Digiqole ad

สส. พรรคเพื่อไทย ร่วมกันอภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยืนยันจุดยืนการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามแนวทางของรัฐบาลที่กำลังเดินไปสู่การทำประชามติสอบถามความคิดเห็นของประชาชน

 สส. พรรคเพื่อไทย ร่วมกันอภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยืนยันจุดยืนการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามแนวทางของรัฐบาลที่กำลังเดินไปสู่การทำประชามติสอบถามความคิดเห็นของประชาชน
Social sharing
Digiqole ad
สส. พรรคเพื่อไทย ร่วมกันอภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยืนยันจุดยืนการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามแนวทางของรัฐบาลที่กำลังเดินไปสู่การทำประชามติสอบถามความคิดเห็นของประชาชน อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ มาขับเคลื่อนไปสู่การทำประชามติและมีความคืบหน้าในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าแนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่เป็นหนทางไปสู่เป้าหมายการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เดินหน้าสร้างประชาธิปไตยที่เป็นจริงได้มากที่สุด
.
[ รัฐบาลเดินหน้าแล้ว คกก.ศึกษาการทำประชามติ ]
.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า การที่มีผู้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับในครั้งนี้ ผู้เสนอญัตติตีความว่า การทำประชามติต้องเริ่มต้นจากถามประชาชนเสียก่อนนั่นก็หมายความว่าการทำประชามติจะต้องทำถึง 3 ครั้ง คือ ถามครั้งที่หนึ่ง ถามประชาชนตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ถามครั้งที่สองเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และถามครั้งที่สามเมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ซึ่งข้อขัดแย้งจากการเสนอญัตติวันนี้ที่เห็นชัดจึงมี 3 ประการคือ 1.จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาหารือเพื่อหาข้อสรุปอยู่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีความชัดเจนไม่นานนี้ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีความหมายครอบคลุมเพียงใด และ 3.สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือบางส่วน
.
ในส่วนของรัฐบาลได้แสดงความประสงค์ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ เพื่อที่จะไปสู่การจัดทำประชามติสอบถามความเห็นพี่น้องประชาชน ก็ควรให้รัฐบาลได้ทำงานนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้น ขณะเดียวกันหากใครมีความคิดเห็นก็สามารถเสนอความคิดเห็นทั้งปวงนี้ให้แก่รัฐบาลได้ โดยไม่มีเหตุขัดข้องใดๆ เพื่อหวังว่าประเทศไทยจะได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้นร่วมกันโดยเร็ว
.
[ ยึดแนวทางที่มีโอกาสสำเร็จมากที่สุด ]
.
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่าประเด็นการทำประชามติเพื่อให้มี ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ ปัญหาไม่ใช่ว่าควรมี ส.ส.ร. หรือไม่ แต่เราจะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งหลายท่านบอกว่าเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ แต่ต้องบอกว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นที่ถกเถียง มีความท้าทาย มีอุปสรรคมาก หากได้มีการปรึกษาหารือและมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนเช่น สื่อมวลชน ภาคเอกชน นักการเมือง นักวิชาการ และสมาชิกรัฐสภาเราก็จะช่วยให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จได้ โดยใช้เวลาเพิ่มขึ้นไม่นาน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ก็ให้สัมภาษณ์ว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกินช่วงปีใหม่ ดังนั้นหากจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกแค่ไม่กี่สัปดาห์เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันหาฉันทามติเห็นชอบจึงเป็นแนวทางที่จะทำให้การทำประชามติเพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.ประสบความสำเร็จได้มากที่สุด
.
[ เชื่อมั่นรัฐบาลเพื่อไทยผลักดันการทำประชามติเกิดขึ้นได้จริง ]
.
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้กันอยู่นี้ทุกฝ่ายยอมรับว่ามีปัญหาทั้งในแง่ที่มาและเนื้อหา เพราะกระบวนการในการได้มาไม่เป็นประชาธิปไตย แม้จะผ่านการจัดให้ทำประชามติ แต่ก็เป็นไปโดยไม่มีเสรีภาพ เสมอภาคและเป็นธรรม มีการจำกัดการแสดงความเห็น มีการจับกุมและดำเนินคดีกับคนเห็นต่าง รวมทั้งมีการทำให้เข้าใจผิดว่า ‘รับๆ ไปก่อน เดี๋ยวค่อยแก้ทีหลัง’ ส่วนเนื้อหาก็มีปัญหาทั้งเรื่องสิทธิของประชาชนหลายด้านหายไป องค์กรอิสระต่างๆ ไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมไปถึงการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
.
พรรคเพื่อไทย ได้เสนอนโยบายสำคัญในการเลือกตั้งและนำเสนออย่างชัดเจนมาตลอดคือการจัดให้มีการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องประชาชนขอยืนยันว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะจัดให้การทำประชามติให้เกิดขึ้นจริงและมี ส.ส.ร. เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มุ่งที่จะขับเคลื่อนการทำประชามติโดยใช้กลไกของรัฐสภาตามมาตรา 9 (4) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่บัญญัติให้อำนาจรัฐสภาพิจารณาและมีมติหากเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรให้มีการออกเสียงประชามติ แต่ในทางเทคนิควิธีการนี้อาจนำไปสู่อุปสรรคที่ไม่จำเป็น เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ด้วย ทำให้เกิดความกังวลว่า สว.ชุดนี้ จะยอมให้มีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เนื่องจากสว.ชุดนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะที่แนวทางการทำประชามติด้วยวิธีตามมาตรา 9 (2) ด้วยการใช้มติ ครม.ว่ามีเหตุอันสมควรให้มีการทำประชามติ ตามที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นกลไกที่ไม่ต้องใช้ความเห็นชอบจาก สว. และเป็นการยืนยันย้ำว่า ‘การทำประชามติจะเกิดขึ้นแน่นอน’
.
ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มกระบวนการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ’ แล้ว โดยมีกรอบการทำงานในประเด็นต่างๆ อาทิ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นอย่างไร , รูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส.ร. , จำนวนครั้งในการทำประชามติและคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติ แม้อาจต้องใช้เวลาบ้าง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดก็เพื่อให้แน่ใจว่า ‘รัฐธรรมนูญจะถูกร่างใหม่ได้จริงๆ’ เพราะเราต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติต้องอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ หากกระบวนการแก้ไขในบางขั้นตอนขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจส่งผลให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องหยุดชะงักหรือต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ จะทำให้เสียงบประมาณ เสียเวลาและที่สำคัญคือประเทศต้องเสียโอกาส
.
[ เปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประสบความสำเร็จ ]
.
นางสาวจิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด อภิปรายว่า เห็นด้วยในหลักการใหญ่เรื่องการให้มีการทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่มีข้อสังเกตต่อการเสนอญัตติด่วนฉบับนี้ ที่มีการกำหนดคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ซึ่งคำว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” นี้อาจขัดต่อคำแถลงนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่า การแก้ปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้คนไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
.
ยิ่งไปกว่านั้น ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 คำวินิจฉัยกำหนดไว้ให้การแก้ไขเป็นไปโดยยากมาก เช่นมาตรา 255 ที่บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบแห่งรัฐจะกระทำไม่ได้ ซึ่งเป็นหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้นี้เป็นการตอกย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเว้นหมวด 1 และ หมวด 2 นั้นจะเป็นการลดแรงเสียดทานได้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอดภัยที่สุด และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากที่สุด
.
[ ศึกษาอดีต รู้ปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต]
.
นายทรงยศ รามสูตร สส.น่าน อภิปรายว่าวันนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ถกเถียงกันประการแรกคือ จะแก้หมวดใด ประเด็นใด โดยเฉพาะการแก้หมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเป็นความเห็นต่างในสาระสำคัญ บางส่วนเห็นว่าควรแก้ทั้งฉบับ บางส่วนเห็นต่างในเรื่อง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเรื่องการที่ว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 แล้วจะต้องทำประชามติหรือไม่ ซึ่งการทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องคิดอย่างรอบคอบ ซึ่งรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะทำงานมาพิจารณาในเรื่องที่ทุกฝ่ายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างรอบคอบ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างประชาธิปไตยครั้งนี้ประสบความสำเร็จและเป็นจริงได้มากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาพัฒนาการทางการเมือง ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ พิจารณาสาเหตุของสิ่งต่างๆ เพื่อจะได้ศึกษาอดีต รู้ปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาได้ในอนาคต
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments

Related post