Digiqole ad

สช.จับมือ กรมสุขภาพจิต ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ KICK OFF ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน

 สช.จับมือ กรมสุขภาพจิต ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ KICK OFF ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน
Social sharing

Digiqole ad

วันที่ (1 ธันวาคม 2566) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การพัฒนาและส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และกรมสุขภาพจิต โดยมีนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) และนายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

นายนพ ชีวานันท์ กล่าวว่า ตามที่ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษา 2 ข้อหลัก คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยกระบวนการทางการศึกษานั้น นอกจากจะดำเนินการในลักษณะการจัดการเรียนการสอนแล้ว การดูแลช่วยเหลือ การให้คำปรึกษา และการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดทำแผนงานการส่งเสริมด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน เพื่อให้ครูและบุคลาการในโรงเรียน สามารถให้การช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีปัญหาทางสุขภาพจิตได้ตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งส่งเสริมสุขภาวะทางใจเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองให้เติบโต เป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป

 

นายนพ ชีวานันท์ กล่าวต่อว่า การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรมสุขภาพจิต ในวันนี้ ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการกระตุ้นให้โรงเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการประสานความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถานศึกษา เพื่อร่วมกันดูแลช่วยเหลือและส่งเสริมสุขภาวะทางใจของนักเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะการเรียนการสอน จำเป็นต้องเริ่มจากความสุขของผู้เรียน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต่อไป

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช. กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียนในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักเรียน ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูประจำชั้น ครูแนะแนว และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลสำคัญในการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านการประเมินภาวะเสี่ยงทางสุขภาพจิต และสามารถให้คำปรึกษาแก่นักเรียนได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จึงได้ร่วมมือกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน โดยการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อการดูแล ให้คำปรึกษาและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งนอกจากการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันในวันนี้แล้ว ยังมีการอบรมส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนในโรงเรียนเอกชนในรูปแบบออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนในโรงเรียนเอกชน เป็นการประกาศให้รับรู้ทั่วกันว่า กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนบุคลากรของโรงเรียนเอกชน ให้มีความรอบรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียน และมีความพร้อมสำหรับการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ให้เป็นผู้เรียนที่มีความสุข และเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตต่อไป

เลขาธิการ กช.กล่าวเพิ่มเติมว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจะขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยกำหนดให้มีการอบรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ให้กับบุคลากรจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของนักเรียนโรงเรียนเอกชนในส่วนภูมิภาค และจัดอบรมพัฒนาศักยภาพครูในการส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีศูนย์สุขภาพจิต 12 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ปทุมธานี สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ในช่วงเดือนมีนาคม – สิงหาคม 2567

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาวะทางใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กวัยเรียน เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก ให้สามารถป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ลดอุบัติการณ์การเกิดโรค เนื่องจากเด็กวัยเรียน เป็นช่วงวัยที่สามารถรับรู้ เข้าใจ และสื่อสารถึงความต้องการของตัวเองได้ สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพและมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างดี เด็กที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาทางสุขภาพจิตตั้งแต่เริ่มต้น อาจทำให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้นจนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือนำไปสู่การจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นต้น ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาวะทางใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กวัยเรียน จึงเป็นงานที่ควรเร่งดำเนินการ และกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสุขภาพจิต ในฐานะที่เป็นองค์หลักด้านสุขภาพจิตของประเทศ จึงร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในการพัฒนาศักยภาพของผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียนเอกชน ให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยง และมีความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพจิตของนักเรียน เพื่อลดหรือแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการอบรมให้ความรู้ การจัดทำแนวทางหรือมาตรการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในโรงเรียน รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล และการส่งต่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนเอกชนดำรงชีวิตควบคู่กับการเรียนได้อย่างมีความสุข ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต่อไป

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post