Digiqole ad

วิพากษ์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เห็นแอสตร้าฯ มีค่ากว่าชีวิตคนไทย

 วิพากษ์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เห็นแอสตร้าฯ มีค่ากว่าชีวิตคนไทย
Social sharing

Digiqole ad

นอกจากต้องเผชิญกับการเมืองนอกสภาที่มีม็อบขับไล่รายวันแล้ว  การเมืองในสภาจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งเมื่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และอีก 4 รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลด้วยข้อกล่าวหาที่แตกต่างกันไป

แต่ข้อกล่าวหาสำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์กับนายอนุทินจะถูกซักฟอกหนักและอยู่ในความสนใจของประชาชนก็คือการจัดหาวัคซีนที่มีพฤติการณ์ปิดบังอําพราง ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ทั่วถึง เลือกปฏิบัติ และไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด

การอภิปรายของฝ่ายค้านคงไม่อาจทำให้รัฐบาลล้มได้เพราะคะแนนเสียงที่แตกต่าง  แต่จะเป็นโอกาสในการแสดงข้อมูล   เปิดเผยข้อเท็จจริงโดยเฉพาะความล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเฉียด 1 ล้านคน  ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมก็เกินกว่า 8,500 คน (ข้อมูล ณ วันที่19สิงหาคม2564)

 

ประยุทธ์เจ็บปวดและเศร้าใจ

แม้รัฐบาลจะพยายามประชาสัมพันธ์ “ยอดผู้หายป่วย” ที่เริ่มมากกว่า “ยอดผู้ป่วยใหม่” อันเป็นสัญญาณบวก  แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่ขยับเกินระดับ 300 คนก็มีผลให้พล.อ.ประยุทธ์  ต้องโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  “ผมรับรู้ความเจ็บปวดของทุกท่านที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องปิดกิจการ หรือผู้ที่ต้องสูญเสียรายได้จากมาตรการต่าง ๆของรัฐ หรือแม้แต่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากโรคร้ายนี้ ผมเจ็บปวดและเศร้าใจทุกครั้งที่ได้อ่านข่าวผู้เสียชีวิตจากโควิด และเป็นสิ่งเตือนใจผมตลอดเวลาว่าจะต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ ในการพยายามหาหนทางทุกๆ ทางที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงให้มากที่สุด”

นายกรัฐมนตรีบอกด้วยว่าการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นจะสามารถลดยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้มากขึ้น และอาจจะผ่านจุดสูงสุดของยอดการติดเชื้อได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม  โดยจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องได้ในต้นเดือนกันยายน

 

หมอมนูญหนุนคุมส่งออกวัคซีน

แต่ในความคิดเห็นของ “หมอมนูญ” หรือ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ  ได้แสดงความคิดเห็นทางเฟสบุ๊คว่า  ต่อให้มีมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นแค่ไหนก็ไม่สามารถหยุดเชื้อได้  ตอนนี้ “บ้าน” กลับเป็นแหล่งระบาดที่สำคัญที่สุด   จึงควรผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางอย่างได้บ้าง ก่อนที่เศรษฐกิจจะเสียหายมากไปกว่านี้

หมอมนูญระบุว่าใน 100 วันข้างหน้าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แท้จริงของประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน หมายถึงคนไทยครึ่งประเทศจะติดเชื้อ และจะมีคนไทยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 3 หมื่นคน

วิธีเดียวที่จะลดจำนวนผู้ป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาลและลดจำนวนคนเสียชีวิต คือการฉีดวัคซีน และต้องเร่งฉีดให้เร็วที่สุดภายใน 100 วันข้างหน้า ไม่ใช่รอถึงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยปูพรมฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้คนไทยอีก 40-45 ล้านคน ฉีดวันละ 5 แสนคน โดยให้เข็มแรกทุกคนไปก่อน เมื่อมีวัคซีนเพิ่ม ค่อยให้เข็ม 2 ในภายหลัง

ผมเห็นด้วยกับ ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯงดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตที่ Siam Bioscience ให้ประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว

           ขณะนี้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังการผลิตวัคซีนประมาณเดือนละ 10-15 ล้านโดส หากใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.งดการส่งออก ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีน 30-45 ล้านโดสในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ถ้าทำเช่นนั้นได้ เรามีโอกาสที่จะลดความสูญเสีย ลดจำนวนผู้ป่วยเข้านอนในโรงพยาบาลและลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 80

หมอมนูญสนับสนุนเสียงเรียกร้องของหลายๆคนก่อนหน้านี้ที่ต้องการให้รัฐบาลใช้อำนาจทางกฎหมายควบคุมการส่งออกวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์  เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีนมากพอที่จะเอามาใช้แก้ไขวิกฤตการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่  โดยกำลังมีการรณรงค์ล่ารายชื่อเสนอต่อรัฐบาล  แต่ไม่น่าเชื่อว่าในมุมมองของนักกฎหมายชื่อดังกลับเห็นต่าง

บวรศักดิ์ชี้6ข้อเสีย

ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558  อดีตรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า  หากรัฐบาลใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ  สั่งกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะมีข้อดีคือ

  1. จะมีวัคซีนให้ฉีดเพิ่มขึ้น 2. ผู้ป่วยอาการหนักอาจน้อยลง แต่การระบาดจะลดลงหรือหมดไปยังไม่รู้แน่ เพราะหลายประเทศที่ฉีดเกินครึ่งประชากร ก็กลับมาติดใหม่มากมายเช่นอิสราเอล อังกฤษ  3. หมอและบุคคลากรการแพทย์คงเบาแรงลง  4. ห้องไอซียู เตียง เครื่องช่วยหายใจคงเพิ่มขึ้น

ดร.บวรศักดิ์ระบุข้อดีสั้นๆแต่สาธยายข้อเสียอย่างละเอียด 6 ข้อคือ

  1. ความรับผิดทางหลักศาสนาที่ยึด “สัจจะ”เป็นคุณธรรมสำคัญ รัฐบาลจะถูกด่าว่า “ตระบัดสัตย์”

2.ความรับผิดในแง่รัฐธรรมนูญ รัฐบาลกำลังจะละเมิดหลักนิติธรรมตามมาตรา3วรรค2 และมาตรา26และละเมิดหน้าที่ของรัฐตามมาตรา53 ที่กำหนดให้ “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” เพราะแทนที่จะเคารพกฎหมายเกี่ยวกับสัญญา รัฐกลับละเมิดสัญญาเสียเอง อันถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

3.ความรับผิดทางกฎหมายปกครอง เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายเดียวไปกระทบสัญญาทำให้บริษัทสยามไบโอไซเอนส์ได้รับความเสียหายเพราะส่งมอบวัคซีนให้คู่สัญญาในต่างประเทศไม่ได้ ถูกคู่สัญญานั้นเรียกค่าเสียหายเท่าใด รัฐบาลไทยก็ต้องถูกศาลปกครองพิพากษาให้ใช้ค่าเสียหายนั้นให้บริษัทเต็มจำนวน

4.ความรับผิดระหว่างประเทศ  การคุมส่งออกวัคซีนจะทำให้ไทยเป็นแกะดำตัวใหญ่ในอาเซียนและในวงการระหว่างประเทศ

5.ความน่าเชื่อถือในประเทศไทยในการลงทุนจะหายวับไป เพราะไม่รักษาสัญญา ไม่มีสัจจะ ไม่น่าลงทุน

6.ต่อไปสยามไบโอฯไปทำสัญญากับใคร ก็ไม่มีใครอยากคบค้าด้วย เพราะทำแล้วรักษาสัญญาไม่ได้

อ่านข้อคิดเห็นของนักกฎหมายผู้ยิ่งใหญ่คนนี้แล้วสรุปเป็นอื่นไม่ได้ว่า  ดร.บวรศักดิ์เป็นห่วงหน้าตาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน  เป็นห่วงผลประกอบการและชื่อเสียงของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มากกว่าบริษัทห้างร้านและผู้ประกอบการนับหมื่นนับแสนรายที่ถูกสั่งปิดกิจการ  หรือขาดทุนป่นปี้จากการล็อคดาวน์

 

มองข้ามความตายคนไทย

นักกฎหมายผู้รับใช้ภาคการเมืองมาหลายยุคหลายสมัยท่านนี้ไม่กล่าวถึงลูกจ้างนับล้านคนที่ตกงานหรือถูกลดค่าจ้าง  ไม่กล่าวถึงนักศึกษาจบใหม่นับแสนคนที่กลายเป็นบัณฑิตเตะฝุ่นเพราะหางานทำไม่ได้  ยิ่งไปกว่านั้น ดร.บวรศักดิ์ยังมองไม่เห็นความสูญเสียของสถาบันครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 วันละกว่า 300 คน บางคนตายคาบ้าน  บางคนตายคาถนน โดยคาดหมายว่าภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ยอดผู้เสียชีวิตรวมจะมากกว่า 10,000 รายแน่

อยากให้ถามสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจะหาทางนำเข้าวัคซีนและเวชภัณฑ์เองทำไม ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคุยโม้ว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะมีให้ฉีดวันละ 1 ล้านโดสและกำลังจัดหาล่วงหน้าสำหรับปี 2565 ไว้อีกหลายสิบล้านโดส

อยากให้ไปถามความคิดเห็นภาคเอกชนว่าทำไมทนไม่ไหวต้องออกมาขับเคลื่อนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย    ขอเปิดให้มีการนำเข้า“วัคซีนทางเลือก” และผลิตยา “ฟาวิพิราเวียร์” แทนที่รัฐจะผูกขาดดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว

เหตุที่คนนอกรัฐบาลทุกฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รีบจัดการเรื่องวัคซีนเพราะขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะ “สงครามเชื้อโรค” เป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เข้าต่อสู้แล้ว  “วัคซีน”ยังเปรียบเสมือนยุทธปัจจัยในการเอาชนะเชื้อไวรัส  จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายในการให้ได้มาในภาวะเร่งด่วน

ผู้เขียนเชื่อว่าวันนี้ตัว ดร.บวรศักดิ์เองได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส 2 เข็มแล้ว  และอาจจะวางแผนฉีดเข็มที่ 3 เอาไว้ในอนาคตด้วย  เช่นเดียวกับคนในครอบครัวและญาติพี่น้องส่วนใหญ่ของท่านก็น่าจะได้รับวัคซีน 1 หรือ 2 เข็มแล้วตามสิทธิ์ที่ควรจะได้  ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีว่าท่านและครอบครัวอยู่ในกลุ่มปลอดภัยหากติดเชื้อแล้วจะไม่ป่วยหนักหรือเสียชีวิต

จึงอยากให้ท่านลองโพสต์เฟสบุ๊คอีกครั้งเพื่อถามเสียงประชาชนอีก 50 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน  ที่ยังต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ กินเกลือเพื่อชาติ”  ว่าเขาเหล่านั้นสนับสนุนความคิดในการควบคุมการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า  หรือยินดีที่จะอยู่กับการล็อคดาวน์ไปเรื่อยๆเพื่อให้รัฐบาลสามารถซื้อเวลาให้นานที่สุดจนกว่าจะนำเข้าวัคซีนได้ตามจำนวนที่คุยโวโอ้อวดไว้ซึ่งคงจะต้องกินเกลือและเสี่ยงติดเชื้อตายไปจนถึงกลางปีหน้า

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post