื่องที่อยู่อาศัยควรสร้างครั้งเดียวให้รองรับช่วงวัยชรา ต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์ให้ทำกิจกรรม ทำประโยชน์เพื่อสังคม  มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ให้เหงา ว้าเหว่ ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาสุขภาพจิต รวมถึง มีสิทธิประโยชน์มากมายตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2564 เช่น  ลดค่าโดยสาร เว้นค่าเข้าสถานที่ของรัฐ การช่วยเหลือกรณีถูกทารุณกรรม เป็นต้น และ 4.เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีนวัตกรรมมากมายที่สนับสนุนการใช้ชีวิตในเรื่องการกิน เดิน เคลื่อนไหว นอน อาบน้ำ และต้องรู้เท่าทันการใช้งานในโลกออนไลน์เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ยังกล่าวด้วยว่า  ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2567 จะดำเนินการโครงการใหม่ “ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ” โดยจะสนับสนุนงบประมาณเดือนละ 3,000 บาทให้ลูกหลานที่ต้องลาออกมาดูแล เครือญาติ หรือคนในชุมชน ที่ดูแลผู้สูงอายุเปราะบางแล้วไม่มีใครดูแล เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์พัฒนาการและสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จะให้การสนับสนุนจนกว่าผู้สูงอายุจะเข้มแข็งขึ้นหรือเสียชีวิต โดยในปีนี้ตั้งงบประมาณรองรับ 1,100 รายเป็นการตั้งจากยอดจำนวนผู้สูงอายุที่จองคิวเข้าอยู่ในศูนย์ฯ จากนั้นจะประเมินผลและตั้งงบฯรองรับเพิ่มเติมต่อไป

“การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของพลังสังคม โดยเฉพาะกลุ่ม Active Aging กรมฯมีการสำรวจคลังปัญญาผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัด เมื่อมีกิจกรรมงานต่างๆก็จะเชิญมาร่วมเพื่อพัฒนาสังคม มีชมรมผู้สูงอายุในชุมชนกว่า 20,000 ชมรมทั่วประเทศ มีโรงเรียนผู้สูงอายุราว 3,000 แห่ง มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุให้พัฒนาตัวเอง”

Cr.ข้อมูล/ภาพ : เพจ GDH,เพจตุ๊ด review,กรมพัฒนาธุรกิจการค้า,กรมกิจการผู้สูงอายุ,กรุงเทพธุรกิจ,sanook,อินเทอร์เน็ต

 

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 427 ระหว่างวันที่ 12-18 เมษายน 2567

หน้า 2-3 (สกู๊ปปก)

“อาม่า” ที่โลก(อาจ)ลืม

สังคมครอบครัวและผู้สูงอายุไทยยุคดิจิทัล

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๗ วันที่ ๑๒-๑๘ เมษายน ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/rzih/#p=1
(พลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

Facebook Comments


Social sharing

Related post