
วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:24 ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ เขียนเรื่อง “ขอบคุณ” พลังยิ่งใหญ่ที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ควรมองข้าม (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 391 วันที่ 4-10 ส.ค.66)


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 391 วันที่ 4-10 สิงหาคม 2566
หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:24
เรื่อง : ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ
“ขอบคุณ” (THANK YOU) ตามความหมายของสำนักราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง คํากล่าวแสดงความรู้สึกบุญคุณ (เป็นคําที่ใช้แก่บุคคลที่เสมอกัน หรือผู้น้อยใช้แก่ผู้ใหญ่)
จั่วหัวและเกริ่นกันมาซะขนาดนี้ ต้องเป็นประเด็นสำคัญที่จะขอกล่าวถึงทีเดียวเชียวแหละ ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับน้อง ๆ เพื่อน ๆ พี่ ๆ รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพรักนับถือ มักได้ยินเสียงบ่นบ้าง ตัดพ้อน้อยอกน้อยใจกันบ้าง เกี่ยวกับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ในสมัยนี้ ที่ตนเองให้ความเมตตา ให้ความรักและเอ็นดู อีกทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้าสู่วงการบันเทิงในสาขาต่าง ๆ อาทิ นักแสดง,นักร้อง,นางงาม,นางแบบ,นายแบบ,พิธีกร และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ไฉนกลับลืมผู้ผลักดัน ทำตัวเหมือนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนไปเสียนี่
ซึ่งผู้ใหญ่ทั้งหลายคงไม่ต้องการ พวงมาลัย,ช่อดอกไม้,กระเช้าของขวัญ,ธูปเทียนแพ,บายศรี หรือสิ่งของมีมูลค่ามามอบให้ หวังเพียงแค่คำว่า “ขอบคุณ” เพียง 2 พยางค์สั้น ๆ แต่ทรงพลังและล้ำค่ายิ่งกว่าใด ๆ ไม่ว่าจะจากช่องทางใด ๆ อาทิ ด้วยวาจา และ ด้วยโซเชี่ยลมีเดีย
แต่น้อยใจไปยิ่งกว่า เมื่อส่องโซเชี่ยลมีเดียของเด็กคนนั้น ๆ ที่โพสต์ข้อความลงใน อาทิ เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม ขอบคุณทุกคนยกเว้นตัวผู้ใหญ่อย่างเรา ทั้ง ๆ ที่เป็นคนเบิกเนตรให้ แต่ถ้าจะยึดหลักของการเป็น “ผู้ให้ที่ดี” ซึ่งต้องให้โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใด ๆ คงต้องขอยกเว้น ในฐานะที่ผู้เขียนรวมทั้งทีมโค้ชวินทุกเว(ที)ก็เคยสัมผัสกับความรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน (อยู่บ่อย ๆ เสียด้วย)
เพราะอะไร !?! เพื่อไม่เป็นเยี่ยงอย่างในวันข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่อบรมสั่งสอนมาเป็นอย่างดี “อยู่ให้เป็น”ว่า ใครทำสิ่งดี ๆ อะไรให้เรา ๆ ต้องรู้จัก “ขอบคุณ” เขา โดยทันทีทันใด ไม่มีคำว่า “เดี๋ยว” หากไปแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักแบบนี้ รู้ไปถึงไหน หากทราบว่าใครคือผู้ผลักดันคงได้อายกันไปถึงนั่น
เพียงแค่กล่าวคำว่า “ขอบคุณ” คงจะไม่ทำให้ผู้พูดถึงกับชักดิ้นชักงอ และเสียชีวิตในเวลาถัดมา (ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ คงต้องขอเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมยันถึงวันฌาปนกิจศพ)
หลักการ “ขอบคุณ” ง่าย ๆ ไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจอะไรเลย ให้แบ่งกลุ่มคนที่จะ “ขอบคุณ” เป็นบุคคล/องค์กร (หน่วยงาน/สถาบัน) “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” (ไม่เกี่ยวกับการชลประทานหรือการเกษตรกรรมแต่อย่างใด)
เริ่มจาก “บุคคล/องค์กรต้นน้ำ” คือ ผู้ชักนำ,ผู้ปั้น,ผู้ชักชวน,ครู,อาจารย์,โค้ช,วิทยากร,ผู้แนะนำ,ผู้ให้คำแนะนำ,ผู้ส่งเสริมและสนับสนุน,องค์กร ฯลฯ ให้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง เด็กบางคนน่ารักขอบคุณถึงบุพการีด้วย
“บุคคล/องค์กรกลางน้ำ” เป็นกลุ่มบุคคลที่รับช่วงต่อ ซึ่งอยู่ในระหว่างทางที่จะก้าวไปสู่จุดหมายส่วนให้จะเป็นผู้สอนวิชาต่าง ๆ อาทิ สอนการแสดง, สอนการร้องเพลง,สอนเดินแบบ,สอนศิลปะการพูด,สอนบุคลิกภาพ,สอนเต้นรำ.สอนแต่งหน้า,สอนแต่งตัว,สอนทำผม,องค์กร ฯลฯ
“บุคคล/องค์กรปลายน้ำ” คือกลุ่มสุดท้ายประกอบไปด้วยต้นสังกัดที่ได้เซ็นสัญญาเข้าไปอาศัยอยู่ในร่มชายคาเพื่อรอแจ้งเกิด ซึ่งมักเรียกว่า บริษัท,ค่าย,ช่อง เป็นอาทิ
แต่ถ้าหากเด็กจะขอบคุณ ส่วนใหญ่ขอบคุณแค่บุคคล/องค์กรปลายน้ำ โดยลืมต้นน้ำกับกลางน้ำ เหตุเพราะกลุ่มปลายน้ำ (ไม้สุดท้าย) เป็นผู้มีพระเดชพระคุณ ให้ผลประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ที่ทราบนั้นเนื่องจากในยุคนี้เป็นยุคที่นิยมใช้โซเชี่ยลมีเดียเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญมาก เด็กจะโพสต์ข้อความและภาพต่าง ๆ นานาลงในนั้น แล้วเมื่ออยู่ในกระบวนการเข้าสู่ปลายน้ำ เด็กมักถูกถามกันว่า เล่นโซเชี่ยลมีเดียอะไรบ้าง อาทิ เฟซบุ๊ก,อินสตาแกรมและ TikTok เท่านั้นยังไม่พอ ถามต่ออีกด้วยว่ามียอดคนติดตาม (Follow) เท่าไหร่ ซึ่งมีส่วนช่วยพีอาร์ตัวเองและงานในอนาคตให้ปังมีคนรู้จักมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหากเด็กที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีเยี่ยม (ไม่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา) จะโพสต์ขอบคุณทุกกลุ่มบุคคล ถึงแม้ต้องพิมพ์ขอบคุณลงในโซชี่ยลมีเดียมากมายก่ายกอง แต่ก็มีความตั้งใจและเต็มใจพิมพ์ชื่อขอบคุณแบบไม่ตกหล่นแม้แต่เพียงชื่อเดียว เมื่อใดที่มีคนเข้ามาส่องเข้ามาอ่านข้อความที่โพสต์เอาไว้ จะแอบชื่นชมหรือเอาไปชมกับคนอื่นว่าเป็น “เด็กดี” นั่น นี่ โน่น ผู้ใหญ่ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเด็กเห็นแบบนั้น ได้ยินคนชมถึงหู จะรออะไรก็ “ใจฟู” กันสิ คราวนี้อาจมีงานไหลมาเทมาอีกต่างหาก
ในทางตรงกันข้ามเด็กจะถูกมองว่าเป็น “เด็กเน” (เนรคุณ) หนทางสายบันเทิงคงไม่ต้องพูดถึง “ไม่มีใครเจริญแม้แต่คนเดียว” หากดังได้แปบเดียวก็ดับ…”กมฺมุนา วตฺตตีโลโก (กัมมุนา วัตตติ โลโก) – สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”
เห็นไหมล่ะคำว่า “ขอบคุณ” นั้นช่างยิ่งใหญ่และทรงพลังมากแค่ไหน!?!
0 ดร.จุมพล โพธิสุวรรณ 0
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 391 วันที่ 4-10 สิงหาคม 2566
หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:24
เรื่อง : ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ
https://book.bangkok-today.com/books/gdzl/
(สามารถอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)