Digiqole ad

วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:25 ทีมโค้ชผนึกพลังเขียน…คิดเหมือน คิดต่าง คิดอย่าง “วินทุกเว(ที)” (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 392 วันที่ 11-17 ส.ค.66)

 วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:25 ทีมโค้ชผนึกพลังเขียน…คิดเหมือน คิดต่าง คิดอย่าง “วินทุกเว(ที)” (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 392 วันที่ 11-17 ส.ค.66)
Social sharing
Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 392 วันที่ 11-17 สิงหาคม 2566

หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:25 

เรื่อง : ทีมโค้ชวินทุกเว(ที)

คิดเหมือน คิดต่าง คิดอย่าง “วินทุกเว(ที)”

 ตอน 1 : เวทีประกวดจากยุคนั้นสู่ยุคนี้

โทรทัศน์ยังมีรวมการเฉพาะกิจฉันใด ทีมโค้ชวินทุกเว(ที) ก็ย่อมมีรวมทีมเฉพาะกิจฉันนั้น ตั้งแต่ EP : 25 เป็นต้นไป (โดยยังไม่กำหนดตอนจบ) พวกเราทั้ง 4 คนขอร่วมกันแสดงมุมมองและร่วมแชร์ประสบการณ์ในยุคสมัยและช่วงวัยของตนเองสู่กันฟัง ซึ่งในตอนแรกจะกล่าวถึง “เวทีประกวดนางงาม” จากยุคก่อนที่พวกเราเริ่มดูการประกวดนางงามจนถึงในยุคสมัยนี้

อ.ปุ๋ย-อนุรี อนิลบล เปิดประเด็นก่อนเกี่ยวกับเรื่องการแต่งหน้าและทำผมตามที่ตนเองสันทัดกรณีโดยเล่าว่า การแต่งหน้าและทำผมในการประกวดยุคแรกจะเหมือนกันหมด อย่างเช่น ทรงผมก็จะเป็นฟาห์ร่างูเห่า ที่นิยมเรียกกันแบบนั้นเพราะเหมือนงูเห่าแผ่แม่เบี้ย โทนหน้าออกขาวผ่องขึ้นแสงไฟที่สาดส่องมาก ส่วนปากก็จะทาลิปสติกสีบานเย็น เขียนคิ้วก็จะออกปลายชี้ ๆ แต่ไม่ว่าแต่งตัวชุดอะไรทรงผมและหน้ายังคงเหมือนเดิม

ยุคต่อมาพอมีสปอนเซอร์เข้ามาให้การสนับสนุน ทรงผมและหน้าตาจะมีคอนเซ็ปต์มากยิ่งขึ้น จะมีการประชุมทีมงานช่างผมและช่างแต่งหน้าซึ่งมาจากสปอนเซอร์คนละที่กันก่อนที่จะจะเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ ของกองประกวด แล้วกำหนดออกมาที่เรียกว่า LOOKBOOK” โดยจะระบุในแต่ละวันแต่ละกิจกรรมหรือแต่ละรอบการประกวดว่าต้องแต่งแบบไหน เช่น รอบชุดว่ายน้ำ รอบชุดราตรี และรอบชุดถ่ายทำ VTR ซึ่งแต่งแล้วนางงามจะเหมือนกันหมด (วัดที่ความสวยกันไปเลย) ไม่มีใครโดดออกมา ซึ่งถ้าใครโดดออกมาจะรู้เลยว่าพี่เลี้ยงแอบเติมให้ ทางทีมงานจะสั่งลบออกทำให้เหมือนเดิม

 

 

           “พอมาถึงยุคปัจจุบันเวทีประกวดนางงามส่วนใหญ่ จะไม่มีสปอนเซอร์เครื่องสำอางและทำผมแล้ว ช่างกองประกวดก็ไม่มี นางงามและทีมต้องหากันมาเอง พูดให้ดีหน่อยคือ ทางเวทีให้อิสระนางงามสวยได้อย่างเต็มที่ พี่เลี้ยงหรือทีมงานต้องการให้นางงามของตัวเองเป็นแบบไหนก็ฟาดกันได้อย่างเต็มเหนี่ยวด้วยคอนเซ็ปต์ตามแบบฉบับตัวเอง จึงทำให้นางงาม มีทั้งสวยโดดไป สวยพอดี และสวยเดี้ยง ให้นึกถึงรสชาติอาหาร รสเข้มข้น รสกลมกล่อม รสจืด แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ย่อมต้องการรสชาติที่กลมกล่อม นางงามบางคนโครงหน้าดีอยู่แล้ว เพียงแค่แต่งนิดหน่อยก็สวยแล้ว ช่างแต่งหน้าบางคนองค์ลงฟาดหน้านางงามจากสาวประเภทหนึ่งกลายเป็นสาวประเภทสองไปเสียอีก แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังมองเห็นข้อดีตรงที่ว่า ในการประกวด โดยเฉพาะในรอบชุดประจำจังหวัดหรือชุดประจำชาติจะแยกออกไปอีก 1 วัน ก่อนรอบตัดเชือก จึงให้พี่เลี้ยงหรือทีมงาน จัดเต็ม จัดหนัก จัดแน่น กันอย่างเต็มที่ไม่ต้องห่วงว่าจะแปลงหน้าเปลี่ยนชุดอื่นไม่ทัน อีกทั้งต้องบอกว่า ยุคนี้เราได้ดูประกวดนางงามไปพร้อมกับการประกวดแต่งหน้า ทำผม และประกวดชุดราตรี ไปด้วย คือแข่งกันเต็มที่ไม่มีใครยอมใคร”

ทางด้าน กูรูหนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม สะท้อนถึงมุมมองรูปแบบการดำเนินงานของเวทีการประกวดว่า การประกวดสมัยก่อน โดยเฉพาะนางงามในยุคที่ช่อง 3 และ ช่อง 7 จัด จะเห็นว่า ผู้เข้าประกวดซึ่งใคร ๆ สามารถสมัครเข้าประกวดได้หมดไม่ว่าจะยากดีมีจน อยู่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด เพียงแค่หิ้วกระเป๋าใบเล็ก ๆ เท่านั้น โดยกองประกวดได้จัดเตรียมเอาไว้ให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า ชุดว่ายน้ำ ชุดราตรี รวมทั้งอาหารการกินและที่พักโรงแรมระดับห้าดาว แพทย์และพยาบาลพร้อมดูแล รวมทั้งช่างแต่งหน้าช่างทำผมก็มีให้ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สวยหรือสวยสู้คนอื่นไม่ได้ ทุกอย่างทำตามมาตรฐานของ LOOKBOOK” ที่ทางกองประกวดเตรียมเอาไว้ให้ล่วงหน้าตั้งแต่วันแรกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ไม่มีใครได้รับสิทธิพิเศษจนดูกลายเป็น “เด็กเส้น”

มาถึงการประกวดนางงามในยุคนี้ โดยเฉพาะเวทีใหญ่ ๆ มองว่า มีบริบทที่ชัดเจนในเรื่องของธุรกิจมากขึ้น เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจล้วนแต่มุ่งหวังในเรื่องผลกำไรทั้งนั้น อะไรที่จะสร้างเม็ดเงินได้ก็ทำ อะไรที่ประหยัดได้ประหยัด จึงไม่แปลกที่หลายเวทีไม่มีช่างแต่งหน้าช่างทำผมประจำกองประกวดให้เหมือนสมัยก่อน เพราะหากมีสปอนเซอร์ ๆ ก็จะสนับสนุนเฉพาะแค่บุคลากรเท่านั้น ส่วนค่าอาหารการกินและที่พักตลอดการประกวด ทางกองประกวดต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ยิ่งถ้าหากนางงามเดินทางไปเก็บตัวในต่างจังหวัด จะมีค่าเครื่องบินอีกต่างหาก ซึ่งดูเหมือนว่าจะหมดยุคที่สายการบินเป็นสปอนเซอร์แล้ว เนื่องจากเกิดวิกฤตในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สายการบินต่าง ๆ จึงได้หยุดการให้บริการ ทำให้รายได้หายไปอย่างมหาศาล

“ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับนางงามทั่วไป ทำให้ไม่สามารลุยเดี่ยวมาสมัคร เพราะต้องมาภาระค่าใช้จ่ายอันหนักอึ้ง ไหนจะต้องแต่งหน้า ทำผม หาชุดในการทำกิจกรรมเก็บตัวและชุดในรอบประกวดต่าง ๆ  ล้วนแต่ต้องใช้เงินทั้งนั้น จึงต้องมีคนหรือทีมมาซัพพอร์ตเกือบทุกด้าน หากนางงามคนไหนไม่มีทีมงานมาสนับสนุนจะเห็นคือ “การถอนตัว” แล้วเพื่อเป็นการไม่ให้ผิดกฎ กติกา มารยาท สร้างความเสียหายให้กับกองประกวดที่อาจถูกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้ จึงมักอ้างเหตุผลว่า สุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยกะทันหัน ทางหน่วยงาน/องค์กร/สถาบันไม่อนุญาต เป็นต้น” (ขอขอบคุณภาพ : อินเทอร์เน็ต,เพจ Thailand-beauty pageant,เพจนางงามไทย, เพจ Miss Universe Thailand)

(โปรดติดตามอ่านต่อฉบับหน้า)

เรื่อง : ทีมโค้ชวินทุกเว(ที)

เรียบเรียง : ดร.จุมพล โพธิสุวรรณ

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 392 วันที่ 11-17 สิงหาคม 2566

หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:25 

เรื่อง : ทีมโค้ชวินทุกเว(ที)

คิดเหมือน คิดต่าง คิดอย่าง “วินทุกเว(ที)”

 ตอน 1 : เวทีประกวดจากยุคนั้นสู่ยุคนี้

https://book.bangkok-today.com/books/jwjy/#p=33

สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments

Related post