Digiqole ad

หลักฐานชัด! ตัวแทนคนพื้นที่ร้อง ‘กรมทางหลวง’ เร่งตรวจสอบโซนภาคตะวันออก ทุนจีนตั้งโรงงานยึดหัวหาด ต้นเหตุ ‘รถบรรทุกน้ำหนักเกิน’ ทำฝุ่นคลุ้ง ถนนพัง

 หลักฐานชัด! ตัวแทนคนพื้นที่ร้อง ‘กรมทางหลวง’ เร่งตรวจสอบโซนภาคตะวันออก ทุนจีนตั้งโรงงานยึดหัวหาด ต้นเหตุ ‘รถบรรทุกน้ำหนักเกิน’ ทำฝุ่นคลุ้ง ถนนพัง
Social sharing
Digiqole ad

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากปัญหารถบรรทุกที่แบกน้ำหนักเกิน ซึ่งอาศัยอยู่โซนภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และระยอง เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมทางหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ณ สำนักงานควบคุมน้ำหนักและยานพาหนะ กรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา

หนึ่งในตัวแทนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับปัญหาความเดือดร้อน กล่าวว่า “จากประเด็นที่สื่อมีการนำเสนอข่าว โดย นายโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ สส. พรรคก้าวไกล ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแปะสติ๊กเกอร์รูปแบบต่างๆ เพื่อให้รอดพ้นจากด่านตรวจ ด่านชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะรถบรรทุกที่กระทำความผิด บรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการของการเรียกเก็บ “ส่วยทางหลวง” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นประเพณีการรับส่วยที่มีการเคลียร์เส้นทางกันมานานแล้ว ทั้งรถสิบล้อ พ่วงแม่ลูกดั้ม และลามไปยังรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์

โดยส่วนใหญ่จะบรรทุกสินค้าเกษตรจำพวก ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง เป็นการขนส่งที่บรรทุกน้ำหนักเกินเพื่อให้ได้น้ำหนักสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เศษโลหะ สายไฟ และมอเตอร์ เพื่อประหยัดเวลาในการขนถ่ายสินค้า จนลืมไปว่าสินค้าประเภทนี้เมื่อบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 20-26 ตัน (ยังไม่รวมน้ำหนักตู้อีก 2.5 ตัน) ยิ่งบรรทุกพ่วงแม่ลูกทำให้น้ำหนักเพิ่มคูณสองเป็น 55-60 ตัน (ยังไม่รวมน้ำหนักตัวรถ) ทำให้มีน้ำหนักต่อเที่ยววิ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มาก ซึ่งเป็นการกระทำของกลุ่มคนที่คิดแต่หาประโยชน์ใส่ตัวเอง

การบรรทุกเกินน้ำหนักที่กำหนดไว้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น ทำให้ถนนที่รถบรรทุกหนักวิ่งผ่านพังได้ง่าย ทรุดโทรมเร็ว เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และมลพิษทางฝุ่นยังส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพของคนที่อยู่ในพื้นที่

วันนี้เรามีเอกสารหลักฐานทั้งภาพถ่าย และการระบุพิกัดสถานที่บริเวณเส้นทางที่เกิดเหตุและเป็นปัญหา เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเร่งลงพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ โดยสามารถพบเห็นรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เดินทางออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังโรงงานของบริษัทเอกชนหลายแห่งแถบภาคตะวันออก ทั้งพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และระยอง โดยเฉพาะโรงงานของกลุ่มคนจีนที่มาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยตามพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและตะเข็บรอยต่อของจังหวัดเหล่านี้

หากเจ้าหน้าที่รัฐมีการเอาผิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ควรส่งสายตรวจเข้าพื้นที่ไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน เพราะหากใช้วิธีการตั้งด่าน รถบรรทุกเหล่านี้ก็จะส่งข่าวบอกต่อกันเป็นทอดๆ และหาวิธีหลีกเลี่ยงด้วยการหาที่จอดในพื้นที่ของเอกชนเพื่อป้องกันการถูกจับกุมบนเส้นทางหรือถนนหลวง อีกทั้งคงต้องกำชับไปยังหน่วยงานกรมทางหลวง ขนส่ง และตำรวจในพื้นที่ให้เข้มงวดกวดขันจึงจะเห็นผล”

ทีมเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณตัวแทนประชาชนในพื้นที่ที่เดินทางมาให้ข้อมูลกับกรมทางหลวงเพื่อชี้แจ้งข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทราบ เพื่อที่กรมทางหลวงจะได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ โดยกระบวนการทำงานเมื่อทางเราได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว ก่อนอื่นจะต้องเช็คว่า พื้นที่ที่มีปัญหามีเจ้าหน้าที่ตรงจุดที่รับผิดชอบหรือด่านถาวรหรือไม่ ถ้าไม่มีหรือเป็นเส้นทางที่มีระยะห่างเกินไป เราจะมีชุดตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) เข้าไปตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิดอย่างที่ร้องเรียนหรือเปล่า โดยจะมีชุดหน่วยงานเฉพาะกิจเดินทางเข้าพื้นที่ไปก่อน เพื่อไปสืบหาข้อมูลเรื่องที่เกิดขึ้นว่ามีจริงหรือไม่ จากนั้นชุด Spot Check จะตามเข้าไปบริการ เมื่อเจอรถบรรทุกที่ทำน้ำหนักเกิน เราจะจับและประสานเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่สำคัญ กรมทางหลวงอยากขอความร่วมมือจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากปัญหารถบรรทุกที่ทำหนักเกินและวิ่งตามท้องถนน ให้ส่งเรื่องร้องเรียนกันเข้ามาเพื่อที่จะได้ทราบพิกัดที่ชัดเจนแน่นอน เพราะด่านของกรมทางหลวงมีอยู่ทั่วประเทศก็จริง แต่ยังมีเส้นทางบางจุดที่เข้าไปควบคุมไม่ถึง ทำให้มีการแอบลักลอบวิ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายได้

กรมทางหลวงมีความยินดีที่จะให้บริกรประชาชน และพร้อมดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว หากประชาชนได้รับความเดือดร้อน ขอให้เราเป็นส่วนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือ”

ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือสงสัยว่ามีการบรรทุกน้ำหนักเกิน สามารถโทรแจ้งที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 กด 5 โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม. เพื่อเป็นการร่วมกันช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนและประหยัดงบประมาณซ่อมบำรุงถนนของประเทศ และลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดกับโครงสร้างสะพานและทางลอด รวมถึงลดการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงอีกด้วย

Facebook Comments

Related post