Digiqole ad

“หมอเอก” ข้องใจกฎหมายคุมยาสูบ เผยคณะอนุฯ กมธ. ชงคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เล็งหารายได้ภาษีเพิ่มและปิดทางเข้าถึงเยาวชน

 “หมอเอก” ข้องใจกฎหมายคุมยาสูบ เผยคณะอนุฯ กมธ. ชงคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เล็งหารายได้ภาษีเพิ่มและปิดทางเข้าถึงเยาวชน
Social sharing

Digiqole ad

“หมอเอก” แฉปัญหาคุมยาสูบ เครือข่ายรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่แฝงนั่งกรรมาธิการทุกโต๊ะ ตั้งข้อสังเกตุถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ประกาศเดินหน้าดันบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายตามมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข หลังเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมประชุมทำรายงานส่วนได้ส่วนเสียส่งเสนอรัฐ พร้อมโปรยยาหอมถ้าถูกกฎหมายรัฐได้ประโยชน์เต็มๆ จากตลาดบุหรี่ไฟฟ้า 2 หมื่นล้าน และแก้ปัญหาการเข้าถึงของเยาวชน

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ (หมอเอก) ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า ปัญหาการควบคุมยาสูบในประเทศในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากกลุ่มคนที่มีเครือข่ายผลประโยชน์เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่ง เริ่มต้นจากการเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายคุมยาสูบในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อร่างกฎหมายเสร็จ ก็ส่งต่อไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยนั้น หลังจากนั้นสภาก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ซึ่งคนกลุ่มเดิมก็ได้เข้ามานั่งพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ซึ่งถือเป็น conflict of interest อย่างหนึ่ง เพราะคนกลุ่มนี้ใช้อำนาจที่มีผลักดันและผ่านร่างกฎหมายที่ตนเองเป็นผู้เสนอเอง

“เมื่อกฎหมายผ่าน สนช. สิ่งที่เจอ คือ คนกลุ่มนี้ก็ได้เข้าไปนั่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในกฎหมายนี้ เมื่อได้นั่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิแล้วก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น 1.มีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางและนโยบาย และเมื่อได้กำหนดทิศทางที่ตัวเองต้องการได้แล้วก็ไปนั่งเป็น NGO ไปนั่งเป็นประธานมูลนิธิ นั่งเป็นเครือข่าย เมื่อได้สิทธิ์ในการกำหนดทิศทางก็จะกำหนดงบประมาณไปที่ NGO เรียกได้ว่าเป็นการยกเอง ชงเอง และกินเอง ซึ่งข้อมูลตรงนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังไม่ได้ตอบคำถามกับกรรมาธิการ ว่าคนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง”

เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมา ผู้ทรงคุณวุฒิบางรายที่มีบทบาททับซ้อนเหล่านี้เคยได้ไปร่วมคณะผู้แทนไทยในการประชุมยาสูบระดับโลกหลายครั้ง อาทิ การประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ พร้อมทั้งนำเสนอนโยบายและเห็นชอบเอกสารต่างๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งที่ควรจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขและทบทวนองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทยก่อนการไปเข้าร่วมประชุมภาคีสมาชิกครั้งที่ 10 (COP10) ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้

หมอเอกกล่าวต่ออีกว่า “นอกจากนี้ ยังมีการใช้มีการใช้กฎหมายมาเล่นงานกับกลุ่มคนที่เห็นต่าง คนกลุ่มนี้พอเข้าไปนั่งเป็นอนุกรรมาธิการกฎหมายของคณะกรรมการควบคุมยาสูบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้กลุ่มคนที่เห็นต่างอย่างเช่น สื่อมวลชน ถูกดำเนินคดี ทางกฎหมาย เช่นเดียวกับแพทย์หลายคน ที่ถูกร้องเรียนไปยังแพทย์สภา”

สำหรับความคืบหน้าการทำรายงานบุหรี่ไฟฟ้าของคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) นั้น ขณะนี้รายงานดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อย ภายหลังจากมีการศึกษาอย่างรอบด้านด้วยการเชิญบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเช่น ชาวไร่ยาสูบ ผู้สูบบุหรี่ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ประชาชนที่เคยโดนจับกุมจากการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มสื่อมวลชนที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาสูบอย่างไม่เป็นธรรม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน นักวิชาการจากต่างประเทศ ผู้ที่ทำงานต่อต้านยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า นักวิชาการต่อต้านยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า เข้ามาร่วมให้ข้อมูล
ทั้งนี้ การทำรายงานผ่านกระบวนการประชุของ กมธ. ดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดกว้างให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านการบริโภคยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาร่วมประชุม ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปในที่ประชุม กมธ. ได้มีการทำสรุปและจัดทำเป็นรูปเล่ม ส่งต่อไปยังกรรมาธิการสาธารณสุขเพื่อรับรอง และตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง ณ วันนี้คณะกรรมาธิการสาธารณสุขที่มีตัวแทนจากภาคการเมืองจากหลายพรรคมีมติเห็นชอบรายงานฉบับนี้ เพื่อนำเข้าสู่ของระบบรัฐสภา และเผยแพร่ให้กับประชาชนผ่านสื่อออนไลน์

ส่วนข้อสรุปของผลการประชุมมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ 1.จุดเริ่มต้นของการศึกษาการควบคุมยาสูบในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบได้อย่างที่ต้องการ ตามแผนปี 2557 และปี 2562 ที่ต้องการจะลดจำนวนผู้สูบให้ได้ประมาณ 16% จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยที่มีประมาณ 10 ล้านคน หรือประมาณ 18-20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นอย่างนี้มาประมาณ 10-20 ปีได้แล้ว

​นอกจากนี้ ถ้าไปดูข้อมูลในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และนิวซีแลนด์ จะพบว่า ถ้ามีเครื่องมือใหม่ๆ ที่อันตรายน้อยกว่า เข้ามาช่วยจะสามารถช่วยลดลดอันตรายการการสูบบุหรี่และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้ ตามหลักการที่เรียกว่า Tobacco Harm Reduction (THR) ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ได้มีการนำมาใช้แล้ว คือ บุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลวิชาการในต่างประเทศระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่มวนได้ดีว่าการใช้แผ่นนิโคติน และดีกว่ายาที่ใช้แบบดั้งเดิม ซึ่งหากมีการติดตามผลต่อไปอีก 6 เดือนจะพบว่า คนที่ใช้วิธีเลิกบุหรี่มวนด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพียง 50% ที่ยังสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ ส่วนอีก 50% สามารถเลิกบุหรี่ได้ทั้งหมด จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้หลายประเทศมีจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ลดลงเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ​ข้อมูลที่ 2 ที่ได้จากการประชุม คือ มีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้านอกจากทำให้เลิกบุหรี่มวนได้แล้ว ยังมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน และข้อมูลที่ 3 การเข้าถึงของเยาวชนถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ทำให้ทุกวันนี้การแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเหมือนการเปิดเสรีบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งปัจจัยนื้จะทำให้เด็กเยาวชนอายุ 10- 12 ปีขึ้น ไปซื้อบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรีถือเป็นเรื่องที่อันตราย

นพ.เอกภพ กล่าวด้วยว่า ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยเกี่ยวกับการทำเรื่องนี้ให้ถูกกฎหมายก็มีแค่ 2 เรื่องที่ต้องทำเท่านั้น คือ 1.ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้า 2. ยกเลิกประกาศคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการห้ามขาย ห้ามให้บริการ ถ้าทำได้ตาม 2 ข้อนี้ บุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถขายได้ นำเข้าได้ และทำให้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการควบคุมตาม พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบปี 2560 ซึ่งตรงนี้จะทำให้รู้ได้เลยว่าเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีห้ามซื้อบุหรี่ไฟฟ้า

“ถ้าทำตรงนี้ได้จะทำให้ควบคุมพฤติกรรมเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สูบบุหรี่ตามท้องถนนได้ ด้วยการเอาผู้ปกครองมารับทราบ ขณะเดียวกันครูในโรงเรียนก็สามารถจัดการเด็กที่สูบบุหรี่ได้เหมือนกับบุหรี่ แต่ทุกวันนี้มีแต่การแบน ดังนั้น ควรทำทุกอย่างให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย เพื่อทำให้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการตรวจสอบคุณภาพ มีมาตรฐาน และให้คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานทั้งน้ำยาและเครื่องมือ” นพ.เอกภาพกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่ดีที่สุดที่ภาครัฐจะได้รับ คือ รายได้ของประเทศ จากผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า ปัจจุบันตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ถ้าทำให้ถูกกฎหมายสรรพสามิตจะสามารถเก็บรายได้เข้าประเทศ เพื่อให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดมีรายได้ต่อปีเหลือเพียง 200-300 ล้านบาทเท่านั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ชาวไร่ยาสูบที่โดนลดโควตาจากเดิมเคยได้โควต้า 100% ปัจจุบันปรับลดลงเหลือ 25% เท่านั้น ดังนั้น ถ้ามีบุหรี่ไฟฟ้า หรือมีผลิตภัณฑ์บุหรี่ใหม่ๆ เข้ามา และโรงงานยาสูบสามารถผลิตได้ การรับยาสูบหรือใบยาสูบก็จะเข้ามาช่วยเสริมบุหรี่มวน ถือเป็นการได้ประโยชน์ทุกฝ่าย

ขณะนี้คณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้มีหนังสือนำส่งรายงานฉบับดังกล่าวไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว และเป็นที่สังเกตว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในเพียง 30 กว่าประเทศที่ยังมีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและประเทศเหล่านี้เช่น อินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ต่างประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าและใช้บุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post