Digiqole ad

สสส. เปิดเวทีระดมความคิด สานพลัง ร่วมสร้าง “ระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุ”

 สสส. เปิดเวทีระดมความคิด สานพลัง ร่วมสร้าง “ระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุ”
Social sharing

Digiqole ad

จากข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่ามีจำนวนประชากรผู้สูงอายุคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด บ่งชี้ได้ว่าสังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ หน่วยงานหลายภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรับมือกับสังคมผู้สูงวัยในทุกมิติ อีกทั้งมุ่งทำงานขับเคลื่อนในเรื่องของการพัฒนาผู้สูงวัยให้สามารถอยู่ท่ามกลางโลกแห่งเทคโนโลยีได้อย่างรู้เท่าทัน สามารถก้าวไปข้างหน้าได้พร้อมๆ กับประชาชนทุกกลุ่มวัย

โดยกลุ่มคนตัว D ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาศักยภาพนักกระบวนกรสื่อสารสุขภาวะและขับเคลื่อนกลไกสูงวัยรู้ทันสื่อระดับจังหวัด”ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. ได้จัดเวทีสื่อสาธารณะออนไลน์ ในหัวข้อ “ร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อ เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุ”

เพื่อระดมความคิด สานพลังกลุ่มคนทำงานด้านสื่อและผู้สูงวัย เพื่อหาแนวทางเตรียมรับมือสถานการณ์สังคมผู้สูงวัย พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เปลี่ยนผู้สูงวัยให้กลายเป็นพลัง ดึงพลเมืองทุกช่วงวัยเข้ามาโอบอุ้มขับเคลื่อนนิเวศสุขภาวะไปด้วยกัน โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย

โดย “มัทนา ถนอมพันธุ์ หอมลออ” ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สสส. กล่าวถึงมุมมองของสังคมไทยที่มีต่อผู้สูงอายุว่า “จริงๆ แล้วผู้สูงอายุหลายคนยังมีศักยภาพ เราจะเห็นในวงการออกกำลังกาย ที่พวกท่านยังคงพึ่งพาตัวเองได้แม้จะอยู่ลำพังก็ตาม แต่ในคนส่วนใหญ่ในเมืองไทยเรายังมองผู้สูงอายุว่าเป็นกลุ่มที่อ่อนแอ ถือไม้เท้า ไร้ศักยภาพ จึงอยากชี้ให้มองอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มที่สามารถเป็นเพื่อนและพึ่งพาได้ โดยการสำรวจของมหิดล พบว่า “วัยเพิ่มขึ้นแต่หัวใจยังสดใสเสมอ” ทีนี้เวลาเรามองโครงสร้างของสื่อ คือมันไม่ได้อยู่โดดๆ แต่ระบบนิเวศสื่อมันเกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำที่มาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งความคิด ทัศนคติ มุมมอง ที่มีต่อผู้สูงอายุ ซึ่งมองว่าหากจะทำเนื้อหาเพื่อผู้สูงวัย ก็ต้องจัดทำเป็นพิเศษที่เหมาะกับพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น รูปแบบของตัวอักษร ก็ต้องคำนึงถึง ขนาด รูปแบบ และ สี ที่เหมาะกับกลุ่มสูงวัยจริงๆ ทั้งนี้แนวทางการขับเคลื่อนงานรู้ทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ สสส. ให้ความสำคัญกับเรื่องของคน เราให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นเครือข่าย ทำให้กลยุทธ์การทำงานต่างวัยนั้นเอื้อให้เกิดสังคมสุขภาวะ สร้างพื้นที่ในการส่งเสียงให้สังคมเข้าใจปัญหาของกลุ่มผู้สูงอายุ เราต้องมองกลุ่มผู้สูงอายุในมุมมองใหม่ ให้เขาเป็น Active Citizen เราทำงานด้านวิชาการโดยขับเคลื่อนร่วมกับ ม.มหิดล ซึ่งเราก็ยังต้องการความร่วมมือจากหลายองค์กรมาขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุ”


ทางด้าน “ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงแนวทางการรับมือกับสังคมผู้สูงวัยว่า “ปัจจุบันสังคมไทยเราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งมีความจำเป็นมากที่จะต้องมีการเตรียมรับมืออย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง อีกทั้งสถานการณ์ของโลกดิจิทัลในยุคนี้ ผู้สูงวัยต้องอยู่กับโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี เป็นวัยที่ต้องใช้การปรับตัว จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำให้เขารู้เท่าทันสื่อ เพราะจากข่าวที่เผยแพร่ในทุกวัน จะเห็นว่ามีผู้สูงอายุเจอทั้งข่าวปลอม การชวนเชื่อ การหลอกลวงทางออนไลน์ รวมถึงการบูลลี่ แต่ไม่มีการเตรียมรับมืออย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นโจทย์ว่าเราต้องสร้างนิเวศสื่อแบบไหนที่ให้เหมาะกับคนยุคปัจจุบัน ยิ่งตอนนี้มันมี AI เข้ามา Disrupt อีก ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ฉะนั้นเราจะทอดทิ้งผู้สูงวัยไว้ไม่ได้อีกแล้ว เราต้องเดินหน้าไปพร้อมกันทุกวัย ผู้สูงวัยต้องอยู่ตรงกลางของนิเวศสื่อ แล้วให้วัยต่างๆ คอยประคับประคองไปด้วยกัน ซึ่งตลอดมากองทุนสื่อเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้เสมอ จากช่วงแรกคนทำงานเรื่องนี้น้อยมาก แต่นับเป็นสิ่งที่ดี ที่ทุกปีก็จะมีคนเห็นความสำคัญ และมีกลุ่มคนทำงานเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นในรูปแบบของการผลิตสื่อ ที่มาจากผลงานของกลุ่มวัยทำงาน วัยกลางคนที่เป็นคนจัดทำขึ้น แต่กลุ่มของวัยรุ่นที่ทำเรื่องนี้ยังมีน้อย สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่แอคทีฟ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ด้านเทคโนโลยีที่เหมือนจะเท่าทันแต่ก็ยังไม่เท่าทัน ฉะนั้นเราต้องเชื่อมทุกวัยเข้าหากันให้ได้ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สื่อที่ดี”

ในส่วนของ “กนกพร ประสิทธิ์ผล”ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส เล่าถึงการทำงานของสื่อที่มุ่งเป้าไปที่ผู้สูงวัยว่า “สื่อออนไลน์มีการเติบโตและมีผลเปลี่ยนแปลงสูงมาก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนี้ส่งผลต่อสื่ออย่างมาก คือผู้ผลิตมีเพิ่มมากขึ้น พูดให้เข้าใจง่ายคือทุกคนสามารถเป็นสื่อได้เพียงแค่มือถือเครื่องเดียว สิ่งที่ตามมาคือข่าวปลอม ข้อมูลเท็จต่างๆ สื่อจึงต้องขยับบทบาทตัวเองเป็นผู้ตรวจสอบด้วย ซึ่งไทยพีบีเอสเองก็เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนี้ และมองถึงผลกระทบที่มีต่อผู้สูงอายุ จึงมีการทำเนื้อหาเพื่อผู้สูงวัยมาโดยตลอด ทั้งการรายงานข่าวสาร ให้ความรู้-ทักษะ ให้ความบันเทิง รวมไปถึงการช่วยเหลือ ป้องกัน แก้ปัญหา เติมความรู้เท่าทัน และสร้างชุมชน ให้แรงบันดาลใจ ให้โอกาส ให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงวัย ทุกวันนี้สื่อเองทำเรื่องนี้เยอะ แต่ไม่เท่ากับเรื่องของเด็กและเยาวชน หรือเรื่องครอบครัว เพราะการทำเนื้อหาไปถึงผู้สูงวัย เราต้องคำนึงถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องและอยู่กับผู้สูงวัยด้วย คือมันต้องทำไปทั้งระบบ โดยประเด็นที่เป็นข้อกังวล คือ การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ยิ่งช่วงนี้มีเทรนด์ใหม่คือ Granfluencers ซึ่งก็คือผู้สูงอายุที่มีอิทธิพลบนออนไลน์ เป็นครีเอเตอร์ คนกลุ่มนี้จะมีอิทธิพลต่อการส่งข่าวสารต่อไป การเท่าทันสื่อกลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายคนมีผู้ติดตามมาก ดังนั้น การที่จะทำเรื่องนี้ต้องมีแผนที่ชัดเจน ครอบคลุม และเป็นระบบ และร่วมมือกันหลายภาคส่วน”


สำหรับ “แพทย์หญิง ลัดดา ดำริการเลิศ” ผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า “3 ปีที่ผ่านมา โควิดเป็นฉากทัศน์ที่สำคัญ ที่ทำให้เห็นว่าผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงที่ให้บริการได้โดยตรง มีงานวิจัยพบว่า ผู้สูงวัยจะใช้โทรทัศน์มากที่สุด รองลงมาคือสื่อออนไลน์ แต่พอถึงโควิด พบว่าสิ่งที่เคยทำมาปรากฎว่ามันทำไม่ได้ ส่วนใหญ่สื่อทั้งหมดมีไว้เพื่อสนทนา มากกว่าการใช้ประโยชน์ในการดูแลตัวเอง การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์ยังมีไม่มากพอ ผู้สูงอายุวันนี้ อยู่ลำพังมากกว่า 10% อยู่กัน 2 คนตายาย อีก 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ จุดนี้แหละที่จะทำให้เกิดปัญหา จึงควรจะให้มีกลไกในชุมชนที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นทั้งผู้รับสื่อและผู้ใช้สื่อที่มีความรับผิดชอบและมีพลัง”

Facebook Comments


Social sharing

Related post