Digiqole ad

สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559

 สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559
Social sharing

Digiqole ad
สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. … นำโดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายว่าคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ดังกล่าวเป็นปัญหาข้อขัดข้องในการบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ และทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ลดลง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหา จึงสมควรต้องยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้คณะที่ปรึกษาการบริหารฯ ตามคำสั่ง คสช. สิ้นสุดลง และให้บทบัญญัติเกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาการบริหารฯ ได้กลับมามีผลบังคับใช้ต่อไป
.
[คำสั่ง คสช. 14/2559 สร้างความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้]
.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า ใน พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มีมาตราหนึ่งที่มีความสำคัญคือ มาตรา 19 กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คำปรึกษา ศอ.บต. แต่ต่อมามีการใช้มาตรา 44 ของผู้นำคสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เพื่องดใช้มาตราที่ 19 พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีอยู่นั้น
.
นายชูศักดิ์ กล่าวว่าการคัดเลือกคณะกรรมการฯ ในลักษณะนี้เป็นการดึงอำนาจการตัดสินใจไว้กับส่วนกลาง ต่างจากสภาที่ปรึกษาฯ ตามมาตราที่ 19 ผลจากการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ แทนสภาที่ปรึกษาฯ ทำให้การบริหารจังหวัดชายแดนใต้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะขาดการมีส่วนร่วมของของประชาชนที่ทุกกลุ่มทุกระดับ และยิ่งเพิ่มปัญหาความขัดแย้งมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จนถึงในรัฐบาลปัจจุบัน พี่น้องประชาชนในพื้นที่ก็ยังมีความเห็น และเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งนี้ รวมถึงร่างกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้ล้วนนี้จุดประสงค์เดียวกันคือควรยกเลิกเสียและกลับไปใช้กฎหมายเดิม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป มุ่งไปสู่สันติสุข
.
[สภาฯ ต้องไม่ยอมรับการรัฐประหาร]
.
“สภาฯ ควรตระหนักอย่างจริงจังเสียทีว่า ถ้ามีการยึดอำนาจและมีการออกประกาศหรือคำสั่ง เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 14/2559 ใช้เวลาออกกฎหมายแค่ 1 วัน และศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่าผู้ยึดอำนาจเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ และรับรองคำสั่งประกาศให้ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อเราเห็นว่าเมื่อคำสั่งหรือประกาศดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ ต้องการยกเลิก แต่เราต้องมาเสนอแก้ไขเป็นร่างพระราชบัญญัติ ต้องพิจารณา 3 วาระ ต้องผ่าน สว. อีก 3 วาระใช้เวลา 6 เดือนหรือ 1 ปี จึงเป็นเรื่องที่สภาต้องตระหนักว่าระบบเช่นนี้ต้องหมดสิ้นไป และการที่จะหมดสิ้นไปได้คือทั้งสภาและศาล ต้องไม่ยอมรับการยึดอำนาจ ไม่ยอมรับการรัฐประหาร ไม่ยอมรับคำสั่งประกาศและไม่ร่วมมือด้วย จึงฝากเป็นอุทาหรณ์ให้สภาได้ตระหนักถึงอำนาจหน้าที่ของเรานี้” นายชูศักดิ์ กล่าว
.
[ใช้กำลังแก้ปัญหา ไม่มีทางได้ผล]
.
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ กล่าวสนับสนุนว่าการยกเลิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาที่มีความยึดโยงกับประชาชน และใช้คณะกรรมการมาแทนที่ ใช้ระบบสั่งตรงจากนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นจาก ศอ.อบต. และ กอรมน. นั้น สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจทหารที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา และพบว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด มีแต่การทุ่มเท งบประมาณลงไปแต่ไม่ได้แก้ไข เปรียบเหมือนน้ำเดือด ที่ทหารหรือฝ่ายความมั่นคงใช้ฝาไปปิด แต่ไม่นำฝืนไฟที่เป็นต้นเหตุของน้ำที่เดือดออก แม้ในระยะเวลาอันสั้นจะไม่ทำให้น้ำเดือดจนล้นออกมา แต่น้ำในหม้อหรือปัญหานั้นยังคงเดือดดังเดิมและเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยตรงจึงควรให้ข้าราชการพลเรือนเป็นผู้แก้ไข คืนอำนาจและสิทธิ์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในสภา
.
“การแก้ไขปัญหาของกองทัพนั้นเป็นเพียงการกดทับปัญหาไว้ ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนได้ การยื่นร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ก็เพื่อคืนการแก้ไขที่ดีกว่าคือการแก้ปัญหาจากความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ และจะประสบผลสำเร็จมากกว่าการใช้กำลังแก้ปัญหา ตนจึงสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ควรผ่านมติรัฐสภา”
.
[สภาที่ปรึกษาฯ ตัดการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาประชาชน]
.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่าคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ส่งผลสำคัญ 3 ประการคือ 1. ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ แทนที่สภาที่ปรึกษาฯ 2. ให้เลขา ศอ.บต. ต้องปรึกษาและฟังความคิดเห็นของเลขาธิการ กอ.รมน. ซึ่งจะทำให้ กอ.รมน. มีอิทธิพลสูงกว่า ศอ.บต. และ 3. ให้ กอ.รมน. ไปดูแลงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจริงแล้วควรเป็นงานฝ่ายพลเรือน หรือ ศอ.บต.
.
แล้วทำไม คสช.ต้องหวั่นไหวกับ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 และไม่ต้องการให้สภาที่ปรึกษามีบทบาทฯ ก็เพราะว่า พ.ร.บ.การบริหารฯ นี้ถูกออกแบบให้อำนาจพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วม โดยแบ่งความร่วมมือ ออกเป็น 3 สาขา คือ 1. กพต. ตามมาตรา 6 ที่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 17 กระทรวง รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ร่วมทำงาน ซึ่งจะทำงานได้ใกล้ชิดฝ่ายบริหารและตัดสินใจรวดเร็ว 2. ศอ.บต. ตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นองค์กรหลักในด้านการพัฒนา โดยมีเลขาธิการ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และ 3. มีสภาที่ปรึกษาฯ ตามมาตรา 19 ที่มาจากการเลือกตั้งจากภาคส่วนต่างๆ ของประชาชน มีวาระการทำงาน 3 ปี ซึ่งทั้ง 3 ขานี้เดินหน้าทำงานไปพร้อมกันต่อเนื่อง และเมื่อมีการยึดอำนาจ ผู้มีอำนาจไม่ต้องการ เพราะอำนาจหน้าที่สภาที่ปรึกษาฯ มีอำนาจหน้าที่ มีความเชื่อมโยงกับประชาชนลงไปถึงระดับหมู่บ้านรวมถึงการพูดคุยสันติภาพ
.
เมื่อเปลี่ยน สภาที่ปรึกษาฯ เป็นคณะที่ปรึกษาฯ ปัญหาจึงเกิดขึ้นมากในทุกด้าน ด้านสำคัญเช่น การเยียวยาไม่ครบถ้วน เกิดการพิพาทด้านการจัดการศึกษาในท้องถิ่น รวมถึงการเสนอความเห็นส่วนกลางไม่ได้รับการเหลียวแล หนำซ้ำ ยังให้เลขาธิการ ศอ.บต. ต้องรับฟังความคิดและข้อเสนอแนะของเลขาธิการ กอ.รมน. มามีบทบาทขยายอำนาจ กอ.รมน. มีอำนาจล้วงลูกทำงานแทนฝ่ายพลเรือนซึ่งควรจะได้ดูแลประชาชน
.
“วันนี้จึงเป็นโอกาสเหมาะสม ที่สภาฯ จะได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ รัฐบาลเพิ่งตั้งคณะพูดคุย เริ่มต้นพูดคุยแล้ว จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่า ถ้าสภาเห็นชอบให้มีสภาที่ปรึกษาฯ หมายความว่ารัฐบาลกำลังเข้าใจปัญหา เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาได้ผลมากยิ่งขึ้น” นายจาตุรนต์ กล่าว
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments


Social sharing

Related post