
วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:23 “อ.ปุ๋ย-อนุรี อนิลบล” เปิดมุมมอง…ถึงเวลา(ปฏิ)วัฒนาการ “ดาว-เดือน” มหา’ลัย (ตอนจบ) อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ (ฉบับที่ 390 วันที่ 28 ก.ค. – 3 ส.ค.66)


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 390 วันที่ 28 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2566
หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:23 อ.ปุ๋ย-อนุรี อนิลบล
ถึงเวลา(ปฏิ)วัฒนาการ “ดาว-เดือน” มหา’ลัย (ตอน 3)
มาต่อกันตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนจบ สำหรับการปฏิวัติและบูรณาการในมุมมองจากประสบการณ์ของตนเอง โดยจะขอเรียกว่า “(ปฏิ)วัฒนาการ” เวทีประกวดดาว-เดือน และอื่น ๆ ของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย หัวข้อที่ 4 คือ
ภาพ : Thaicatwalk
- Where: สถานการณ์หรือปัญหาเกิดขึ้นที่ใด? สถานที่หรือบริบทเป็นอย่างไร?
ขอโฟกัสไปที่เรื่อง “สถานที่” ล้วน ๆ กันเลย สถานที่การจัดประกวดดาว-เดือน และอื่น ๆ เท่าที่รวบรวมได้จากการที่ได้รับเชิญให้ไปตัดสินการประกวด แบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ 1. สถานที่อินดอร์ของวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย อาทิ หอประชุม ห้องประชุม โรงยิม 2. สถานที่เอ้าท์ดอร์ของวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย อาทิ สนามกีฬา หรือ สนามฟุตบอล 3. สถานที่ภายนอกวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย อาทิ โรงแรม และ ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้าชั้นนำ
แต่ละประเภทต่างกรรมการต่างวาระกัน อย่างประเภทแรกหมาะสำหรับนิสิต/นักศึกษาที่มีจำนวนไม่มาก เนื่องจากจำนวนคณะน้อย ข้อดีคือแอร์เย็นฉ่ำ ข้อเสียคือ บางแห่งแอร์เย็นมากถึงขั้นหนาวเลย แล้วเมื่อถูกแอร์เย็นฉ่ำชื่นอุรา คราวนี้กรรมการก็เริ่มรู้สึกง่วงนอน แม้จะมีเสียงดังตามทีก็เอาไม่อยู่ ยกเว้น กาแฟเข้ม ๆ เท่านั้นค่ะ แต่ก็มีบางแห่งใช้ไฟลท์บังคับ ให้นิสิต/นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของทุกสาขาทุกคณะเข้าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน พอคนเยอะอัดแน่นกันเป็นปลากระป๋อง อากาศที่เย็นตั้งแต่แรกก็ร้อนไปในบัดดล ก็หวั่น ๆอยู่เหมือนกันนะถ้าเกิดไฟไหม้จะหนีกันอย่างไร โดยเฉพาะห้องประชุมเล็กที่อยู่ชั้นสูงสุดของตึก/อาคาร แถมบางครั้งจัดโต๊ะคณะกรรมการติดกับลำโพง แม่เจ้า! ดังสนั่นหนวกหูมากพอเสร็จงานทำเอาหูแทบหนวกเลยทีเดียวเชียวแหละ
ประเภทที่สองเหมาะกับนิสิต/นักศึกษาที่มีหลายคณะ บางแห่งก็มีรุ่นพี่ปีต่าง ๆ มางานด้วย เลยทำดูเยอะเข้าไปอีก แต่เยอะแค่ไหนสนามกีฬาก็เอาอยู่ แต่ข้อเสียคือ ร้อนสุด ๆ กรรมการมืออาชีพจะพกพัดหรือพัดลมมือถือติดไปด้วย รวมทั้งชุดเสื้อผ้าโปร่งบาง หลวม ๆ ระบายเหงื่อได้ดี ส่วนกรรมการน้องใหม่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็แฉะกันไปตัว ก็ดันใส่ชุดสูทหรือชุดราตรีมิดชิดมานั่งอยู่กลางสนามซะงั้น ข้อเสียอีกข้อคือ การประกวดดาวเดือนมักจัดในช่วงฤดูฝนพอดี วงแตก งานต้องหยุดชะงัก ต้องวิ่งเป็นหนังอินเดียหลบฝนกันจ้าละหวั่นใต้ตึกของคณะนั้นคณะนี้ เคยมีประสบการณ์ในการวิ่งหลบฝนด้วยรองเท้าส้นเข็ม คิดดูวิ่งบนสนามหญ้าที่เปียกแฉะ เต้นบัลเล่ต์กันสนานจิต
ประเภทสุดท้ายคือ เหมาะกับสถานศึกษาที่มีสถานที่จำกัด และมีงบประมาณมากพอที่จะไปเช่านอกสถานที่ ข้อเสียหากจัดที่ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้านิสิต/นักศึกษาจะแอบแวบไปช็อปปิ้งกันอย่างสนุกสนาน แต่ถ้าหิวก็จะหาอะไรทานได้ง่าย
หมายเหตุไว้หน่อยคือ ในรายที่กรรมการขับรถส่วนตัวไปเอง ถ้าทีมงานไม่จัดหาที่จอดรถไว้ให้ก็จะหาที่จอดรถยากมาก ดังนั้นกรรมการควรต้องถามที่จอดรถ แล้วควรย้ำว่า ขอสะดวกสบายในการเดินเข้างานด้วยนะคะ เคยเจอแบบว่าเดินเข้างานไกลมาก ๆ เหงื่อนี่โซมตัว แต่หน้าตายังเป๊ะอยู่เครื่องสำอาง MTI ของเราเอาอยู่ ไม่เยิ้มไม่เละค่ะ
- Why: เหตุใดสถานการณ์หรือปัญหาจึงเกิดขึ้น อะไรคือสาเหตุหรือแรงจูงใจพื้นฐาน?
หัวข้อนี้แปลกันตรง ๆ เลยว่า “ทำไม?” ประโยคคำพูดหรือคำถามที่ขึ้นต้นประโยคคำว่า “ทำไม” ส่วนใหญ่มันคือ “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นแทบทั้งนั้น ตั้งแต่ข้อ 1-4 ก็มีปัญหาสารพัดอย่าง ซึ่งทุกฝ่ายควรต้องหาทางแก้ไข หาทางออกที่ดี ไม่ใช่มาทะเลาะกัน อย่างไรก็ตามบางแห่งก็เกิดขึ้นแล้วขึ้นอีกแบบซ้ำซาก ไม่เคยปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งมันส่งผลกระทบมายังคณะกรรมการอีกต่างหาก ซึ่งทางเราได้เคยเสนอแนะไปทุกครั้ง ทั้งในส่วนตัวของเราในฐานะที่เป็นสปอนเซอร์ด้วย เช่น ป้ายโลโก้หาย ของรางวัลหาย เป็นต้น และส่วนรวม แต่ไม่ได้นำพาเลย บางทีมันก็น่าโมโห ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะผิดพลาดเลย
- How: สถานการณ์หรือปัญหาได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขอย่างไร? ขั้นตอนใดที่กำลังดำเนินการหรือสามารถดำเนินการเพื่อลดปัญหาได้
โดยขอยกแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด (Problem Solving Skills) ด้วย 6 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่ www.plookfriends.com ระบุไว้คือ 1. ค้นหานิยามหรือต้นตอและอธิบายรายละเอียดของปัญหาที่แท้จริง 2. วิเคราะห์ปัญหาในรอบด้าน ผลกระทบเบา ผลกระทบปานกลาง และ ผลกระทบขั้นวิกฤติ 3. พัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ 4. ประเมินแนวทางที่ได้มา เพื่อใช้ในการตัดสินใจ โดยกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ การคัดแยก การให้คะแนน และการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย 5. ลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหาตามแนวทางอย่างมีแบบแผน 6. ประเมินและรอผลปฏิบัติการแก้ไขปัญหา
ด้วยหวังว่าทั้ง 6 ข้อที่นำเสนอมาคงจะเป็นแนวทางในการพัฒนาให้เวทีประกวดดาวและเดือนหรืออื่น ๆ ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ตั้งใจในการทำงานนะคะ
หมายเหตุ : ภาพประกอบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เขียนแต่อย่างใดนะคะ
(ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก www.huapood.com และ www.plookfriends.com)
เรื่อง : อนุรี อนิลบล
เรียบเรียง ; ดร.จุมพล โพธิสุวรรณ
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 390 วันที่ 28 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2566
หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:23 อ.ปุ๋ย-อนุรี อนิลบล
ถึงเวลา(ปฏิ)วัฒนาการ “ดาว-เดือน” มหา’ลัย (ตอนจบ)
https://book.bangkok-today.com/books/rfqb/
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)