Digiqole ad

อะไรอยู่เบื้องหลัง?? ยุทธศาสตร์ชาติผักชีโรยหน้า แก้ปัญหาช้างป่าไม่ได้จริง

 อะไรอยู่เบื้องหลัง?? ยุทธศาสตร์ชาติผักชีโรยหน้า แก้ปัญหาช้างป่าไม่ได้จริง
Social sharing

Digiqole ad
“ศพล่าสุดอาทิตย์ที่แล้ว เกิดขึ้นที่วังจันทร์ เขตเลือกตั้งของผม ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ศพต่อไปจะเกิดขึ้นที่ไหนอีก?”
📌 คำอภิปรายของ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ – Chutiphong Pipoppinyo สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ชี้ให้เห็นความบกพร่องของการแก้ปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ
📌 ตั้งข้อสงสัยว่ามีการปล่อยหน่วยงานภายนอกเข้าแทรกแซงภารกิจ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องรับผลกระทบ ทำมาหากินยากลำบาก หลายคนบาดเจ็บ-เสียชีวิต
📌 กระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีแนวโน้มปัญหาจะคลี่คลาย
[ สถิติช้างป่าออกนอกพื้นที่ เพิ่มขึ้นมหาศาล ]
ในการประชุมรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565 และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ชุติพงศ์ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายถึงรายงานการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2561 – 2580 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับคนและชุมชน ในกรณีช้างป่าตะวันออก
ชุติพงศ์ เริ่มต้นการอภิปรายโดยยกรายงานที่ได้รับยื่นจากศูนย์เรียนรู้ช้างป่าตะวันออกและเครือข่ายเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก ที่ระบุถึงการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าและจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จากปี 2561 – 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปี 2561 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 2,399 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 ราย มีผู้บาดเจ็บ 13 ราย
ปี 2562 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 2,358 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 14 ราย มีผู้บาดเจ็บ 19 ราย
ปี 2563 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 4,761 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 10 ราย มีผู้บาดเจ็บ 17 ราย
ปี 2564 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 8,006 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 19 ราย มีผู้บาดเจ็บ 12 ราย
ปี 2565 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 16,376 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 23 ราย มีผู้บาดเจ็บ 14 ราย
สรุปการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติตั้งแต่ปี 2561 – 2565 มีผู้บาดเจ็บ 75 ราย เสียชีวิต 77 ราย และสถิติการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าตะวันออกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการทำให้ช้างกับคนอยู่ร่วมกันได้แม้แต่น้อย
[ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ กับ ผลประโยชน์ทับซ้อน? ]
ชุติพงศ์อภิปรายต่อไปว่า ตามที่ได้เคยประสานการช่วยเหลือประชาชน และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าแม้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แต่การดำเนินงานยังคงติดขัดปัญหา โดยเฉพาะจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มีหน้าที่กำกับโดยตรง แต่กลับมีส่วนสำคัญในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพราะบังเอิญไปสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
หน่วยงานแรก คือ ‘มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด’ โดยมูลนิธิดังกล่าวมีประธานคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปี 2560 ด้วย ผลงานที่อ้างในเว็บไซต์ของมูลนิธิ คือการทำแนวกำแพงและคูกั้นช้างตามแนวป่ารอยต่อภาคตะวันออกเพื่อกันไม่ให้ช้างออกมา เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วได้มีการส่งมอบให้อุทยานฯ บ้าง กองทัพเรือบ้าง
ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพื้นที่ พบว่ากำแพงกันช้างไม่สามารถกันช้างป่าได้จริง ช้างสามารถขุดลอดข้ามแนวมาได้อย่างง่ายดาย ส่วนคูกั้นช้างก็กลายเป็นสไลเดอร์ช้างให้ข้ามแนวได้ง่ายๆ ทำให้ตนต้องตั้งคำถามว่าการใช้งบประมาณของมูลนิธิฯ ในโครงการนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และขอตั้งคำถามไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ว่าการที่คนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีมูลนิธิที่ทำงานสนองแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่?
[ มูลนิธิคชานุรักษ์ กับสารพัดโครงการที่แก้ปัญหาไม่ได้จริง ]
อีกหน่วยงานคือ ‘มูลนิธิคชานุรักษ์’ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนอยู่ราว 10 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเช่นกัน นั่นคือการทำให้ช้างกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้ แม้จะเป็นมูลนิธิขนาดกลาง แต่อำนาจบารมีมากมายมหาศาล ใหญ่กว่าหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่โดยตรง ดังจะเห็นได้ว่ามีปลัดกระทรวงหลายกระทรวงทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง ผู้นำเหล่าทัพ ไปจนถึงองคมนตรี นั่งเป็นกรรมการมูลนิธิดังกล่าวอยู่ โดยที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธิฯ ก็ตั้งอยู่ในสถานที่ที่ไม่น่าจะมีหน่วยงานใดกล้าเข้าไปตรวจสอบได้
ตัวอย่างงานของมูลนิธิคชานุรักษ์ คือการทำหมู่บ้านคชานุรักษ์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป้าหมายคือการสร้างชุมชนที่ทำให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พบว่าเมื่อช้างเข้ามาอยู่ในชุมชนแล้ว ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรไม่สามารถออกไปทำการเกษตรได้ โครงการก็สนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ที่มีตั้งแต่การทำน้ำพริก ปุ๋ยหมัก ทอผ้า ทำชา ทำไม้กวาด ซึ่งมูลนิธิฯ ได้อ้างเป็นผลงาน ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชน และไม่ใช่การแก้ปัญหาทำให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้จริง
[ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติต้องตอบ ปล่อย 2 มูลนิธิแทรกแซงภารกิจหรือไม่? ]
ชุติพงศ์อภิปรายต่อไปว่า จึงขอตั้งคำถามต่อกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ว่ามูลนิธิที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นนั้น เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติจริงหรือไม่ หากมูลนิธิดังกล่าวไม่มีหน้าที่โดยตรง การตั้งตัวเองเป็นผู้ดำเนินงาน เอาข้าราชการระดับสูงมานั่งเป็นกรรมการ มีอำนาจในการดำเนินการต่างๆ เรียกว่าเป็นการปล่อยให้มีการแทรกแซงหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงได้หรือไม่ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะสามารถทำงานได้อย่างอิสระจริงหรือไม่?
“ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่มูลนิธิเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง คือการที่ประชาชนต้องเดือดร้อน บาดเจ็บ เสียชีวิต ออกไปทำมาหากินไม่ได้ ค่าชดเชยเยียวยาก็เพียงหลักหมื่นถึงหลักแสน หน่วยงานท้องถิ่นที่พยายามเข้าช่วยแก้ปัญหาก็ทำอะไรไม่ได้มาก หรือเพราะอำนาจสั่งการและงบประมาณถูกเอาไปสร้างผลงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในมูลนิธิพวกนี้ ศพที่ตายล่าสุดอาทิตย์ที่แล้วเกิดขึ้นที่วังจันทร์ เขตเลือกตั้งของผม ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ศพต่อไปจะเกิดขึ้นที่ไหนอีก?” ชุติพงศ์กล่าว
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post