Digiqole ad

สงครามม้า…“ยาม้า-บัญชีม้า” มะเร็งร้ายในสังคมไทยยุคดิจิทัล (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 403 วันที่ 27 ต.ค.-3 พ.ย.66)

 สงครามม้า…“ยาม้า-บัญชีม้า” มะเร็งร้ายในสังคมไทยยุคดิจิทัล (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 403 วันที่ 27 ต.ค.-3 พ.ย.66)
Social sharing
Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 403 วันที่ 27 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566

หน้า 2-3 

“ยาม้า-บัญชีม้า”

มะเร็งร้ายในสังคมไทยยุคดิจิทัล

ทั้ง ๆ ที่ศาสตร์ของฮวยจุ้ยระบุว่า “ม้า” คือหนึ่งในสัตว์มงคล อีกทั้งเป็นนักษัตรที่ 7 ของนักษัตรจีนด้วย ม้ามีธาตุไฟเป็นธาตุธรรมชาติ มีความเชื่อว่าม้าเป็นสัตว์ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและเป็นสัญลักษณ์ของขุนนาง, ชนชั้นสูง, ความคล่องแคล่ว ความรวดเร็วว่องไว ส่งผลให้ธุรกิจการค้า, การงานประสบความสำเร็จเร็วเหมือนฉายา “ม้าเร็ว” มักนิยมนำภาพ (นิยม 8 ตัว) หรือรูปปั้นม้าที่กำลังวิ่งหรือกระโจนทะยาน มาเสริมมงคล

            แต่ในสำนวนแลพคำพังเพยไทย มักใช้ชื่อ “ม้า” ไปในความหมายทางเชิงลบมากกว่าบวก อาทิ ม้าดีดกะโหลก (มีกิริยากระโดกกระเดกลุกลนหรือไม่เรียบร้อย มักใช้แก่ผู้หญิง),ม้าหมากรุก (เปรียบคนที่โกรธและทำอาการหน้างอ),ม้าตีนต้น (การทำสิ่งใดดีเพียงระยะแรกๆ),หน้าม้า (ผู้แสร้งแสดงอาการชื่นชอบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อทำให้ผู้อื่นมีความรู้สึก คล้อยตาม ทำหน้าที่คล้ายนายหน้าในธุรกิจต่าง ๆ ใช้ในความหมายไม่ค่อยดีนัก),ขายวัวไป ซื้อม้า (เสียของที่มีค่ามากไป ทำของที่มีค่าน้อย),ไม่ดูตาม้าตาเรือ (ไม่พิจารณาให้รอบคอบ) และ สองเพลงตกม้าตาย (แพ้ง่าย สู้กัน ในเวลาไม่นาน เป็นการต่อสู้ที่แพ้เร็วยุติ เร็วไม่ยืดเยื้อ)

รวมถึงเอาชื่อ “ม้า” เข้าไปใส่ในคำกล่าวด้านลบ มาตั้งแต่ในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ยาม้า” แม้ทางการให้เปลี่ยนไปเรียกว่า “ยาบ้า” แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็ยังกลับไปเรียก “ยาม้า” เหมือนเดิม และล่าสุดคือ “บัญชีม้า” ที้กำลังระบาดหนัก สร้างความเสียหาย ความเดือดร้อนให้กับผู้คนและสังคมมากมาย

            ทำไมเรียก “ยาม้า” แล้วเปลี่ยนเป็น “ยาบ้า”

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า “ยาบ้า” มีประวัติที่มายาวนาน โดยสังเคราะห์ได้กว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองใช้กระตุ้นความกล้าหาญและความ อดทนของทหารทั้งสองฝ่าย โดยประมาณกันว่ามีการใช้ยาบ้ากว่า 72 ล้านเม็ดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลังสงครามการใช้ยาบ้าจึงเริ่มแพร่ขยายออกไปสู่สังคม

สำหรับสาเหตุที่เคยเรียกว่า “ยาม้า” สันนิษฐานได้หลายแง่ บ้างว่าคงมาจากการที่เคยนำไปใช้กระตุ้นม้าแข่งให้วิ่งเร็ว และอดทน บ้างว่าเนื่องจากทำให้ผู้ใช้ยาคึกคะนอง เหมือนม้า อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาเรียกเป็นยาบ้า ก็เพื่อจะเน้นความเป็นพิษของยา ซึ่งเมื่อใช้มากเกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้ผู้ใช้ยามีลักษณะเหมือนคนบ้าและเนื่องจากกระบวนการสังเคราะห์สารนี้ไม่ ซับซ้อน ปัจจุบันจึงมีการลักลอบสังเคราะห์ กันอยู่ในประเทศไทย

ในระยะแรก ยาบ้ามีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า “ยาขยัน” เป็นที่นิยมในกลุ่มนักเรียนที่ต้องดูหนังสือสอบดึก ๆ ต่อมาเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนขับรถบรรทุก มีชื่อเรียกว่า “ยาม้า” เหตุที่ได้ชื่อนี้มาจากเครื่องหมายการค้าของบริษัท Well come ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ส่งยาชนิดนี้มาขายในประเทศไทย

ในสมัยหนึ่งนักเคมี ทดลองสังเคราะห์ สารที่มีโครงสร้างคล้ายยาบ้ามากมายหลายตัว โดยหวังว่าคงจะมีสักตัวที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่กลับปรากฏว่าสารเหล่านั้น มักไม่มีประโยชน์แต่กลับมีผลเสียต่อจิตอารมณ์แทบทุกตัว สารอนุพันธุ์เหล่านี้ปัจจุบันมีการ ลักลอบสังเคราะห์กันในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเรียกกันรวม ๆ ว่า Designer Drugs ซึ่งหมายถึงสารที่พยายามดัดแปลงสูตรโครงสร้าง ทางเคมีจากสารเดิม ที่ถูกควบคุมโดยกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อใช้ทดแทนสารเดิมและหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย

ยาบ้ามีสารประกอบหลักในกลุ่มแอมเฟตามีน (Amphetamine) ซึ่งเป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใน ค.ศ. 1887 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ เอเดเลียโน (Edeleno) ในรูปของแอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulfate) ต่อมาใน ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นก็สามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่งคือ เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางได้รุนแรงกว่า แอมเฟตามีน และยาบ้าที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ก็มีสารประกอบหลักเป็นเมทแอมเฟตามีนนี้เอง

“ปัจจุบันที่เรียกว่า…ยาบ้า…ตามข้อเสนอของนายเสนาะ เทียนทอง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งให้นโยบายว่า ชื่อ…ยาม้า… ทำให้ผู้เสพเข้าใจว่า เป็นยาที่กินแล้วให้กำลังวังชา มีเรี่ยวแรง คึกคักเหมือนม้า ควรจะเปลี่ยนไปเรียกว่า ยาบ้า เพื่อให้ผู้เสพตระหนักถึงโทษของยาที่ทำให้ผู้เสพไม่สามารถควบคุมสติได้ เกิดความรังเกียจ ทำให้ไม่อยากเสพ และจะช่วยลดจำนวนผู้เสพยาได้  และเปลี่ยนประเภทจากสิ่งเสพติดประเภท 3 ซึ่งจำหน่ายได้ในร้านขายยา เป็นสิ่งเสพติดประเภท 1 ซึ่งห้ามจำหน่าย และมีบทลงโทษต่อผู้ขายรุนแรง เพื่อให้ผู้ขายกลัวต่อบทลงโทษ แต่กลับทำให้ยาบ้ามีราคาจำหน่ายสูงขึ้น จนสร้างผลกำไรต่อผู้ขายเป็นอย่างมาก และมีผู้ผลิตและจำหน่ายมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมให้เสพติดง่ายขึ้น มีฤทธิ์รุนแรงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ในแถบชายแดนไทย – กัมพูชาจะรับซื้อยาบ้าจากทางว้าแดงส่งผ่านมาทางประเทศลาว แล้วนำยาบ้ามาบดแล้วผสมกับแป้งทำยา (Drug Powder) แล้วนำมาอัดขึ้นรูปใหม่เพื่อให้มีจำนวนเม็ดยาเพิ่มขึ้น ตัวสารเสพติดต่อเม็ดจะลดลงเพื่อเพิ่มกำไร

จุดกำเนิด “ยาบ้า”ในเมืองไทย

ยาบ้าในประเทศไทยกำเนิดมาจาก “นางกัลยาณี อร่ามเวชอนันต์” ที่ส่งลูกไปเรียนวิชาเคมีที่ประเทศไต้หวันเพื่อกลับมาผลิตยาบ้ารายแรกของเมืองไทย ปัจจุบันถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำลาดยาว เธอถูกจับพร้อมสามีและลูกชาย 2 คน ที่บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งครอบครัวของเธอเช่าไว้ผลิตยาบ้า เธอถูกจับในเดือนพฤศจิกายน 2530 หลังจากนั้นยาม้าถูกประกาศเป็นยาต้องห้าม ซึ่งก่อนหน้านั้นยาม้าสามารถนำเข้าจากต่างประเทศ กัลยาณีและครอบครัวถูกคุมขังแต่การผลิตยาม้าก็เติบโต คนงานที่ผลิตโรงงานของกัลยาณีได้เรียนรู้สูตรจากลูกชาย 2 คน และขยายธุรกิจ บางคนทำเอง จนสูตรยาม้าที่กัลยาณี เคยใช้ยี่ห้อ “เปาบุ้นจิ้น” ในครั้งแรกได้ขยายเป็นยี่ห้อต่าง ๆ มากมาย

            “ตลาดยาบ้า” ในไทยกับความท้าทายปี 2023

            Thai PBS  ได้กล่าวถึงรายงานฉบับใหม่เรื่อง  “ตลาดยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การพัฒนาล่าสุดและความท้าทายปี 2023” ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า การลักลอบค้าเมทแอมเฟตามีน (ไอซ์ ยาบ้า ) ขยายตัว มีความหลากหลายของการผลิตยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ ทั้งการลักลอบค้าในภูมิภาคนี้ และส่งออกไปภูมิภาคอื่น และการลักลอบขนส่งได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

รายงานระบุว่า กลุ่มอาชญากรข้ามชาติได้คาดการณ์ ปรับตัว และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ในปี 2565 ขบวนการค้ายาเสพติดพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางบริเวณชายแดนไทย ด้านสามเหลี่ยมทองคำในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดมากกว่าที่ผ่านมาผู้ค้ายังคงส่งยาเสพติดจำนวนมากผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) และตอนเหนือของฝั่งไทย ขณะเดียวกันเครือข่ายขององค์กรได้ผลักดันยาเสพติดจำนวนมากผ่านทางตอนกลางของเมียนมาไปลงทะเลอันดามันซึ่งเป็นเส้นทางไม่มีการเฝ้าระวังเข้มงวด หลังการปิดพรมแดนยาวนานในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ตั้งแต่ปี 2562 กลุ่มอาชญากรทั้งภูมิภาคเริ่มเคลื่อนไหวและเชื่อมต่อกันอีกครั้ง

โดยรูปแบบช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 เริ่มคล้ายเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ กล่าวคือ การจับกุมเมทแอมเฟตามีนในปี 2565 มีจำนวนเพิ่มขึ้น ยึดได้เกือบ 151 ตัน ในพื้นที่เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากพรมแดนทางบกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างยังเสี่ยงต่อการลักลอบค้าสารเคมีที่เกี่ยวข้องด้วย

ขณะเดียวกัน การสกัดกั้นที่เข้มงวดในมณฑลยูนนานของจีนและตามแนวชายแดนไทยกับเมียนมาส่งผลให้ระดับการยึดเมทแอมเฟตามีนในจีนลดลงอย่างมากและลดลงเล็กน้อยในประเทศไทย ส่งผลให้มีการใช้เส้นทางเดินเรือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เอเชียใต้ยังถูกรวมเข้ากับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

เมทแอมเฟตามีนปริมาณสูงจากเมียนมาไหลทะลักเข้าสู่บังกลาเทศพบเพิ่มขึ้นและบ่อยครั้ง ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย นอกจากเมทแอมเฟตามีนแล้ว ในภูมิภาคนี้ยังยึดเคตามีน ได้สูงสุดถึง 27.4 ตันในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 167 ทุกประเทศและพื้นที่ในภูมิภาคนี้รายงานว่าเพิ่มขึ้น ยกเว้นฮ่องกง การยึดเมทแอมเฟตามีนและเคตามีนจำนวนมากที่ถูกขนส่งพร้อมกัน โดยเจ้าหน้าที่จากทั่วภูมิภาคชี้ว่ากลุ่มอาชญากรผลักดันยาเสพติดทั้งสองตัวพร้อมกันเพื่อเพิ่มความต้องการเคตามีน

รายงานของ UNODC ยังระบุอีกว่า สถานการณ์เคตามีนในภูมิภาคนี้สะท้อนถึงแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยอุปทาน ซึ่งใช้ในการขยายตลาดเมทแอมเฟตามีนในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2010 แต่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เคตามีนมีจำกัด และไม่ชัดเจนว่ามีการแพร่หลายมากเพียงใด ดังนั้นการวิจัยยังมีความจำเป็นมาก ขณะที่ยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีชนิดต่างๆ และบางครั้งบรรจุพร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ยังพบได้ทั่วเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงสำหรับผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งเจตนาหรือโดยไม่รู้ตัว

            “ยาบ้า” ครองแชมป์ เผาทำลายกว่า 2 หมื่น ก.ก.

จากการเปิดของ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เมือวันที่ 26 มิถุนายน 2566  อย.และหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมตรวจสอบยาเสพติดของกลาง น้ำหนักรวมกว่า 32 ตัน มูลค่า 21,419 ล้านบาท ที่คลังยาเสพติดของกลาง โดยได้นำไปทำลายครั้งที่ 56 ที่บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ

สำหรับของกลางคดียาเสพติดในปี 2566 มียาเสพติดของกลางที่ทำลายจำนวนรวมกว่า 32,472 กิโลกรัม จาก 192 คดี มูลค่ารวม 21,419 ล้านบาท แบ่งเป็น เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) มากสุดกว่า 20,680 กิโลกรัม,เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) น้ำหนักกว่า 5,942 กิโลกรัม,คาทีน (นอร์ซูโดอีเฟดรีน) และคาทิโนน น้ำหนักกว่า 5,006 กิโลกรัม,คีตามีน น้ำหนักกว่า 364 กิโลกรัม,เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 275 กิโลกรัม,เอ็มดีเอ็มเอ น้ำหนักกว่า 85 กิโลกรัม,โคคาอีน น้ำหนักกว่า 43 กิโลกรัม,ไนเมตาซีแพม น้ำหนักกว่า 22 กิโลกรัม และ ฝิ่น น้ำหนักกว่า 6 กิโลกรัม

ทั้งนี้ก่อนที่จะนำยาเสพติดของกลางไปทำลาย คณะทำงานทำลายยาเสพติของกลาง ด้านตรวจรับ ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองทัพบก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะต้องตรวจสอบยาเสพติดของกลาง เพื่อให้ทราบน้ำหนัก ลักษณะ และประเภทของยาเสพติด ซึ่งในการทำลายยาเสพติดครั้งนี้ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NG) ในการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,200 องศาเซลเซียส พร้อมทั้งระบบควบคุมสารมลพิษที่เหลือจากการทำลายที่ทันสมัย มั่นใจได้ว่าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ตรงตามมาตรฐานสากล US EPA ในการกำจัดขยะอุตสาหกรรม

            “ยาบ้า”ในโลกออนไลน์

            นางสาวกนิษฐา ไทยกล้า นักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดผลวิจัย “การตลาด และการขายยาเสพติดบนอินเทอร์เน็ตในปี 2565″ ว่า ตลาดยาเสพติดในโลกออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งไอซ์ ยาอี คีตามีน เฮโรอีน ยาบ้า และกัญชา รวมทั้งยารักษาโรคแบบผิดแผน เช่น กลุ่มยาแก้ปวด ทรามาดอล ทินดอล อนาดอล กลุ่มยากล่อมประสาท และยานอนหลับ ยาแก้แพ้และยาแก้ไอ โดยตลาดยาเสพติดในโซเชียล ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ค้ารายย่อยกระจายในหลายแพลตฟอร์ม ที่ผ่านมาพบจำนวนผู้ค้าฯ รายใหม่เพิ่มสูงขึ้นมาก มีการพัฒนารูปแบบขายส่ง-ขายปลีก เปิดรับตัวแทนรายย่อย รับตัวแทนส่ง จัดหาเอเยนต์กระจายสินค้าเปิดรับคนส่งยอด คนเก็บเงิน หรือ “เด็กวิ่ง” ขยายแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มช่องทางการซื้อขายไม่ต่างจากการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ปกติ จัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นการซื้อ เช่น โปรวันเกิด แจกให้ทดลอง ลดราคาช่วงเทศกาล หรือวาระสำคัญ ขายพ่วง สะสมแต้ม จัดส่งฟรี รับประกันความเมา และเก็บเงินปลายทาง

ซึ่งการใช้ พ.ร.บ.มาตรการยึดทรัพย์ฯ คดียาเสพติดและการเข้าจับกุมกลุ่มผู้ค้าฯ อาจใช้ไม่ได้กับ ผู้ค้าฯอวตาร ผลวิจัยระบุว่า การซื้อ-ขายยาฯ ในโลกออนไลน์ได้พัฒนาตามเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

มีข้อยกเว้นคือ ไม่มีการชำระเงินผ่านเน็ตแบงค์ หรือการโอนเงินออนไลน์ เนื่องเกรงเจ้าหน้าที่จะสอบสวนขยายผลเห็นเส้นทางธุรกรรมการเงิน จนนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์สิน

“ในปี 2566 ผู้เสพและผู้ค้าฯ จะใช้วิธีการแยบยลกว่าเดิม ด้วยการจ่ายผ่านแอปฯ กระเป๋าเงินออนไลน์ หรือ app wallet ซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ไปอีกระดับหนึ่ง ส่วนการจ่ายด้วย เหรียญบิตคอยน์ หรือเหรียญคริปโต มีบ้างแต่ไม่ได้รับความนิยมสำหรับพื้นที่เฝ้าจับตาและพบว่ามีผู้ค้าฯ ในโลกออนไลน์ ซึ่งมีที่พักอาศัยชัดเจนอยู่ประมาณ 40 จังหวัด และพื้นที่โพสต์ซื้อขายยาเสพติดมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี นนทบุรี พิษณุโลก และกาญจนบุรี”

ข้อมูลการวิจัยระบุ ตลาดยาเสพติดบนโลกอินเทอร์เนตในปี 2564 มีการซื้อ-ขาย ยาบ้า ยาอี และ คีตามีน สูงสุด ผู้ค้ายาฯ มีผู้ติดตามมากกว่า 1,000 บัญชี ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของผู้ติดตามเพิ่มขึ้น และทำให้เห็นโพสต์ของผู้ขายมากขึ้น ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนซื้อและคนขายฯ จึงขยายตาม ขณะในปี 2565 พบว่าเฮโรอีน ยาบ้า ยาอี และไอซ์ เป็นยาเสพติดที่ตลาดออนไลน์มีความต้องการสูง ในปี 2566 แม้จะพบว่ามีการใช้ ไอซ์ ยาบ้า ยาอี ยาเค แต่เห็ดเมา ซึ่งเป็นยาเสพติดตัวใหม่ มีฤทธิ์รุนแรง หากนำไปผสมกับยาเสพติดประเภทอื่น จึงต้องเฝ้าระวังและควรจับตาเป็นพิเศษ ตลาดยาเสพติดบนโลกออนไลน์ เป็นการขยายฐานซื้อ-ขายยาจากออนกราวน์ สู่ตลาดในโลกยุคดิจิทัล ยาเสพติดส่วนใหญ่นำเข้าจากเมียนมา ยาบ้า ไอซ์ แหล่งผลิตไม่ใช่โรงงานขนาดใหญ่ แต่ทำใน “ซูเปอร์แล็บ”หรือห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก แหล่งซื้อขายหลักยังนำเข้าจากประเทศเพื่อน

แม้จะพบรายงานการเสียชีวิตของผู้ใช้ค็อกเทลยาเสพติด แต่ความต้องการใช้ยังมีสูง โดยผู้เสพจะสั่งซื้อจากโลกออนไลน์ และนำไปผสมกับยาเสพติดประเภทกลุ่มยานอนหลับ หรือยาออกฤทธิ์กระตุ้นหลอนประสาท ข้อมูลจากการวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดยาเสพติดในโลกออนไลน์ และผู้ค้ายาฯ ได้ก้าวหน้าไปหลายช่วงตัว โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐตามไม่ทัน ผู้ค้าฯ มีวิธีทำคอนเทนต์ หลากหลาย กระตุ้นความรับรู้ อยากลองนำไปสู่การซื้อและการเสพ การเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ หากนำไปใช้ในทางบวกคือ โอกาสทางการค้า ในทางกลับกัน ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิดก็สร้างความหายนะต่อตัวเองและสังคม และหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามที่คืบคลานเข้ามาเงียบๆ ปล่อยให้มีการซื้อขายยาเสพติดอยู่ในมุมมืดของตลาดในโลกออนไลน์ ก็ยากจะปราบให้สิ้นซาก (ที่มา : Thai PBS)

“บัญชีม้า” เครื่องมืออาชญากรสุดฮิต

เนื่องจากเป็นภัยมหันต์อยู่ในขณะนี้ ล่าสุด “กรมประชาสัมพันธ์” ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ “บัญชีม้า” หรือ “ซิมม้า” เครื่องมือประกอบการก่อเหตุที่สำคัญของเหล่ามิจฉาชีพ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถใช้เป็นทริคเอาตัวรอดจากการตกเป็นเหยื่อได้ พร้อมเปิดโทษหนักทั้งปรับและจำคุก ใครที่คิดจะอาสารับงานนี้ คงต้องระวังให้มากๆ เรื่องนี้ต้องเตือนดังๆ ด้วยความหวังดี

          “บัญชีม้า” คือ บัญชีที่ถูกเปิดเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น นำไปใช้ทำเรื่องผิดกฎหมาย หรือเอาไว้ใช้สำหรับถ่าย เท หรือใช้ในการฟอกเงิน โดยบัญชีม้าคนที่ถือครองบัญชีมักจะไม่ใช้เจ้าของตัวจริง แต่จะเป็นของมิจฉาชีพนำไปใช้ ซึ่งส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะใช้วิธีการจ้างวานคนทั่ว ๆ ไปให้ทำการเปิดบัญชีธนาคาร โดยให้เงินค่าจ้างแล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักมองหาเหยื่อที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือคนสูงอายุ เพราะใช้เงินเป็นตัวหลอกล่อให้ตกหลุมพราง หรืออีกวิธีก็คือการสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชี โดยการขโมยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และหมายเลขบัตรประชาชนจำนวน 13 หลัก แล้วนำไปเปิดบัญชีออนไลน์ กว่าจะเจ้าของข้อมูลจะรู้ตัว ก็สายไปเสียแล้ว บัญชีม้าคืออะไร

          “บัญชีม้า” คือ บัญชีที่ตัวแทนในการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอน รับโอน หรือชำระเงิน เป็นต้น ซึ่งการมีบัญชีม้าจะสามารถช่วยปิดบังตัวตนที่แท้จริงของผู้ดำเนินธุรกรรมได้

อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วคนธรรมดาส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มีการเปิดบัญชีม้าดังกล่าวกัน แต่ผู้ที่ใช้ส่วนใหญ่คือกลุ่ม “มิจฉาชีพ” เพื่อใช้ปกปิดตัวตนที่แท้จริงสำหรับก่อเหตุหรือกระทำความผิด ด้วยเหตุนี้ กลลวงมิจฉาชีพแทบจะทุกรูปแบบจึงมักมีการใช้บัญชีม้าประกอบด้วยเสมอ

ยกตัวอย่างเช่น แก๊งหลอกลวงคอลเซ็นเตอร์ ที่กำลังระบาดหนักในปัจจุบัน บัญชีม้า ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการก่อเหตุ โดยเมื่อมีการหลอกลวงให้คนโอนเงินได้สำเร็จ ส่วนใหญ่แล้วบัญชีที่เหยื่อโอนเงินไปนั้น มักไม่ใช่ของเจ้าตัว แต่เป็นบัญชีของบุคคลที่สามหรือบัญชีม้านั่นเอง

 

 

            อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย นิยามความหมายคำว่า บัญชีม้าไว้ว่า 

          “บัญชีม้า” คือ บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ที่นำมาใช้เป็นช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การถ่ายโอนเงิน การรับเงินการโอนเงิน ซึ่งเงินที่ได้มาจากการกระทำผิด จุดประสงค์การเปิดบัญชีม้าคือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัวผู้กระทำผิดได้

          การเปิดบัญชีม้าในปัจจุบันเป็นการจ้างให้บุคคลอื่นมาเปิดบัญชีแทน หรือรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไป มีการขายบัญชีเงินฝากธนาคารอย่างเปิดเผย ตั้งแต่ราคา 800 บาท จนถึง 20,000 บาท โดยผู้ที่จะขายบัญชีม้าจะต้องมีการส่งมอบเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ซิมการ์ดโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีไปผูกกับ mobile banking และทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทันที

ปัจจุบัน “บัญชีม้า” ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกง การพนัน ยาเสพติด และความผิดอื่นๆ กรณีที่พบเห็นมากที่สุด คือ การหลอกให้กู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ต่าง ๆ และผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ รวมไปถึงแก๊งคอลเซนเตอร์ที่โทรศัพท์มาหลอกลวง หว่านล้อม ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และทำการโอนเงินไปยังบัญชีม้าของมิจฉาชีพ

            “บัญชีม้า” สุดอันตรายอย่างไร!?!

มิจฉาชีพส่วนใหญ่มักมีกลอุบายในการโกงและทำงานกันเป็นขบวนการ ส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักมีบัญชีม้าหลายบัญชี เพื่อใช้การโอนเงินส่งต่อกันเป็นทอดๆ จากอีกหนึ่งบัญชีสู่อีกหนึ่งบัญชี อาจมีการส่งต่อมากกว่า 4-5 บัญชี เพื่อป้องกันตัวเองจากการตรวจสอบของตำรวจหรือการถูกอายัดเงิน

            จับกลลวงมิจฉาชีพด้วยบัญชีม้า : หลายครั้งมิจฉาชีพมักเข้ามาด้วยการแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ทำให้หลายคนตกหลุมพรางแล้วตามที่มิจฉาชีพบอกด้วยความกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีตามที่ถูกข่มขู่ อาทิ การถูกสั่งให้โอนเงินมาเพื่อตรวจสอบต่างๆ มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น

ทั้งนี้หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า หน่วยงานราชการและเอกชนส่วนใหญ่มักจะมีการส่งหนังสือหรือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาชี้แจงด้วยเสมอ หากเกิดเหตุการณ์ต้องสงสัยขึ้นกับทรัพย์สินหรือเงินของบุคคลใดก็ตาม และที่สำคัญหากต้องมีการโอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ  บัญชีที่ใช้ก็มักเป็นบัญชีของหน่วยงาน ไม่ใช่บัญชีบัญชีส่วนบุคคล

ดังนั้นการจับสังเกตบัญชีม้า จึงสามารถใช้เป็นทริกในการจับกลลวงของมิจฉาชีพได้ เพราะถึงแม้จะมีการแอบอ้างเป็นหน่วยงานใดก็ตาม บัญชีม้าที่เหล่ามิจฉาชีพใช้กันนั้นมักจะเป็นบัญชีส่วนบุคคลเสมอ

บทลงโทษ “บัญชีม้า”

พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          จากที่กล่าวข้างต้น ทำให้การจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของตำรวจ จึงต้องมีการระงับการรับจ้างเปิดบัญชีม้า เพื่อให้มิจฉาชีพทำงานได้ยากขึ้น

การระงับการเปิดบัญชีม้านั้น สามารถทำได้ผ่านการเอาผิดทางกฎหมาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดฐานฉ้อโกงบุคคลอื่น จึงเป็นความผิดที่เข้าข่าย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกสิบปีหรือถูกปรับเงินสองแสนบาท และอายัดทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อชดใช้ความผิดที่ได้ร่วมกระทำ

เพื่อป้องกันตัวเองจากการสูญเสียกับมิจฉาชีพเหล่านี้ ล่าสุดทาง พ.ต.ท.วสุเทพ ใจอินทร์ รองผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้แนะนำว่า หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ รีบรวบรวมหลักฐานแล้วเข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจให้เร็วที่สุด เพื่ออายัดเงินที่ได้โอนไปดังกล่าว

นอกจากนี้ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ได้สร้างช่องทางการแจ้งความเสียหายของประชาชนผ่านเว็บไซต์ thaipoliceonline.com เมื่อตำรวจได้รับแจ้งข้อมูลแล้วจะทำการประสานกับธนาคารให้ดำเนินการอายัดเงินดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด โดยการอายัดเงินได้ไวเท่าไร นั่นหมายถึงโอกาสการได้เงินคืนและระงับความเสียหายได้มากเท่านั้น!!

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง สามารถติดต่อศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคาร เพื่อระงับบัญชีได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 403 วันที่ 27 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566

หน้า 2-3 

สงครามม้า

“ยาม้า-บัญชีม้า”

มะเร็งร้ายในสังคมไทยยุคดิจิทัล

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์สัปดาห์ ฉบับที่ ๔๐๓ วันที่ ๒๗ ตุลาคม – ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
https://book.bangkok-today.com/books/tznp/#p=1

(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments

Related post