
วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:22 “อ.ปุ๋ย-อนุรี อนิลบล” เขียน…ถึงเวลา(ปฏิ)วัฒนาการ “ดาว-เดือน” มหา’ลัย (ตอน 2) อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 389 วันที่ 21-27 ก.ค.66


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 389 วันที่ 21-27 กรกฏาคม 2566
หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:22 อนุรี อนิลบล
ถึงเวลา(ปฏิ)วัฒนาการ “ดาว-เดือน” มหา’ลัย (ตอน 2)
มาต่อกันตอนที่ 2 สำหรับการปฏิวัติและบูรณาการในมุมมองจากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งจะขอเรียกว่า “(ปฏิ)วัฒนาการ” เวทีประกวดดาว-เดือน และอื่น ๆ ของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย หัวข้อที่ 2 คือ
2. What: สถานการณ์หรือปัญหาคืออะไร? ประเด็นสำคัญหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องคืออะไร?
ในการประกวดดาวและเดือนของสถาบันการศึกษานั้นจะว่าไปแล้วมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักที่สืบทอดต่อกันมานานแล้วคือ การคัดสรรตัวแทนนักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 1 หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เฟรชชี่” (Freshy) เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาในระดับชั้นเดียวกัน รวมทั้งเป็นภาพลักษณ์ที่ดีและร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับทางสถาบันการศึกษา
แต่มาในระยะหลังดูเหมือนสถานการณ์ในยุคปัจจุบันนำพาไป คือ ดาว-เดือน บางสถาบันการศึกษาเอาตำแหน่งไปต่อยอดด้วยการประกวดนางงามและนายแบบ หรือเข้าสู่วงการบันเทิงในสาขาต่าง ๆ เมื่อได้ตำแหน่งใด ๆ และได้ศิลปินนักแสดงที่มีสังกัด จึงทำให้ไม่มีเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นดาวและเดือน กลายเป็นอันดับรอง ๆ ต้องทำหน้าที่แทน แต่สถาบันการศึกษาก็ไม่มีการปลด เพราะถือว่าทำชื่อเสียงให้ หรือหากไปประกวดหรือเข้าสู่วงการบันเทิง บางแห่งใช้งานดาวและเดือน ที่อาจกล่าวได้ว่า “หนักมาก” จะว่า “เยี่ยงทาส” ก็กระไรอยู่ มีงานไม่เว้นในแต่ละวัน บางแห่งจะเลือกใช้งานแต่ที่ 1 เท่านั้น คงต้องก้มหน้ารับกรรม เอ๊ย! ทำงานกันต่อไป จะว่าไปแล้วจะว่าทางสถาบันการศึกษาไม่ได้อีก เพราะใจป้ำให้ทุนเรียน 1 ปีก็มี และตลอดหลักสูตรก็มี คงต้องใช้งานให้คุ้มกับค่าเทอม อย่างภาคเอกชนก็เป็นแสนบาท
ในบางครั้งรุ่นพี่และพี่เลี้ยงก็ทำผิดวัตถุประสงค์ของการประกวดดาวและเดือน โดยพยายามทำการประกวดดาวและเดือน ให้เป็นเวทีนางงามหรือนายแบบ ซึ่งไม่ใช่เลยไม่ตอบโจทย์เวทีประกวดที่มีสถาบันการศึกษาสนับสนุน อีกทั้งเอาน้อง ๆ ออกไปรับงานข้างนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา แต่บางทีน้อง ๆ ไม่ได้ว่าอะไร เพราะมีค่าขนมให้ด้วย อาจเสี่ยงตรงที่ว่า หากน้อง ๆ ไปประสบอุบัติเหตุหรือเจออะไรที่ไม่ดีมา พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะโทษสถาบันการศึกษาได้ ดังนั้นควรยึดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการประกวดที่สถาบันการศึกษาได้กำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด
- When: สถานการณ์หรือปัญหาเกิดขึ้นเมื่อใด? จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด?
พูดถึงเรื่องเวลานี้ ในฐานะที่ได้รับเชิญไปตัดสินดาวและเดือน รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆที่งอกขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง สิ่งสำคัญที่อยากให้แก้ไขเลยคือ “การประกวดใช้เวลานานมาก” โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งเริ่มจัดประกวดตั้งแต่หกโมงเย็นไปเสร็จเอาตอนตีสามกว่าของอีกวัน เบ็ดเสร็จแล้ว 9 ชั่วโมงกว่า ทำเอาคณะกรรมการเกือบได้ทำบุญตักบาตรพระตอนเช้า มากกว่าการทำงานในประจำวันเสียอีก ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงทุกประการ ไม่ได้ปรักปรำนะคะ
ควรต้องมีการบริหารเรื่องของเวลาให้ดี ๆ อะไรที่มันย้วยก็ตัดเวลาให้สั้นกระชับ เช่น บางแห่งประกวดกันที 4-5 ประเภท ๆละ 10 คน ทั้งเดินในรอบชุดลำลอง ชุดราตรี-ชุดสูท ชุดแฟชั่น ฯลฯ อีกทั้งการแสดงความสามารถพิเศษ การตอบคำถาม กินเวลาไปมาก ๆ
อีกเรื่องหนึ่งคือ ในกำหนดการหลายสถาบันการศึกษามีการว่าจ้างศิลปินชื่อดังมาร้องเพลงต้อนรับน้องใหม่ด้วย แต่ลำดับเวลาไม่ควรเปิดการแสดงคั้นก่อนการประกาศผลการตัดสิน ซึ่งใช้เวลาการแสดงมินิคอนเสิร์ตอย่างน้อย 1-1.30 ชั่วโมง จริงอยู่อาจจะสนุกลัลลาสำหรับน้อง ๆ นิสิตนักศึกษา แต่คงไม่สนุกสำหรับบรรดาคณะกรรมการรุ่นวัยดึก(สงัด)ที่นั่งหลังขดหลังแข็งตัดสินแบบมาราธอน จะได้ลุกก็แค่เดินไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น ส่วนอาหารนั้นจะมีการยกเสิร์ฟถึงโต๊ะคณะกรรมการ ที่อาจถูกปากบ้าง ไม่ถูกปากบ้าง แต่ที่แน่ ๆ กรรมการการมืออาชีพ ควรหาอาหารรับประทานก่อนเข้าร่วมงานจะเป็นการดีที่สุด อย่าหวัง “น้ำบ่อหน้า” เราไปตัดสินไม่ใช่ไปนั่งกินอาหาร
แล้วก่อนแสดงมินิคอนเสิร์ตก็จะย้ายโต๊ะคณะกรรมการจากตั้งอยู่บริเวณด้านหน้า ย้ายไปอยู่ด้านข้าง ๆ คณะกรรมการต้องหอบกระเป๋าข้าวของย้ายตามไปอีก ที่โชคดีหน่อยเจ้าหน้าที่เชิญให้ไปพักผ่อนที่ห้องรับรอง ถ้าคณะกรรมการเยอะก็อยู่อัดแน่นเป็นปลากระป๋อง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ บางเวทีไม่ได้กำหนด เวลาการแสดงความสามารถพิเศษหรือรอบตอบคำถาม กินเวลากันไปมากโข ข้อเสนอแนะในเรื่องช่วงเวลาการจัดงานควรอยู่ช่วงบ่าย ๆ ถึงไม่เย็นมาก น้อง ๆ นิสิตนักศึกษาที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงคณะกรรมการจะได้เดินทางกลับบ้านได้สะดวกไม่ต้องเหนื่อยหน่ายกับการจราจรบนถนนช่วงเย็น (กรณีอยู่ในเขตกรุงเทพฯ)
หัวข้อที่เหลือ โปรดอ่านต่อในฉบับหน้าค่ะ (ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก www.huapood.com)
หมายเหตุ : ภาพประกอบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เขียนแต่อย่างใดนะคะ
เรื่อง : อนุรี อนิลบล
เรียบเรียง ; ดร.จุมพล โพธิสุวรรณ
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 389 วันที่ 21-27 กรกฏาคม 2566
หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:22 อนุรี อนิลบล
ถึงเวลา(ปฏิ)วัฒนาการ “ดาว-เดือน” มหา’ลัย (ตอน 2)
https://book.bangkok-today.com/books/neez/
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)