Digiqole ad

สปสช.ค้างจ่ายเงินคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม.กว่า 580 ล้าน จี้สาธารณสุขเร่งแก้ ปรับรูปแบบการเบิกจ่าย ก่อนกระทบสุขภาพคนกรุงฯ

 สปสช.ค้างจ่ายเงินคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม.กว่า 580 ล้าน จี้สาธารณสุขเร่งแก้ ปรับรูปแบบการเบิกจ่าย ก่อนกระทบสุขภาพคนกรุงฯ
Social sharing

Digiqole ad
“คลินิกชุมชนอบอุ่น” เป็นสถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ แต่ทุกวันนี้ถ้าเราเดินไปดูที่ด้านหน้าคลินิก แทบทุกแห่งจะแขวนป้ายไวนิลสีดำ พร้อมข้อความที่ติดประจานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า “บัตรทอง กทม. เงินไปไหนหมด ? ไม่มีเงินจ่ายคลินิกบัตรทอง” บางแห่งมีแม้กระทั่งป้ายขอรับเงินบริจาค 😢
.
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่ สปสช.ค้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลโครงการบัตรทอง (30 บาท) ของคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2565 มูลค่ารวมแล้วกว่า 580 ล้านบาท! จนทำให้คลินิกหลายแห่งขาดสภาพคล่องและประสบกับปัญหาขาดทุน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิของคนกรุงเทพฯ
.
ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 67) ปวิตรา จิตตกิจ – Pavitra Jittakit สส.กรุงเทพฯ เขต 32 พรรคก้าวไกล จึงตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถึงกรณีดังกล่าว
.
โดยระบุว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักคือรูปแบบการเบิกจ่ายของคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพฯ มีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าจังหวัดอื่น ๆ กล่าวคือ กรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในต่างจังหวัด สปสช.จะให้เบิกจ่ายเงินแบบ “เหมาจ่ายรายหัว” ต่างจากคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพฯ ที่ สปสช.ให้เบิกจ่ายเงิน “ตามรายการการรักษาจริง” ที่มีอยู่กว่า 4,000 รายการ ทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในการทำบัญชี
.
นอกจากนี้ สปสช.ยังจ่ายเงินให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นแค่ร้อยละ 70 จากราคาประเมินเท่านั้น และหากปีใดมีการให้บริการมากจนเกินวงเงินงบประมาณ ค่าบริการที่คลินิกชุมชนอบอุ่นจะได้รับก็จะลดลงตามสัดส่วน กล่าวคือ หากคนกรุงเทพฯ เจ็บป่วยมาก คลินิกก็จะยิ่งถูกตัดเงิน
.
จากปัญหาข้างต้น ปวิตราจึงตั้งคำถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า นโยบายเช่นนี้เท่ากับว่า สปสช.กำลังบีบให้คนกรุงเทพฯ ที่เจ็บป่วยถูกปฏิเสธการรักษา หรือต้องได้รับการรักษาแบบจำกัดจำเขี่ยใช่หรือไม่ ซึ่งแนวทางดังกล่าวขัดกับหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างชัดเจน
.
ปัจจุบันคลินิกชุมชนอบอุ่นมีอยู่ 276 แห่งในกรุงเทพฯ แต่ละแห่งต้องดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองกว่า 10,000 คน แออัดกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในต่างจังหวัดที่ดูแลประชาชนอยู่ประมาณ 3,000 คนต่อโรงพยาบาล หรือแออัดมากกว่าถึง 3 เท่าตัว
.
หากกระทรวงสาธารณสุขไม่เร่งแก้ปัญหานี้ คลินิกชุมชนอบอุ่นหลายแห่งจะทยอยปิดตัวไป ทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่มีสถานพยาบาลใกล้บ้าน และต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาลที่ไกลขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิของคนกรุงเทพฯ แน่นอน
.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการเขตสุขภาพที่ 13 ซึ่งดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้มีข้อเสนอแนะไปแล้วว่า ให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายให้เป็นแบบเหมาจ่ายรายหัว แทนการเบิกจ่ายตามรายการ โดยเสนอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป แต่จนถึงวันนี้ ทั้งเรื่องเงินที่ค้างจ่ายกว่า 580 ล้านบาท และการเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
.
“ดิฉันทราบมาว่าจะมีการประชุมเรื่องนี้ในบอร์ด สปสช. ดิฉันจึงขอสอบถามว่า ตกลงวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้ จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายของคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นแบบรายหัว ตามที่ผู้อำนวยการเขตสุขภาพที่ 13 เสนอหรือไม่ และจะเริ่มเบิกจ่ายได้จริงเมื่อไหร่ แหล่งงบประมาณมาจากไหน เพราะปัจจุบันเงินเหลือจ่ายก็มีอยู่จำกัดมาก งบประมาณปี 2567 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้สำรองเอาไว้สำหรับรูปแบบการเบิกจ่ายแบบรายหัว”
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทราบปัญหานี้มาตั้งนานแล้ว สมัยที่ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เคยไปรับหนังสือร้องเรียนจากผู้แทนคลินิกชุมชนอบอุ่นด้วยตัวเอง พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ว่า “กลไกการเบิกจ่ายแบบที่เป็นอยู่ เป็นการทำลายพี่น้องประชาชน เป็นวิธีคิดที่แย่มาก ไม่สมควรเป็นรัฐบาล และควรถูกลงโทษด้วย” แล้วเหตุใดจึงยังเกิดเรื่องเช่นนี้อยู่อีก
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post