Digiqole ad

“สคค.” จัดสัมมนาสร้างความรู้-ความเข้าใจ เรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

 “สคค.” จัดสัมมนาสร้างความรู้-ความเข้าใจ เรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
Social sharing

Digiqole ad

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผลการสัมมนาวิชาการสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หัวข้อ “คุ้มครองการเงินไทยในยุค Next Normal” ครั้งที่ 4/2565 ที่จัดขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 เวลา 08.00 – 12.30 น.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจในประเด็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ทั้งในด้านการคุ้มครองเงินฝาก การตรวจสอบข้อมูลเครดิต การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ผลิตภัณฑ์การลงทุน และการค้ำประกันสินเชื่อแก่ SMEs เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจำนวน 126 คน ประกอบด้วยประชาชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร โดยมีนางสาวสุภัค ไชยวรรณ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ บทบาทของกระทรวงการคลังกับนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน บทบาทของกระทรวงการคลังในการดำเนินนโยบายด้านการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงินเพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ระบบการเงินของประเทศทั้งในด้านการคุ้มครองเงินฝาก การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาและการกำกับดูแลระบบการประกันภัย

การสัมมนาดังกล่าว ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 1) นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) 2) นายธฤต ศรีอรุโณทัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด 3) นางสาวรวิวรรณ์ ศิริเกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 4) นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และ 5) นายมโนฑ ศรีพรมทอง รักษาการผู้จัดการเขต สำนักงานเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บสย. โดยมีนายประยุทธ ไหวดี เศรษฐกรปฏิบัติการ กองนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญของการสัมมนา ประกอบด้วย

1) ระบบการคุ้มครองเงินฝากในภาพรวม และบทบาทหน้าที่ของ สคฝ. ด้านการคุ้มครองเงินฝาก เช่น การให้วงเงินคุ้มครองจำนวน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครอง ประโยชน์ของการคุ้มครองเงินฝาก การจ่ายคืนเงินฝากผ่านพร้อมเพย์หรือเช็คทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน เป็นต้น ซึ่งวงเงินคุ้มครองดังกล่าวสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินเต็มจำนวนได้มากกว่าร้อยละ 98 ของผู้ฝากเงินทั้งหมด ส่วนผู้ฝากที่มีเงินเกินกว่าวงเงินคุ้มครองจะได้รับเงินคืนเพิ่มเติมภายหลังจากการชำระบัญชี นอกจากนี้ สคฝ. ยังได้เสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อในระยะยาว พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า สคฝ. ไม่เรียกเก็บค่าคุ้มครองเงินฝากและไม่โทรสอบถามข้อมูลจากผู้ฝากเงิน
โดยประชาชนสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก สคฝ. ได้ที่สายด่วน 1158

2) การดำเนินงานและกลไกการกำกับดูแลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ประกอบด้วย การทำความเข้าใจพื้นฐานและข้อมูลที่ใช้พิจารณาการกู้เงิน ข้อมูลเครดิตซึ่งสะท้อนจากประวัติการชำระหนี้และการผิดนัดชำระหนี้ของบุคคล วิธีการทำความเข้าใจรายงานข้อมูลเครดิต โดยข้อมูลเครดิตที่จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรมี 2 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลที่บ่งชี้ตัวตนของลูกค้า และข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติและประวัติการชำระสินเชื่อ ซึ่งเก็บข้อมูลไว้ย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี ยกเว้นลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน จะมีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลเครดิตเป็นระยะเวลานานกว่า เพราะสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลของลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ต่อไปอีก 5 ปี นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครดิตบูโรไม่ได้จัดเก็บข้อมูลบางประเภท เช่น ผู้ค้ำประกัน ข้อมูลรายได้ ข้อมูลบัญชีเงินฝาก เป็นต้น พร้อมทั้งแนะนำวิธีการตรวจสอบเครดิตบูโรด้วยตนเองผ่านทางออนไลน์แอปพลิเคชัน ‘‘ทางรัฐ’’ หรือตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ (ตู้คีออส) และควรหมั่นตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเองปีละ 1 – 2 ครั้ง

3) การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุผลและประโยชน์จากการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ภัยทางการเงิน และกระบวนการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของ ธปท. ประกอบด้วย งานให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) สายด่วน 1213 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถิติภาพรวมการให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด เนื่องจากมีจำนวนประชากรเฉลี่ยสูงกว่าและมีผู้ขอสินเชื่อรายย่อยจำนวนมาก โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเรื่องบริการด้านสินเชื่อ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น นอกจากนี้ ธปท. ยังส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินในช่วงวิกฤตโควิดผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนซึ่งเป็นบริการให้คำปรึกษาเรื่องการแก้ไขหนี้และความรู้ทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่องในปี 2565-2566 เช่น โครงการพักทรัพย์ พักหนี้
ซึ่งเป็นการโอนทรัพย์ชำระหนี้โดยให้สิทธิซื้อคืน เป็นต้น และส่งเสริมการกำกับดูแลสถาบันการเงินในด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม ตลอดจนให้คำแนะนำในการป้องกันภัยทางการเงิน
ในปัจจุบัน

4) การลงทุนเพื่อความมั่นคงทางการเงิน มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนไทยในภาพรวม ความสำคัญของการลงทุน และการเริ่มลงทุนด้วยหลัก 3 รู้ ได้แก่ 1) รู้เรา คือ รู้ความสามารถของตนในการรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับใดและรู้เป้าหมายการเงิน 2) รู้เขา คือ รู้จักผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าไปลงทุนว่ามีการจ่ายผลตอบแทนและความเสี่ยงระดับใด และ 3) รู้ระวัง คือ รู้จักวิธีปกป้องเงินออมจากภัยการเงิน โดยยกตัวอย่างภัยกลโกงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การล้มกระดานซึ่งเป็นกลโกงที่พบได้บ่อยในสินทรัพย์ดิจิทัล เว็บไซต์ปลอม เป็นต้น รวมถึงได้ให้ความรู้เกี่ยวกับประเภททรัพย์สินทางการเงิน เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ กองทุนรวม สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. แอปพลิเคชัน “SEC Check First” ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสายด่วนได้ที่ 1207 และท้ายที่สุดได้ย้ำว่าควรกระจายความเสี่ยงโดยเลือกลงทุนให้มีความหลากหลาย ไม่ควรทุ่มการลงทุนในทรัพย์สินประเภทเดียว

5) บทบาทและภารกิจของ บสย. ในการให้บริการค้ำประกันสินเชื่อแก่ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม โดย SMEs ดังกล่าวต้องผ่านการคัดกรองความเสี่ยงตามเกณฑ์ที่ บสย. กำหนด จากนั้น บสย. จะพิจารณาคำขอค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับการอนุมัติสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องวงเงิน ค่าธรรมเนียม และประเภทธุรกิจของลูกค้า

โดยสรุป การสัมมนาวิชาการสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน อันจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

Facebook Comments


Social sharing

Related post