Digiqole ad

วิกฤตแบบใด ทำไมจัดงบแบบนี้? ตั้งงบไม่พอ ประมาณการรายได้พลาด ไม่แตะปัญหาโครงสร้างงบประมาณ ไม่สามารถผลักดันนโยบายที่สัญญากับประชาชน หรือถึงเวลาที่ประชาชนต้องคิดใหม่ กับฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลเพื่อไทย

 วิกฤตแบบใด ทำไมจัดงบแบบนี้? ตั้งงบไม่พอ ประมาณการรายได้พลาด ไม่แตะปัญหาโครงสร้างงบประมาณ ไม่สามารถผลักดันนโยบายที่สัญญากับประชาชน หรือถึงเวลาที่ประชาชนต้องคิดใหม่ กับฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลเพื่อไทย
Social sharing

Digiqole ad
Sirikanya Tansakun – ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล อภิปรายถึงภาพรวมเศรษฐกิจ ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วันแรก ตั้งข้อสังเกตว่า จากการใช้เวลากับเอกสารงบประมาณกว่าหนึ่งหมื่นหน้า เกิดคำถามขึ้นว่า “วิกฤติเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบไม่เหมือนมีวิกฤต”
.
ศิริกัญญากล่าวว่า ปกติฝ่ายค้านจะเป็นคนพูดว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤติ แต่ตอนนี้กลายเป็นนายกฯ ที่ย้ำในหลายครั้งหลายโอกาสว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตแล้ว แต่ถ้าเรากำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจริงๆ ตัวงบประมาณนี่เองจะเป็นตัวบอกว่าเรากำลังอยู่ในภาวะแบบใด จะมีการจัดสรรงบประมาณไว้เพื่อตอบสนองต่อวิกฤติอย่างไรบ้าง
.
ทว่าเมื่อดูรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ระบุเศรษฐกิจปี 2566 จะเติบโต 2.5% ปี 2567 จะโต 3.2% เงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ และจะเกินดุลบัญชีเงินสะพัดทั้งปีนี้และปีหน้า ดูอย่างไรก็ยังไม่ค่อยวิกฤติ แต่เมื่อไปดูเอกสารงบประมาณฉบับประชาชนที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เห็นอัตราการขยายตัวของจีดีพี ซึ่งสะท้อนว่าไม่วิกฤตแน่นอน เพราะโตถึง 5.4% ตนเห็นแล้วตกใจมาก เพราะนี่คือการเติบโตของจีดีพีที่รวมผลของเงินเฟ้อไปด้วย
.
“ปกติทุกประเทศทั่วโลกเวลาคำนวณอัตราการเติบโตของจีดีพี จะใช้จีดีพีที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลกำลังโชว์ตัวเลขที่รวมผลของเงินเฟ้อ เท่ากับว่ารัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมายจีดีพีโต 5% ภายในปีแรกที่เข้ามาบริหาร โดยการโกงสูตรปรับจีดีพีอย่างนั้นหรือ ไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกรู้ดี ไม่เช่นนั้นประเทศที่เงินเฟ้อสูง เช่น ซิมบับเว เงินเฟ้อกว่า 200% จีดีพีปีต่อปีจะโตเป็นสองเท่า ดังนั้นขอร้องรัฐบาล อย่าโกงสูตรเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมาย”
.
ตามปกติในปีที่เกิดวิกฤติ เราจะจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ จะมีการกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป แต่พอมาดูงบของปี 2567 จะต้องมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 3.6% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง อาจพอบ่งชี้ได้ว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่พอดูแผนการคลังระยะปานกลาง พบว่าในปีถัดๆ ไป ตั้งแต่ 2568-2570 ก็ขาดดุลเท่าเดิมทุกปีที่ 3.4% จนดูไม่ออกว่าปีไหนวิกฤตกันแน่ สรุปว่าเราจะเกิดวิกฤตต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2570 เลยหรือไม่ ทำไมรัฐบาลประมาณการณ์แบบนี้ ทั้งที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยประกาศจะจัดทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 7 ปี
.
เมื่อมีวิกฤติก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเรือธงของรัฐบาลคือดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่ามีแพ็กเกจใหญ่ 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ทำดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท และนำเงินไปเติมในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 100,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจาก 2 แหล่ง คือ พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท
.
แต่เมื่อดูในงบ 67 กลับไม่มีงบดิจิทัลวอลเล็ตแม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดฯ ก็ลดจาก 100,000 ล้านบาท เหลือเพียง 15,000 ล้านบาท ตกลงเรายังจะเชื่ออะไรได้อีกจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี
.
สรุปแล้วเรายังต้องลุ้นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท จะออกได้หรือไม่ และยังต้องลุ้นพึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ อย่างเดียวแล้วใช่หรือไม่ สรุปยอดกู้ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็น 585,000 ล้านบาทหรือไม่ เพื่อทำทั้งดิจิทัลวอลเล็ตและกองทุนเพิ่มขีดฯ
.
“รัฐบาลกำลังฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ ฉบับนี้ เสมือนเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว จะมีความเสี่ยงสูงมากหากไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ได้ เท่ากับงบกระตุ้นเศรษฐกิจจะกลายเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์”
.
นอกจากนี้ ยังมีงบกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และการผลักดันการท่องเที่ยว ที่น่าสนใจคือโครงการตัดถนนเพื่อการท่องเที่ยว สูงถึง 7,700 ล้านบาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบการท่องเที่ยว แน่นอนตนทราบว่าบางส่วนมีความจำเป็นต้องตัดถนนเพื่อทำให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้ แต่เราไม่สามารถทำให้การท่องเที่ยวพัฒนาหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยวได้ด้วยการตัดถนนแต่เพียงอย่างเดียว สรุปแล้วนี่มันวิกฤตแบบใด ทำไมกระตุ้นเศรษฐกิจกันแบบนี้
.
อีกหนึ่งลักษณะของงบประมาณในช่วงวิกฤต คือกระทรวงกลาโหมจะเสียสละด้วยการตัดลดงบประมาณของตัวเองเพื่อนำไปใช้พยุงเศรษฐกิจของประเทศ งบกลาโหมจะลดลง เช่นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง งบกลาโหมลดถึง 21% วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลดลง 10% วิกฤติโควิด ลดลง 5% แต่ในวิกฤตของรัฐบาลเศรษฐา งบกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 2%
.
นอกจากนี้ มีโครงการใหม่เพียง 236 โครงการ ใช้งบประมาณเพียง 13,656 ล้านบาทจากงบทั้งหมดกว่า 8 แสนล้านบาท ตนเข้าใจว่ารัฐบาลยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการทุกอย่างที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้ แต่โครงการใหม่ที่มีเพียงน้อยนิด ทำให้เราแทบไม่สามารถคาดหวังได้เลยว่าจะเจอกับนโยบายที่รัฐบาลสัญญาไว้ว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำสำเร็จภายใน 1 ปี
.
“ดิฉันทราบดีว่าข้อจำกัดของรัฐบาลมีอะไรบ้าง แต่ถ้าท่านไม่แตะปัญหาของโครงสร้างงบประมาณเลย ก็ไม่มีทางหลุดพ้นจากวังวนนี้ได้ และจะไม่สามารถผลักดันโครงการใดๆ ที่สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชนผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เลย งบนี้จะกลายเป็นงบของข้าราชการเท่านั้น”
.
ข้ออ้างอย่างแรกที่รัฐบาลอาจบอก คือท่านมีเวลาเพียง 2 เดือนในการจัดงบประมาณใหม่ แต่ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะ ครม. มีการรื้องบประมาณใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น รื้อถึง 2 รอบ แต่การรื้องบนั้นทำไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยภาวะผู้นำอย่างมากที่ต้องเข้าใจกระบวนการงบประมาณ เจรจากับพรรคร่วมและข้าราชการ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณภายใต้กรอบระเบียบกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ มีแผนหลายระดับซ้อนกัน ยิ่งทำให้การกระดิกกระเดี้ยตัวของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของตัวเอง แทบเป็นไปไม่ได้
.
นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ยังมีปัญหางบมรดกตกทอดจากรัฐบาลประยุทธ์ จากงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลเศรษฐามีงบที่สามารถจัดสรรได้เอง บรรจุโครงการใหม่ๆ ได้ไม่ถึง 1 ใน 4 หรือประมาณ 740,000 ล้านบาท เมื่อดูว่าแต่ละเรื่องมีปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไรบ้าง เรื่องแรกคือค่าใช้จ่ายบุคลากร ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 37% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หน่วยงานใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งทำให้บุคลากรภาครัฐเพิ่ม ทั้งนี้งบบุคลากรรวมถึงงบบำเหน็จบำนาญที่โตเร็วและกำลังจะแซงงบเงินเดือนในอีกไม่ถึง 10 ปี ซึ่งต้องย้ำว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้จะตัดบำนาญ แต่นี่คือปัญหาที่เรากำลังเจอ หากเราไม่พูดถึงหรือพยายามแก้ไข เราจะไม่มีวันขับเคลื่อนนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชนได้
.
สรุปสุดท้าย ตนอยากชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่อยากโทษว่าเป็นที่รัฐบาลอย่างเดียวที่ไม่สามารถจัดงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่เราน่าจะถอดบทเรียนในเรื่องนี้ ไม่ให้เราพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ
.
เรื่องแรกคือการจัดสรรงบผิดพลาด เงินชดใช้เงินคงคลังเกือบ 1.2 แสนล้านบาท เอาไปชดใช้เงินเดือนบุคลากร บำเหน็จบำนาญ ทั้งที่งบส่วนนี้เป็นส่วนที่เราไม่ควรพลาด เพราะเป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมาอาการหนักมาก ต้องไปควักเงินคงคลังมาใช้ แล้วต้องมาใช้คืนในภายหลัง นี่คือความผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์ แต่ดูเหมือนรัฐบาลเศรษฐาจะพลาดต่อ เพราะงบบำเหน็จบำนาญตั้งไว้ไม่พอจ่าย เงินเลื่อนเงินเดือนข้าราชการที่ควรต้องตั้งเพิ่มแน่ๆ เพราะรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งเพิ่ม แบบนี้พยากรณ์ได้เลยว่างบปี 69 จะต้องควักเงินคงคลังออกมาใช้อีก
.
เรื่องนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ คือตั้งงบขาดแล้วให้ไปใช้งบกลาง เช่น นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็ไม่ได้ตั้งไว้ งบโครงการซอฟต์พาวเวอร์ 5,164 ล้านบาท ก็ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ แล้วจะไปหาเงินที่ไหนถ้าไม่ใช่งบกลาง ความผิดพลาดเหล่านี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นความตั้งใจผิดพลาดหรือไม่
.
นอกจากนี้ ยังมีความผิดพลาดในการประมาณการรายได้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 วันแรกที่มีการรื้องบ มีการตั้งกรอบประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.787 ล้านล้านบาท โดยระบุชัดเจนว่าจะมีการเก็บภาษีการขายหุ้นเพื่อนำมาสมทบเป็นรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท แต่ต่อมาวันที่ 15 กันยายน นายกฯ พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าจะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น ซึ่งตนไม่มีปัญหา แต่ต้องถามว่า 14,000 ล้านบาทนั้น จะเอาที่ไหนมาชดเชย หรือภาษีสรรพสามิตที่ช่วยพยุงค่าน้ำมันให้ประชาชน 60,000 ล้านบาท ซึ่งขอยืนยันว่าตนไม่มีปัญหากับมาตรการต่างๆ เพียงแต่เมื่อกระทบกับประมาณการรายได้ ตนยังไม่เคยได้ยินว่ารัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนมาชดเชย นอกเสียจากบอกว่าถ้าทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว จะทำให้เราจัดเก็บรายได้รัฐเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท
.
“อีกแล้วที่รัฐบาลฝากความหวังเดียวไว้ที่ดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้รัฐเพิ่มขึ้น แบบนี้คือพลาดแบบไม่ควรพลาด เราสามารถทบทวนประมาณการรายได้ หรือกู้ชดเชยขาดดุลให้สูงขึ้นได้ แต่รัฐบาลต้องพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน”
.
เรื่องสุดท้ายคือหนี้สาธารณะ ถ้าดูตัวเลขของปี 67 อยู่ที่ 64% ของจีดีพี ซึ่งตนเห็นว่าตัวเลขนี้ไม่ได้บอกอะไรเลย แต่สิ่งที่น่ากังวลคือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนของรายได้รัฐ พุ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงตลาดพันธบัตรของไทยค่อนข้างผันผวน ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสัดส่วนที่ว่านี้จะทะลุ 10% ในปี 2568 โดยยังไม่รวมหนี้จากดิจิทัลวอลเล็ตและหนี้ตามมาตรา 28 จากการที่รัฐบาลหยิบยืมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ เหมือนเป็นบัตรกดเงินสดของรัฐบาล
.
สรุปแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตนไม่เห็นอะไรนอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือคือรัฐบาลที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งด้านเศรษฐกิจ นี่หรือคือรัฐบาลที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘หาเงินได้ ใช้เงินเป็น’ กลับผิดพลาดในการจัดงบประมาณได้มากขนาดนี้ ทั้งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ประมาณการรายได้ผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัยและไม่คิดจะแก้ มุ่งแต่จะใช้กลไกนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ ไม่สนใจภาระทางการคลัง
.
คงถึงเวลาที่ประชาชนต้องคิดใหม่ กับฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ ข้อความ
Facebook Comments


Social sharing

Related post