Digiqole ad

ส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยพายุฤดูร้อน รัฐต้องเยียวยาประชาชน-เกษตรกรอย่างเร่งด่วน ด้วยเงินชดเชยที่สมเหตุสมผล

 ส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยพายุฤดูร้อน รัฐต้องเยียวยาประชาชน-เกษตรกรอย่างเร่งด่วน ด้วยเงินชดเชยที่สมเหตุสมผล
Social sharing

Digiqole ad
ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ทีม สส.ก้าวไกลจากภาคเหนือตอนล่างร่วมลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น เยี่ยมเยียน และให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยพายุฤดูร้อนพัดถล่ม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทั้งบ้านเรือน สวนเกษตร และโรงพยาบาล
.
โดยในวันอังคารถึงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (7-9 พ.ค.) สส.ก้าวไกล นำโดย กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สส.นครสวรรค์ เขต 1, ศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สส.พิษณุโลก เขต 5, คริษฐ์ ปานเนียม สส.ตาก เขต 1, และศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ ลงพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอลับแล และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนมากกว่า 6,000 หลังคาเรือน หลายรายบ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก หลังคาและผนังบ้านปลิวหายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ต้องไปอาศัยนอนที่บ้านญาติ
นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรสวนทุเรียนที่เพิ่งติดผล และมีความหวังว่าจะเก็บขายได้ในฤดูนี้ แต่ก็ต้องมาสูญเสียรายได้ไปจากพายุฤดูร้อน โดยพื้นที่ความเสียหายโดยรวมมีมากกว่า 500 ไร่ ยังไม่รวมผลไม้ชนิดอื่นๆ
.
เกษตรกรมีความเป็นห่วงในเรื่องของเงินชดเชยจากเหตุภัยพิบัติ โดยให้ข้อมูลว่า การเยียวยาของภาครัฐจะคิดค่าความเสียหายเป็นรายแปลง และคิดขั้นต่ำเป็นไร่ แต่มีข้อแม้ว่าใน 1 ไร่ต้องมีทุเรียนเสียหายอย่างน้อย 25 ต้น ซึ่งเกษตรกรบางรายได้รับความเสียหายไม่ถึง 25 ต้น จึงไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยา อีกทั้งพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกพืชทุกชนิดยังสะท้อนความทุกข์ร้อนตรงกันว่า พวกเขาได้รับเงินเยียวยาและความช่วยเหลือน้อยมากเมื่อเทียบกับความบกพร่องของการบริหารจัดการภัยพิบัติของภาครัฐ เช่น ข้าว ชดเชยไร่ละ 1,340 บาท พืชผัก-พืชไร่ ชดเชยไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลยืนต้น ชดเชยไร่ละ 4,048 บาท ส่วนกรณีที่ทำกินเสียหาย ชดเชยไร่ละ 7,000 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 5-10% เท่านั้นจากมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และในความเป็นจริงแล้ว พืชสวนแต่ละประเภทมีมูลค่าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจึงยื่นหนังสือผ่าน สส.ก้าวไกลไปถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขอให้ช่วยผลักดันแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น โดยรัฐควรจ่ายชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ทั้งบ้านเรือนและสวนเกษตร ขณะเดียวกัน บ้านหรือเพิงพักที่ไม่มีบ้านเลขที่ก็ควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วยเช่นกัน
.
ในด้านระบบสาธารณสุข โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ก็ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนอย่างหนัก ประตูกระจกฝั่งห้องพักผู้ป่วยบริเวณชั้น 6-7 พังจากลมกรรโชกแรง เคราะห์ดีที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ โดย สส.ก้าวไกลได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ป่วย ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝาก สส.ก้าวไกลให้ช่วยผลักดันการยกระดับบริการสาธารณสุข ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์ให้เพิ่มขึ้นด้วย
ต่อมาในวันศุกร์ (10 พ.ค.) ศนิวาร ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ลงพื้นที่ต่อเนื่องไปยังอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยเข้าเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจประชาชนที่ชุมชนสะบู ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนอย่างหนักในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พร้อมรับฟังรายงานจากผู้นำชุมชน ซึ่งได้ข้อมูลว่าท้องถิ่นเข้ามาตรวจสอบความเสียหายหลังเกิดเหตุค่อนข้างรวดเร็ว บางครัวเรือนได้รับเงินชดเชย และทำการฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนเป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่บางครัวเรือนยังไม่ได้รับ และไม่มีการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ถึงกรอบเวลาในการได้รับเงินเยียวยา
⛈️ พายุฤดูร้อนครั้งนี้นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของภาวะโลกรวน ทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับภัยพิบัติที่นับวันจะรุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ
.
นอกจากความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว รัฐควรเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ออกแบบอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับมือภัยพิบัติ พัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีขั้นตอนการเผชิญเหตุและรับมือภัยพิบัติที่รวดเร็วและเป็นระบบ มีศูนย์พักพิงที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาที่ครอบคลุมและทันท่วงที
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post