Digiqole ad

วินทุกเว(ที)…Ways to Win EP : 6 ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ เปิดประเด็น “คอนเซ็ปต์เวทีนั้นสำคัญไฉน”

 วินทุกเว(ที)…Ways to Win EP : 6  ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ เปิดประเด็น “คอนเซ็ปต์เวทีนั้นสำคัญไฉน”
Social sharing

Digiqole ad

จากกรณีรอบสัมภาษณ์ของการประกวดนางสาวไทย ปี 2566 ประจำจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ แล้วพิธีกรอ่านชื่อคอนเซ็ปต์ภาษาอังกฤษของเวทีนี้ผิด THE ULTIMATE PRECIOUS”  (ที่สุดแห่งความล้ำค่า) คำว่า PRECIOUS” (พรีเซียส) เป็น “พรีซีอุ๊ย” กลายเป็นไวรัสในกระแสโซเชี่ยลมีเดีย

จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พูดถึงคือความสำคัญของคอนเซ็ปต์เวทีประกวดแต่ละเวทีนั้นสำคัญไฉน ต่อผู้เข้าประกวด จะขอยกตัวอย่างจากเวทีนางสาวไทย ปี 2566 นี่แหละ!

ก่อนอื่นเราต้องตีความหมายหรือให้คำนิยามคำว่า “ที่สุดแห่งความล้ำค่า” ในบริบทของผู้เข้าประกวดนางสาวไทยยุคใหม่ในแบบฉบับตัวเราคืออะไร ขอแนะนำว่า ลองแบ่งเป็นประเภท “รูปธรรม” โดยตามความหมายในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานคือ

สิ่งที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันได้แก่ รูปเสียง กลิ่น รส และสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยกาย คู่กับ นามธรรม คือสิ่งที่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น สิ่งที่สามารถแสดงออกมาให้ปรากฏเป็นจริงเป็นจังมิใช่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น สิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ เช่นต้องทําโครงการพัฒนาชนบทให้เป็นรูปธรรมด้วยการจัดให้มีนํ้ากินนํ้าใช้เป็นต้น และ “นามธรรม” หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือ รู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น คู่กับ รูปธรรม

สิ่งที่เราแสดงความคิดเห็นหรือตอบคำสัมภาษณ์ออกมาควรต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงไม่อิงนิยาย ซึ่งการพูดบางครั้ง โดยเฉพาะการตอบคำถามจากคณะกรรมการขอย้ำเลยว่า “ไม่เพียงแต่จะตอบให้ถูกต้องเท่านั้น ยังต้องตอบให้ถูกใจโดนใจอีกด้วย” อีกทั้งถ้าหาก “จับใจ” ผู้ชมอีกด้วยแล้ว ก็จะได้คะแนนหรือกำลังใจจากมหาชนอีกด้วย ยิ่งถ้าผลการตัดสินค้านสายตาแล้ว รับรอง “ทัวร์ต้องลงจอดหน้าโต๊ะคณะกรรมการเป็นแน่ ๆ” ยิ่งยุคในยุคโซเชี่ยลมีเดีย แป๊บเดียวรู้เรื่อง เนื่องจากการประกวดในเวทีใหญ่มักตัดสินกันที่กึ๋นนางงามในการตอบคำถามรอบสุดท้ายก่อนการตัดสินตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ บางครั้งดูเหมือนเป็นการค้นหาคนอัจฉริยะทายาทโรเบิร์ต ไอสไตน์ คำถามบางเวทีก็ซูเปอร์ยาก กระทั่งนางงามอยากย้อนกลับไปถามพิธีกรว่า “คนที่คิดคำถามนี้ตายแล้วหรือยังคะ?”

การปฏิบัติต้องให้อยู่ในคอนเซ็ปต์การประกวดของเวทีนั้น ควรต้องสร้างสรรค์ “คอนเทนต์” (สำคัญมากเอาไว้จะพูดในครั้งต่อไป)  และทำตั้งแต่ก้าวแรกที่สมัครหรือย่ำเท้าเข้าสู่เวทีการประกวด เรียกว่าทำตั้งแต่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” กันเลยทีเดียว แต่ต้องไม่ประดิษฐ์ทำให้เป็นธรรมชาติ คือ ในแบบฉบับที่สร้างสรรค์ด้วยตัวของตัวเอง มีไอดอลได้ แต่ไม่เลียนแบบใครให้เสียจริตของตนเอง

คอนเซ็ปต์เวทีประกวดนั้นสำคัญมาก ๆ แทบเป็น “หัวใจของการประกวด” กันเลยทีเดียว อย่ามาเริ่มต้นนับหนึ่งหน้างาน ควรต้องทำการบ้านมาล่วงหน้าตั้งแต่เขาเปิดการแถลงข่าวรูปแบบการประกวดของเวทีนั้น ๆในปีนั้น ๆ เพราะบางเวทีเปลี่ยนคอนเซ็ปต์การประกวดทุกปี ดังนั้นจึงต้องระดมมันสมอง (ยุคนี้ทำงานกันเป็นทีมเวิร์ก) ช่วยกันบดขยี้คอนเซ็ปต์ของเวทีให้ตกผลึกเป็นอย่างดีที่สุด ตีโจทย์ให้แตกแหลกละเอียด อย่าหลงคอนเซ็ปต์หรือประเด็นเด็ดขา

หมายเหตุ : ในรอบตอบคำถามต่อหน้าคณะกรรมการลองตั้งโครงคำตอบที่ว่า “ไม่ว่าคณะกรรมการจะถามอะไร ลองใช้คอนเซ็ปต์มาตอบให้ได้” โดย แบบเนียนๆ ลงตัวพอดีเป๊ะ แต่ไม่เละนะ  มีการอ้างอิงคำคม คำกล่าว คำกลอน พุทธศาสนสุภาษิต วลีเด็ด คำยอดฮิตติดกระแส ฯลฯ แต่ไม่ใช่เป็นการยัดเยียด จนไม่ตรงประเด็นที่ถาม อันนี้ก็เกินไป เรียกว่า “ตอบเขวี้ยงมง” เห็นนางงามช็อตไมค์  ตอบคำถามพลาดมามากต่อมากแล้ว จนนางงามแอบบ่นว่า “กรรมการตั้งคำถามไม่ตรงกับคำตอบของหนู” ซะงั้น

ถ้าทำได้รับรองว่า “มงกุฎ” และ “ความสำเร็จ” นั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม!

0 ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ 0

 

ภาพ : นางสาวไทย – Miss Thailand Organization

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 396 วันที่ 3-9 มีนาคม 2566 https://book.bangkok-today.com/books/gern/#p=33

 

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                   

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post