Digiqole ad

สส.พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถามถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์

 สส.พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถามถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์
Social sharing

Digiqole ad
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 18 มกราคม 2567 ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้สดถามถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มอบหมายให้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้โดยยืนยันว่าโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความใส่ใจ นายกรัฐมนตรีไปโรดโชว์โครงการด้วยตัวเองในต่างประเทศหลายวาระ โครงการดังกล่าวไม่เพียงแค่ยกระดับขนส่งคมนาคมทางน้ำแต่ยังมุ่งเชื่อมการลงทุนเศรษฐกิจบนแผ่นดินจากเอเชียใต้ให้ลงมาใช้แลนด์บริดจ์ที่ระนองและชุมพร เพื่อเชื่อมคมนาคมไปยังทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก นอกจากนี้่ รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องได้รับผลกระทบและเตรียมแผนรองรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว
.
1. นางมนพร เจริญศรี กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปภารกิจต่างประเทศ ก็ไปนำเสนอโครงการหรือโรดโชว์ในหลายวาระ เช่น ครั้งแรกที่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนตุลาคม 2566 จากนั้นไปโรดโชว์ที่กรุงโตเกียว ในเดือนธันวาคม 2566 โดยปรากฎว่าได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำลงทะเบียนเข้าร่วมเสวนาโครงการดังกล่าว จนมีรายงานว่ายังมีภาคเอกชนอีกจำนวนหนึ่งที่อยากเข้าพบเพื่อพูดคุย และขอให้นายกรัฐมนตรีกลับมาโรดโชว์อีกครั้ง นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน นายกรัฐมนตรี ยังได้ไปโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ที่สหรัฐอเมริกา โดยคราวนี้ มีนักธุรกิจภาคเอกชนจากฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมโดยนักธุรกิจบางส่วนได้กล่าวว่า ไม่คิดว่าไทยจะมีโครงการดังกล่าวเพราะยังมีสายการเดินเรือที่ต้องการขนส่งสินค้าเข้ามายังเอเชียแต่ติดปัญหาผ่านช่องแคบมะละกาที่แออัด รวมถึงขณะนี้ที่เราประชุมกันอยู่ นายกรัฐมนตรีก็กำลังอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เสนอโครงการแลนด์บริดจ์ให้นักธุรกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวก
.
2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่ถูกออกแบบมาโดยมีเป้าหมายลดความคับคั่งของการขนส่งจราจรทางเรือ ที่ต้องแล่นผ่านช่องแคบมะละกาที่มีความหนาแน่นจนต้องลดความเร็วและแออัดอยู่ระหว่างรอผ่านช่องแคบมะละกา และยังเสี่ยงต่อการถูกปล้นเรือขนส่งสินค้าที่มีอยู่ทุกปี
.
3. เส้นทางการขนส่งของโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ใช่มุ่งแค่เรือที่ขนส่งสินค้าจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก หรือตะวันออกไปตะวันตกเท่านั้น แต่ยังมุ่งไปถึงการใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์เพื่อขนส่งสินค้าบนแผ่นดินด้วย เช่นจากคำถามของสมาชิกที่ถามถึงการขนส่งสินค้าจากเอเชียตะวันออกคือประเทศจีนตอนใต้ไปออสเตรเลียทางเรือว่าทำไมต้องใช้แลนด์บริดจ์ ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าในความจริงแล้ว ประเทศจีนมีขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว้างขวางมาก หลายพื้นที่ของประเทศจีนไม่ติดทะเล เช่น จีนตอนใต้ ทำให้ต้องขนส่งสินค้าจากจีนผ่านบังคลาเทศบ้าง หรือผ่าน สปป.ลาว แล้วจึงมาเชื่อมไทยเพื่อขนส่งตู้สินค้าจากจีนตอนใต้ไปออกทะเลได้ ซึ่งถ้าเรามีโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว ตู้สินค้าจากจีนตอนใต้ที่เคยผ่านบังคลาเทศผ่านช่องแคบมะละกา จะมีโอกาสอย่างมากที่จะมาออกที่ท่าเรือฝั่งระนองและชุมพร
.
4. กรณีเรือขนส่งประเภทใดที่จะมาใช้บริการโครงการแลนด์บริดจ์ คำตอบคือเพราะที่ช่องแคบมะละกามีหลายท่าเรือ แต่ละท่าเรือก็ขนส่นสินค้าในหลายประเทศ มีขนาดเรือทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเรือฟีดเดอร์หรือเรือขนส่งสินค้าเพื่อไปถ่ายลำให้เรือแม่ ซึ่งเรือประเภทนี้เราก็ศึกษาอยู่ทั้งเรื่องประเภทสินค้า ปริมาณจำนวนเรือ ระยะเส้นทางเดินทาง และศึกษาถึงขนาดว่าใช้เรือไซต์ไหนในการฟีดเดอร์ในร่องน้ำลึกแต่ละร่องน้ำอย่างไรเพื่อให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายและต้นทุน ซึ่งในความจริงเรือขนาดใหญ่ไม่ได้ประหยัดกว่าทั้งหมดเพราะเราต้องดูความเหมาะสม และเราได้แบ่งการดำเนินการไว้ทั้งหมด 3 ระยะ ดังนั้น ถ้าเอาเฉพาะเส้นทางที่ขนส่งสินค้าที่ใช้เรือฟีดเดอร์ จะประหยัดในช่วงแรกแต่ว่าในระยะยาวแล้ว หากจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่เรือใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าฝั่งระนอง-ชุมพร ก็จะมีความเป็นไปได้เนื่องจากระนองไม่ไกลเส้นทางเดินเรือในปัจจุบัน
.
5. เรื่องประเภทสินค้าที่ขนส่งที่เรียกว่า เทกอง เช่น ปูนซีเมนต์หรือไม้ ซึ่งสินค้าพวกนี้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์มาอยู่แล้ว ถ้าเข้าท่าเรือระนองก็จะประหยัดต้นทุนยกตู้ไปได้
.
6. ส่วนเรื่องความคุ้มค่าของการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นี้ แน่นอนว่ารัฐบาลย่อมคาดหวังให้บริษัทผู้ศึกษาได้ศึกษาในทุกมิติซึ่งถ้าตกหล่นขาดเหลือก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ ขณะเดียวกัน ฝั่งประเทศผู้ลงทุนก็ต้องศึกษาในมิติของฝั่งผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน อะไรที่ดีก็เดินหน้าอะไรที่มีข้อสงสัยก็ต้องทบทวนเป็นปกติ เช่นเดียวกับเรื่องเส้นทางการเดินเรือที่กังวลใจว่าเส้นไหนไม่ประหยัด ก็มาศึกษาช่วยกันว่าเส้นไหนคุ้มไม่คุ้ม อะไรที่ผู้ประกอบการพอใจเห็นความเป็นไปได้ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง
.
7. โครงการระดับใหญ่ต้องมีความเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญ ศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ โดยศึกษาทั้งมิติทรัพยากร ด้านความมั่นคง ด้านอุตสาหกรรม ด้านการต่างประเทศ รวมทั้งภาครัฐเอกชน และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้คิดรองรับถึงผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่จะต้องเกิดขึ้นไว้อยู่แล้ว โดยมีแนวทางเวนคืนที่ดินในราคาเหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนสวัสดิการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ลงพื้นที่รับฟังทั้งที่อำเภอหลังสวน จังหวัดสุราษฏร์ธานี อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร และที่จังหวัดระนอง ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องรับฟัง เสียงคัดค้านรัฐบาลฟังมากกว่าเสียงสนับสนุนเสียด้วยซ้ำเพราะนั่นคือความทุกข์ร้อนของผู้ได้รับผลกระทบที่รัฐจะต้องรองรับและเยียวยาให้เหมาะสม
.
8. “วันนี้โครงการแลนด์บริดจ์ ได้รับความสนใจและได้รับการตอบรับจากนนักธุรกิจเชิบวก แม้จะเป็นการเริ่มต้นโครงการ แต่รัฐบาลจะได้ขยายควาคิดเหล่านี้ให้นักลงทุนต่างชาติ เพราะเราเข้าใจในคำว่าโอกาส ‘ประเทศไทยต้องการคำว่าโอกาส’ ถ้ามีโครงการดีๆ เกิดขึ้น จะส่งผลให้การลงทุนของไทยและภูมิภาคอาเซียนได้เกิดขึ้นและเจริญเติบโตได้เร็ววัน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments


Social sharing

Related post