Digiqole ad

“ศ.ดร.บังอร” อธิการบดี มกธ.ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ เปิดโครงการ “ศิลปินในพำนัก”

 “ศ.ดร.บังอร” อธิการบดี มกธ.ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ เปิดโครงการ “ศิลปินในพำนัก”
Social sharing
Digiqole ad

ศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการศิลปินในพำนัก (Artist in residence) ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) ประจำปีพุทธศักราช 2540 ร่วมกับนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน” เพื่อผลักดันส่งเสริมให้ศิลปิน นักศึกษา รวมถึงคณาจารย์ที่สอนศิลปะได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในระดับนานาชาติ โดยมีศิลปินที่มีชื่อเสียง อาทิ ศ.เกียรติคุณสุชาติ เถาทอง เป็นต้น พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และผู้ที่สนใจมาร่วมในพิธีเปิดโครงการดังกล่าวอย่างคับคั่ง ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566
อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ยังรับมอบผลงานศิลปะร่วมสมัย “Four Element, Earth, Air, Fire & Water Series # 5” จาก ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ เพื่อให้ไว้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านศิลปะระดับนานาชาติของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งผลงานศิลปะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่เคยจัดแสดง ณ ศาลาไทย (Thai Pavilion) ของมหกรรมศิลปะนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 56 ประเทศอิตาลี
การดำเนินโครงการศิลปินในพำนักฯ ดังกล่าว

 

ดร.กมล ได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันภายใต้แรงบันดาลใจจากหนังใหญ่ตามความต้องการเสริมสร้างจินตนาการ และศักยภาพของนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินอีกด้วย


นอกจากนี้ ดร.กมล ร่วมกับคณาจารย์ นักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาหูดีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ “หนังใหญ่กับโลกแห่งความเงียบ : แสง เงา และกาลเวลาแห่งธรรมชาติ” โดยนำแรงบันดาลใจจากผลงานชุดหนังใหญ่มาสร้างสรรค์กับลักษณะของแสงและเงาของดวงอาทิตย์ และกาลเวลา อีกทั้งในเวลากลางคืนก็สามารถใช้แสงสีส่องให้เกิดแสงเงาตกทอดได้ด้วย โดยโครงสร้างภายในผลงานศิลปะจะใช้รูปทรงของหนังใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยที่ใช้เป็นสื่อแสดงออกร่วมกับเรื่องราวในยุคปัจจุบัน และอนาคต


การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันของศิลปินแห่งชาติ นักศึกษา และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีดังกล่าว จัดเป็นผลงานศิลปะขนาดใหญ่ในรูปแบบศิลปะจัดวางหลายชิ้นเฉพาะที่ (Site-specific art) ซึ่งเป็นผลงานศิลปะที่ออกแบบให้ติดตั้งบริเวณอาคารของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และถือเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากองค์ความรู้สู่ภาคปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน


ทั้งนี้ ผลงานศิลปะ “หนังใหญ่กับโลกแห่งความเงียบ : แสง เงา และกาลเวลาแห่งธรรมชาติ” ได้จัดแสดงถาวรให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ ณ อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

Facebook Comments

Related post