Digiqole ad

สองทศวรรษปัญหา“ทับลาน” กรมอุทยานฯร้อนก้นเจอม.157

 สองทศวรรษปัญหา“ทับลาน” กรมอุทยานฯร้อนก้นเจอม.157
Social sharing

Digiqole ad

          ตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็น “มือปราบตำรวจเลว” ได้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังมีขบวนการทุจริตที่จะปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่มีพื้นที่เชื่อมโยงเขตจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครราชสีมาให้มีขนาดเล็กลง  ซึ่งจะมีผลให้รีสอร์ท  บ้านพักตากอากาศ  สวนเกษตรและผู้ที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานรวมกว่า 400 คดี มีโอกาสพ้นผิดและจะได้ครอบครองที่ดิน   

          ขณะที่นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคโอกาสไทย  อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ที่สังคมยอมรับว่า “มือสะอาด” ให้ข้อมูลสนับสนุนนายชูวิทย์ว่า   ที่ผ่านมาพอรู้ว่ามีความพยายามดำเนินการเรื่องนี้ โดยผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ซึ่งดูจะเร่งรีบนำเข้าสู่การพิจารณาจนผิดสังเกตุ และอาจจะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น

          แม้นายชูวิทย์จะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการฉะแฉและกระชากหน้ากากผู้ร้ายในเครื่องแบบตำรวจจนหลุดจากตำแหน่งมาแล้วหลายราย  แม้นายดำรงค์จะมีผลงานโดดเด่นในช่วงรับราชการที่แสดงความกล้าหาญเข้าหยุดยั้งและปราบปรามการบุกรุกของบรรดานายทุนที่แห่เข้าไปซื้อที่ดิน  แห่สร้างบ้านพัก รีสอร์ท ในเขตอุทยานฯทับลาน  

          แต่เหรียญไม่ได้มีด้านเดียว  ก่อนจะตัดสินปัจจุบันจำเป็นต้องย้อนดูข้อมูลความเป็นมาในอดีต  โดยเฉพาะปัญหาของทับลานนั้นได้ถูกหมักหมมมายาวนานกว่า 20 ปี

          ย้อนกลับไปในช่วงปี 2518 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์อินโดจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็ว   เวียดนามแตก กัมพูชาแตก ลาวแตก  ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วยการสนับสนุนจากภายนอกได้เริ่มเปิดยุทธการปลดปล่อยภาคอีสานของไทยจากราชอาณาจักร  ซึ่งการสู้รบด้วยกำลังอาวุธและการข่มขู่คุกคามของคอมมิวนิสต์มีผลให้ราษฎรในหลายพื้นที่ต้องอพยพหลบภัยละทิ้งถิ่นฐานเดิม   กลายเป็นคนไร้บ้านไร้ที่ทำกินไร้อนาคต

          สถานการณ์ในขณะนั้นความได้ทรงทราบถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ  ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของพสกนิกร  ทรงแนะนำวิธีการพัฒนาแนวใหม่เป็นโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จผสมผสานสมบูรณ์แบบ  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการระดมทรัพยากรผนึกกำลังปฏิบัติงานในพื้นที่ภายใต้เป้าหมายแผนงานเดียวกัน  อันเป็นที่มาของ แผนพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตกองทัพภาคที่ 2

         ช่วงปลายปี 2520 ถึงต้นปี 2521 เกิดโครงการหมู่บ้านไทยสามัคคี  ที่เริ่มอพยพราษฎรจากหมู่บ้านล่อแหลมในเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์(ผ.ก.ค.) เพื่อให้การสงเคราะห์ พัฒนาอาชีพ และการศึกษา

           ปี 2521 คณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคง  ด้วยความเห็นชอบของ กองทัพภาคที่ 2 และ กอ.รมน.เขต 2  ให้มีโครงการจัดที่ดินหมู่บ้านตัวอย่างในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพ.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 7,624.8 ไร่ รวมอยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติวังน้ำเขียว  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติพื้นที่นี้ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(...) ใช้ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน  จัดสรรให้ราษฎรผู้อพยพจากการขยายอิทธิพลของผ...ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี          

          หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น  ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณกิ่งอำเภอนาดี  อำเภอกบินทร์บุรี  อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี  เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี 2518  และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณอำเภอเมือง อำเภอปักธงชัย  อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา  เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี 2521  มีผลให้พื้นที่บริเวณตำบลไทยสามัคคี และตำบลวังน้ำเขียวในปัจจุบันอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน

            ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2524 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินให้เป็น “อุทยานแห่งชาติทับลาน” โดยมีเขตทับซ้อนโครงการหมู่บ้านไทยสามัคคี  โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่รอยต่อ อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา  และที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมก่อยมีพระราชกฤษฎีกา  เนื่องจากมีการให้ให้สัมปทานป่าไม้ในปี 2516 และ 2517 ซึ่งไม่ได้มีการสำรวจรังวัดและปักหลักแนวเขตอุทยานฯก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยานฯ

           แม้ต่อมาจะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 อนุมัติตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่ เสนอขออนุมัติดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และการพิจารณาปรับแนวเขต อุทยานแห่งชาติทับลาน ให้เป็นไปตามสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม    และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมป่าไม้) เร่งรัดจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว

          อย่างไรก็ตามกรมอุทยานแห่งชาติฯก็ยังทำงานอย่างเชื่องช้า  ประกอบกับมีการเปลี่ยนรัฐบาล  มีการเปลี่ยนเปลี่ยนตัวผู้บริหาร  คนมาใหม่ไม่รู้รายละเอียด  จนถึงปี 2555 อธิบดีกรมอุทยานฯในขณะนั้นได้เปิดยุทธการกวาดล้างจับกุมทุบ ทำลาย รื้อรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศในพื้นที่ทับลานครั้งใหญ่ด้วยข้อหาบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ  มีการฟ้องร้องดำเนินคดีรวมกว่า 400 ราย            

          ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนี้แหล่งข่าวระดับสูงในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาคิ (คทช.) เปิดเผยว่า  คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯทับลานหลายครั้งแต่คณะกรรมการอุทยานฯไม่เร่งดำเนินการ  เหตุที่บางคนไม่อยากแก้เพราะอยากมีอำนาจครอบเอาไว้เพื่อหาผลประโยชน์  ดังเช่นการปรากฏข่าวว่ามีการเรียกรับเงินคนที่อยู่หรือนายทุนที่เข้าไปลงทุนปลูกรีสอร์ท ทำบ้านพักตากอากาศ   

          “ตอนนี้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯกลัวว่าถ้าชาวบ้านเป็นฝ่ายถูกก็จะถูกฟ้องกลับ  เลยมีการปล่อยข่าวเพื่อสร้างกระแสกลบความผิดพลาดในอดีต  ต้องการให้มีการต่อต้านการแก้ไขแนวเขตอุทยานฯ  คนทั่วไปที่ไม่รู้ที่มาที่ไปย่อมหลงเชื่อว่านักการเมืองกำลังเข้ามาแทรกแซงข้าราชการ  แต่ความจริงคือข้าราชการบางคนบางส่วนดื้อแพ่งต่อนโยบายรัฐ  ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังจะเล่นงานด้วย มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

          แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่าเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการประชุมที่ สคทช. โดยเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม  ซึ่งผู้แทนกรมอุทยานฯยอมรับว่าต้องปรับปรุงแนวเขต  แต่ขอให้ช่วยเรื่องคดีความของเจ้าหน้าที่อุทยานฯหากถูกฟ้องกลับ  ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าหากปฏิบัติโดยชอบกฎหมายก็ย่อมคุ้มครอง  แต่การที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯจับชาวบ้านฟ้องเป็นคดี  แล้วบอกให้ดำเนินคดีชาวบ้านต่อไปแต่ขอให้คุ้มครองเจ้าหน้าที่ก็ถือว่าไม่ยุติธรรม  ทางออกคือให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย

          “ช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองที่ดินมามาก  พวกที่เข้าไปสร้างรีสอร์ทยังไงก็ผิด  อันนั้นต้องว่าไปตามกฎหมาย  ถ้าอยู่ในเขตของกรมป่าไม้  หรือส.ป.ก.ก็ว่าไปตามกฎหมายนั้น  ต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน”แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด  

          อนึ่ง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเคยมีคำวินิจฉัยว่า  แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 ยังอยู่  แต่เมื่อปี 2543 กรมป่าไม้ได้มีการปักปันแนวเขตใหม่แล้วแต่ไม่ดำเนินให้เรียบร้อยจนมาสะดุดในปี 2545 ที่มีการเปลี่ยนแปลงกระทรวง ทบวง กรม  โดยกรมอุทยานฯ กับ กรมป่าไม้ แยกไปอยู่คนละกระทรวง  งานที่ควรจะจบเมื่อ20ปีก่อนเลยค้างคามาจนถึงปัจจุบัน   หากยังยืดเยื้อไม่เพียงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้  แต่ยังมีอีกกว่า 3,000 ครอบครัวที่จะต้องถูกดำเนินคดีอีกด้วย

Facebook Comments


Social sharing

Related post