Digiqole ad

สาดเสียเทเสีย “สงกรานต์” บ้านเฮากระหึ่มโลก (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 ระหว่างวันที่ 8-14 ธ.ค.66)

 สาดเสียเทเสีย “สงกรานต์” บ้านเฮากระหึ่มโลก (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 ระหว่างวันที่ 8-14 ธ.ค.66)
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 ระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคม 2566

หน้า 2-3

สาดเสียเทเสีย

“สงกรานต์” บ้านเฮากระหึ่มโลก

กลายเป็นกระแสดรามาดุเด็ดเผ็ดร้อนกันทั้งประเทศ  เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นำการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ครั้งที่ 2 ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดทำแผนงาน งบประมาณ และกำหนดทิศทางการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ โดยหนึ่งในวาระการประชุมคือ

            “…ในเดือนเมษายนปีหน้า คณะกรรมการเฟสติวัลเสนอให้มีการผลักดันงานสงกรานต์ไทยไปไกลระดับโลก ‘World Water Festival – The Songkran Phenomenon’ โดยจัดงานสงกรานต์ตลอดเดือนเมษายนและโปรโมตการท่องเที่ยวสงกรานต์ไทยทั้ง 77 จังหวัด ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ 35 ล้านคนและสร้างรายได้ 40,000 ล้านบาทที่จะกระจายไปในทุกจังหวัด อีกทั้ง การจัด World Water Festival ในครั้งนี้จะนำไปสู่การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (IP) งานเทศกาลของโลก และผลักดันให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก…”

 

            ซึ่งอีกไม่กี่วันต่อมา วันที่ 6 ธันวาคม 2566 “องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ”  หรือ“ยูเนสโก”  (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานานเรื่อง

            ปฐมบทสงกรานต์สู่สงครามดรามา

            เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า

 “แผนงานปีหน้า เริ่มแล้วค่ะ ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เมื่อวานนี้ ทั้ง 12 คณะ จาก 11 อุตสาหกรรม ได้เสนองบประมาณเพื่อเตรียมดำเนินการในปีหน้า โดยหลังจากนี้เราจะเสนองบประมาณตามลำดับขั้นตอนต่อไป และอีกหนึ่งเรื่องใหญ่และน่าตื่นเต้น คือแผนงานใหญ่ปีหน้า วันสงกรานต์จะไม่ใช่แค่เทศกาลแบบในอดีตที่ผ่านมา แต่เราจะจัดงานใหญ่ มหาสงกรานต์ World Water Festival – The Songkran Phenomenon เราจะปักหมุดให้สงกรานต์ในไทยปีหน้า เป็นเทศกาลที่คนทั้งโลกต้องบินมาเล่นที่บ้านเรา และสงกรานต์ปีหน้า เราจะไม่เล่นน้ำแค่ 3 วันนะคะ แต่จะจัดงานกันทั้งเดือน ทยอยจัดกันทั้งประเทศ 77 จังหวัด เตรียมวางแผนกันได้เลยนะคะว่าสัปดาห์ไหนของเดือนเมษายน อยากจะไปเล่นน้ำสงกรานต์กันที่จังหวัดไหนค่ะ…”

ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในขณะที่เดินทางไปจัดงานสัมมนาของพรรคเพื่อไทย ณ โรงแรมเดอะ กรีนเนอร์รี รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมาว่าได้สื่อสารไปในช่องทางเฟซบุ๊ก และเห็นการตีความมาว่าสาดน้ำกันทั้งเดือน ซึ่งส่วนตัวมองว่าคงจะหนาวเหมือนกัน หากสาดน้ำทั้งเดือน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น จะเป็นการจัดกิจกรรม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยวันที่ 13-15 เมษายน  ที่เป็นวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมเหมือนเช่นที่จัดขึ้นทุกปี เพียงแต่การจัดกิจกรรมที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งเดือน เป็นการดึงนักท่องเที่ยว ให้มีจุดเที่ยวในประเทศไทยยาวนานขึ้น อยู่นานขึ้น นั่นคือจุดมุ่งหมาย พร้อมย้ำด้วยว่า การสาดน้ำ 30 วัน คงจะเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้นขอให้ทุกคนไปอ่านให้ดี

            ปีหน้าน้ำแล้งเพราะเอลนีโญ

   รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้แชร์ข่าวและโพสต์เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ถึงเรื่องดังกล่าวสั้น ๆ ว่า

แต่ปีหน้า น้ำแล้ง เพราะเอลนีโญนะครับ”

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎา ยังได้โพสต์อข้อมูลเกี่ยวกับ “พยากรณ์ล่าสุดเดือน สงกรานต์ปีหน้า จะเกิดภาวะเอลนีโญ”โดยระบุว่า รายงานล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ ENSO (El Niño-Southern Oscillation) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดอุณหภูมิสูงขึ้นของ enso และได้เริ่มต้นขึ้น ตลอดจนกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้  ถูกพยากรณ์ว่า จะดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน โดยมีโอกาสสูงถึง 62% ที่จะเกิดภาวะเอลนีโญตลอดช่วงฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ คือระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2567 และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงด้วย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้อุณหภูมิของ ENSO สูงขึ้นอย่างมากเช่นนี้นั้น ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะต้องเกิดผลกระทบระดับโลก อย่างรุนแรงไปด้วย แต่มันเพิ่มโอกาสความเสี่ยงมากขึ้น ที่จะส่งผลกระทบต่อบริเวณที่เคยได้รับผลกระทบเช่นนี้แล้วในอดีต ดังนั้น ถ้าพูดง่ายๆสำหรับคนไทนเรา ก็คือ ในช่วงปีหน้าภาวะแห้งแล้ง ฝนตกน้อย จะยังคงมีต่อไป และทวีความรุนแรงขึ้นสูงในช่วงสงกรานต์ ไปจนถึงช่วงกลางปีหน้า  ขอให้พี่น้องเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งถึงประชาชนทั่วไป เตรียมการในการสำรองน้ำ ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคด้วยนะครับ

เสนอประหยัดน้ำให้ขึ้นค่าน้ำ

ในขณะเดียวกันได้มีผู้เสนอความคิดเห็นว่า เล่นสงกรานต์กันทั้งเดือนจะเป็นการสิ้นเปลืองน้ำ เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนทีไรมักจะมีปัญหาประสบภัยแล้งตลอด โดยควรจะรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำในช่วงสงกรานต์มากกว่า อีกทั้งยังเสนอให้รัฐบาลควรออกมาตรการปรับขึ้นค่าน้ำในอัตราพิเศษในส่วนของน้ำที่ใช้มากกว่าปกติในเดือนเมษายน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนนำน้ำประปามาเล่นสงกรานต์จนมากเกินไป เพื่อให้คนในเมืองมีส่วนร่วมในการลดใช้น้ำ

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้เรียกร้องให้ชาวนาเสียสละ ลดการเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้ง เพื่อลดการใช้น้ำ ดังนั้นคนในเมือง และประชาชนทั่วไปควรจะมีส่วนร่วมในการลดใช้น้ำลงด้วย โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ที่บางแห่งมีการนำน้ำมาเล่นสงกรานต์อย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้นจึงควรให้การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ออกมาตรการเก็บค่าน้ำเพิ่มขึ้นในส่วนมี่ใช้มากกว่าปกติ” อดีตผู้บริหารสมาคมแห่งหนึ่งกล่าว

แจ้งความดำเนินคดี-ติดปัญหาวันหยุด

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

“…ประเพณี หมายถึง สิ่งที่เชื่อถือ และยึดเป็นแนวปฏิบัติสืบต่อกันมาในสังคมหนึ่ง ๆ จนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณีอันดี

การที่มีคนต้นคิดจริตจะเอาประเพณีสงกรานต์มาทำเป็น soft power ให้เล่นประเพณีสงกรานต์ 2567 กันทั้งเดือนนั้น ถ้าเล่นสาดน้ำกันเกินกว่า 3 วัน 5 วัน ผิดไปจากประเพณีปกติ ถือได้ว่าไม่เป็นไปตามปกติประเพณีของสังคมไทย ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายเกินไปกว่าวันที่ยึดถือปฏิบัติกันมานาน สามารถแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องร้องผู้ที่ละเมิดและเอาผิดผู้ที่เป็นต้นคิดแหกกฎประเพณีดังกล่าวได้…ตาม ปอ.มาตรา 83 !!!…”

ขณะที่นักวิชาการจาก TDRI มองว่าการจัดสงกรานต์ตลอดทั้งเดือน ตลาดภายในประเทศอาจจะติดปัญหาเรื่องวันหยุด วันลา น้ำหนักอาจจะไปอยู่ที่ตลาดต่างประเทศที่จะเข้ามาท่องเที่ยว และหากดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้จริง กลุ่มเหล่านี้จะถูกดึงเข้าสู่การสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้ แต่ต้องช่วยกันผลักดันระบบหลังบ้านให้แข็งแรง ถอดบทเรียนจากที่ กทม.เคยจัดงานแฟชั่นโชว์ระดับโลก แต่ไม่ได้มีการสานต่อถึงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยในชุมชน (ที่มา : mono29)

            ปัญหาโรคแฝงมากับการเล่นน้ำ

            อีกหนึ่งปัญหาที่มากับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเล่นสาดน้ำ ซึ่งหากให้จัดสงกรานต์กันทั้งเดือนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคที่มากับน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่ง เเพทย์หญิงกรุณา อธิกิจ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโรคต่าง ๆที่แฝงมากับช่วงเวลาแห่งความสนุกของคุณ อย่างเช่น 5 โรคระบาดหนักท่ามกลางแสงเเดดและน้ำที่ใช้เล่นสงกรานต์มีดังนี้  

            1.โรคอาหารเป็นพิษ โรคท้องร่วง โรคอหิวาตกโรค โรคไวรัสตับอักเสบเอ : เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่อากาศร้อนและแห้งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคโดยเฉพาะแบคทีเรียส่งผลให้อาหารที่ทำออกมารับประทานนั้นอาจบูดเสียได้ง่าย โดยเฉพาะพวกแกงที่มีส่วนผสมของกะทิหรือนมด้วยแล้ว รวมถึงการทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาดปนเปื้อนเชื้อโรค อาจทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน แต่หากมีภาวะขาดน้ำรุนแรงจะทำให้เกิดภาวะช็อค หมดสติ และเสียชีวิตได้

            2.โรคไข้หวัดและปอดอักเสบ : เนื่องจากการเล่นน้ำสงกรานต์ทำให้ร่างกายเปียกชื้นเป็นเวลานาน ยิ่งในต่างจังหวัดมีการเล่นติดต่อกันตั้งแต่เช้าถึงเย็นด้วยแล้ว ควรต้องระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำและในกลุ่มเด็ก ไม่ควรสาดแรงจนเกินไปอาจทำให้สำลักน้ำ จนกลายเป็นที่มาของโรคปอดอักเสบได้ หากรู้สึกมีไข้หรือไม่สบายควรงดเล่นน้ำทันที เพราะจะทำให้อาการยิ่งรุนแรงมากขึ้น

            3.โรคตาแดง : เป็นอีกโรคที่พบบ่อย เมื่อเราเล่นน้ำแล้วน้ำที่ไม่สะอาดที่มีเชื้อโรคปะปน เช่น น้ำในคลอง น้ำบาดาล หากน้ำกระเด็นเข้าตาและมือเราที่ไม่สะอาดอาจไปขยี้ตาก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบบวมแดงขึ้นมาได้ ถ้ามีอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล ปวดตา

            4.โรคผิวหนัง ได้แก่ กลาก เกลื้อน ผดร้อน : มักจะเกิดขึ้นได้ในหน้าร้อน จากการไม่รักษาความสะอาดของผิวหนัง และติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากเล่นน้ำที่ไม่สะอาดก็จะเกิดโรคได้ง่ายมาก จึงควรรักษาความสะอาดร่างกาย ใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาหรือคับจนเกินไป จะมีได้ทั้ง ตุ่มใส ตุ่มแดง ตุ่มหนอง ผื่นวงแดง ผื่นจุดสีขาว คันตามจุดอับชื้น หากมีผื่นที่น่าสงสัยให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

           5.โรคลมแดดหรือ ฮีตสโตรก (Heat Stroke) : เป็นอีกโรคที่คนมักมองข้ามและคิดว่าอาจจะไม่ร้ายแรงมาก แต่แท้จริงแล้วอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว โดยโรคนี้คือการเป็นลมจากอากาศร้อน ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส เกิดได้ในผู้ที่ร่างกายแข็งแรง ยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อนจัดทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเป็นเวลานานๆ ร่างกายปรับตัวไม่ทัน สูญเสียเหงื่อมาก ระดับความเข้มข้นของเลือดและเกลือแร่ในร่างกายเข้มข้นเกินไป อาการเบื้องต้นได้แก่ รู้สึกกระหายน้ำมากๆ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก หมดสติได้ (ที่มา : Mamaexpert Editorial Team)

นอกจากนี้โรคที่น่ากลัวและควรระวังป้องกันคือ โรคโควิดที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง  รวมถึงเชื้อไวรัสตัวใหม่ด้วย

คณะทำงานแจงดรามาสาดกันทั้งเดือน

            แหล่งข่าวภายในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งได้เปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นระบุว่า การจัดงานดังกล่าว ไม่ใช่การจัดกิจกรรมสาดน้ำสงกรานต์ทั้งเดือนตามที่เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่จะเป็นการทยอยจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศทุกจังหวัด และไม่ได้มีแค่การสาดน้ำสงกรานต์เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้งานสงกรานต์ตลอด 1 เดือนนี้ด้วย อาทิ มหกรรมดนตรี มหกรรมทางด้านอาหาร และมหกรรมทางด้านงานศิลปะ รวมถึงมหกรรมทางด้านสายมู และ ด้านวัฒนธรรม ที่จะล้อไปกับ World Water Festival เป็นสงกรานต์ที่ไม่ได้มีแค่การสาดน้ำ

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล ในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรม World Water Festival เพื่อส่งเสริมประเพณีอันงดงามของไทยสู่สายตาชาวโลกให้คนทั่วโลกหันกลับมามองประเทศไทยอีกครั้งผ่านประเพณี วัฒนธรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการจัดให้เป็นระบบร้อยเรียงเป็นเรื่องราว 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอด 365 วัน ในปีหน้าคณะกรรมการฯ ได้มีการจัดเตรียมกิจกรรมไว้กว่า 10,000 กิจกรรม 365 วันทั่วไทย โดยวาระแห่งชาติคือการจัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ World water Festival” ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าแห่งสงกรานต์โลก ที่ไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิ์ได้ โดยจะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ผ่านงานมหาสงกานต์ตลอดเดือนเมษายน โดยมีศูนย์กลางที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร และรวบรวมเรื่องราวทั้ง 77 จังหวัดผ่านขบวนแห่ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวสิ่งสุดยอดในจังหวัดนั้น ๆ ตลอด 3 วัน 3 คืน และจะมีเวทีกิจกรรมโดยรอบ ซึ่งมีเวทีใหญ่ที่สนามหลวง และเวทีย่อยที่ลานคนเมือง และลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ โดยจะมีการออกร้าน และจัดแสดงวัฒนธรรมไทย ซึ่งครอบคลุม 11 ซอฟต์พาวเวอร์

นอกจากนั้น ยังจะมีการแสดงระดับโลก และนักร้อง นักแสดงระดับโลกมาร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่ไทยด้วย โดยจะจัดอย่างครอบคลุมทุกมิติซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพื่อให้คนทั่วโลก นึกถึงสงกรานต์แล้ว จะต้องมาเฉลิมฉลองที่ประเทศไทยเท่านั้น เพื่อมาเล่นน้ำร่วมกันบนถนนราชดำเนิน โดยจะมีการประดับสถานที่ให้สวยงานให้เป็นที่กล่าวขานทั่วโลก และนอกเหนือกรุงเทพมหานครแล้ว ยังจะเลือกจังหวัดจุดเด่นในแต่ละภาค ซึ่งบางจังหวัดจัดกิจกรรมทั้งก่อน และหลัง 13 เมษายน โดยจะจัดกระจายทุกภาคทั่วทั้งเดือน เพราะกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความสนุกสนานไม่เหมือนกัน ดังนั้น นักท่องเที่ยวสามารถเลือกท่องเที่ยวได้ และผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ประชาชนจะมีรายได้ และเกิดการจ้างงานในระดับหมู่บ้านทุกจังหวัด ซึ่งจะมีการจัดอบรมต่อยอดการจัดเฟสติวัล ให้เป็นอาชีพ โดยมีการประเมินว่า รายได้จากการจัดงานดักล่าวเพียงกิจกรรมเดียว จะสะพัดไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการ จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อสรุปกิจกรรมทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม และจะมีการพิจารณางบประมาณทั้งหมดในเดือนมกราคมนี้

ทางด้าน นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติกล่าวเสริมว่า สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้จัดกรรมมหาสงกรานต์นี้ อาจจะต้องขอใช้งบกลาง เพื่อมาดำเนินการในกิจกรรมดังกล่าวบางส่วน เพราะบางงบประมาณแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีงบประมาณอยู่แล้ว และที่ต้องใช้งบกลาง เนื่องจาก งบประมาณปกติ จากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ นั้น สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จในวาระที่ 3 ได้ทันต่อการจัดกิจกรรมมหาสงกรานต์ครั้งนี้ โดยคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ จะมีการสรุปงบประมาณทั้งหมด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป (ที่มา : www.pptvhd36.com)

งานฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ไทย

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวแสดงความยินดี ในงานฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทย “Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (the Intangible Cultural Heritage of Humanity) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO

1. นายกรัฐมนตรี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ สาธารณรัฐบอตสวานา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 โดยปัจจุบันมรดกที่จับต้องไม่ได้ของไทยได้ขึ้นทะเบียนโดย UNESCO มาแล้ว 3 รายการคือ โขน, นวดไทย และโนรา ล่าสุดสงกรานต์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ถือเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่สร้างความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติกับประเทศไทย

2. นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในวาระแห่งการฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์นี้ ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย ประกาศเจตนารมณ์ 3 ข้อ เพื่อการรักษา และสืบทอดประเพณีสงกรานต์ ดังนี้

2.1 ประเทศไทยจะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอด และสร้างสรรค์ ประเพณีสงกรานต์ ให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน

2.2 ประเทศไทยจะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน

2.3 ประเทศไทยจะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้สามารถเข้าถึงประเพณีสงกรานต์ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน และจะร่วมกับชุมชนนานาชาติในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ในทุกที่ ด้วยจิตใจของความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

3. นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาล และประชาชนไทย จะร่วมกันดำเนินการในทุกวิถีทางอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้เจตนารมณ์ทั้ง 3 ข้อ บรรลุผลสัมฤทธิ์ พร้อมจะสนับสนุนให้สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นเทศกาลระดับโลกที่นำพาผู้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศต่อไป

4. นอกจากนี้ รัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมจัดงานเทศกาลสงกรานต์ 2567 อย่างยิ่งใหญ่ตลอดเดือนเมษายน 2567 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากงานสงกรานต์แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่นดนตรี ร้านอาหาร ศิลปะ รวมถึงมหกรรมด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้สงกรานต์ไม่ได้มีแค่การสาดน้ำเท่านั้น

5. ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จัดงานฉลองขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์การประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยของ UNESCO ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง โดยภายในงานยังมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวซูฮย็อน คิม (Ms. Soohyun Kim) ผู้อำนวยการสำนักงาน UNESCO กรุงเทพมหานคร พร้อมคณะทูตานุทูต รวมถึง นางสาวแอนโทเนีย โพซิ้ว รองชนะเลิศอันดับหนึ่งนางงามจักรวาล 2023 และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานฉลองครั้งนี้ด้วย (ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/75830)

            เก็บตก 4 เหตุผลยูเนสโกหนุนสงกรานต์ไทย

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์เผยถึง 4 เหตุผลหลักที่ทำให้ สงกรานต์ในประเทศไทย เอาชนะใจคณะกรรมการจากประเทศต่าง ๆทั่วโลกร่วมรับรองผลให้ประเทศไทยในการประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

1.สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่ราศีหนึ่ง ช่วงเวลา สงกรานต์ของไทย เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ดังนั้น จึงเป็นประเพณีการฉลองขึ้นปีใหม่ ตามสุริยคติ โดยทั่วไปมีกำหนด 3 วัน คือ วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์

2.ประเพณีเทศกาลสงกรานต์ของไทย มีกิจกรรมที่ยึดถือแนวปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน แตกต่างกัน ตามความเชื่อและแนวปฏิบัติของคนไทยแต่ละภูมิภาค ทั้ง การชำระล้างความสกปรกและ ขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป ได้แก่ การทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนสาธารณสมบัติ ในบางถิ่นมีการ อาบนํ้าสระผมในลักษณะเป็นพิธีกรรม มีการนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดมนต์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเกิดสิริมงคล การไปวัดเพื่อ แสดงคารวะต่อพระรัตนตรัย และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว การแสดงคารวะหรือ ขออโหสิกรรม จากผู้อาวุโส หรือผู้มีพระคุณด้วยการมอบดอกไม้ เสื้อผ้าและนํ้าหอม รวมทั้งการแสดงความปรารถนาดีต่อกันด้วย

3.สงกรานต์ ถือเป็นประเพณีที่งดงามมีคุณค่า สะท้อนถึงความเป็นไทย เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจและ สิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสของการแสดงความกตัญญูและความปรารถนาดีต่อผู้มีพระคุณ การแสดงความเอื้ออาทรต่อ ครอบครัว ญาติมิตรและชุมชน

4.สงกรานต์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ และองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี พ.ศ. 2566

ภาพ : อินเทอร์เน็ต,กระทรวงการต่างประเทศ

 

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 ระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคม 2566

หน้า 2-3

สาดเสียเทเสีย

“สงกรานต์” บ้านเฮากระหึ่มโลก

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 ระหว่างวัยที่ 8-14 ธันวาคม 2566

https://book.bangkok-today.com/books/nlnh/index.html#p=1
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post