
วางแผนเกษียณดี มีชัยไปกว่าครึ่ง


เชื่อว่าหลายท่านในที่นี้คงเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุมากันไม่น้อยเพราะกำลังเป็นประเด็นที่สร้างความหนักใจให้กับทั้งภาครัฐและประชาชน ด้วยในอนาคตอันใกล้นี้ โครงสร้างประชากรของไทย กำลังจะเข้าสู่ภาวะ สูงวัยขั้นสูงสุด(super-aged society ) หรืออีกนัยหนึ่งคือการที่มีประชากรจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประเทศมีอายุมากกว่า60 ปีขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้เป็นที่น่าจับตามอง เพราะจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในบ้านเราในหลากหลายด้านดังเช่นที่ได้ยกตัวอย่างมา
- ความเปลี่ยนแปลงด้าน “ตลาดแรงงาน”
ปัญหาจำนวนประชากรในวันทำงานลดลง ทำให้อายุเฉลี่ยของแรงงานจะสูงขึ้น พูดง่ายๆ คือ คนไทยต้องทำงานหลังอายุเกษียณมากขึ้น ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานทดแทน การที่อายุขัยเฉลี่ยของคนมากขึ้นและมีสภาพร่างกายที่ยังคงพร้อมที่จะทำงานในหลายประเภท สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทัศนคติเดิมที่ต่างมองกันว่าสังคมผู้สูงอายุเป็นสังคมที่ไม่ต้องทำงาน
ทุกอาชีพต้องหมั่นหาทักษะใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนตามอายุ การปรับตัวด้านอาชีพ เปิดรับความก้าวหน้าใหม่ๆ โดยเฉพาะทางเทคโนโลยี จึงเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญในการอยู่รอดในสังคมสูงวัย รวมถึงการรู้จักลงทุน ศึกษาและเริ่มทดลองลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยอาจเริ่มด้วยการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนประเภทต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยในการลงทุนด้วยวิธีเหล่านี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีโอกาสผลตอบแทนได้มากกว่าเงินออมปกติหลายเท่า
- ความเปลี่ยนแปลง “ด้านสุขภาพ”
ในปัจจุบันอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ราว 80 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากแต่เดิมที่เคยอยู่ที่ 75 ปี ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ ซึ่งนั่นหมายถึงระยะเวลาที่เรายังจะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้หลังจากการเกษียณอีก ราว 20 ปี และก็แน่นอนว่าจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เรา จำเป็นต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า คิดง่ายๆ หากเราต้องการใช้จ่ายสมมติ 20,000-30,000 บาท/เดือน เราต้องมีเงินออมแล้วอย่างต่ำ 10 ล้านบาท ในวันที่เกษียณ ซึ่งหากไม่ได้มีการวางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่อาจเป็นไปได้เลย
ดังนั้นหลายๆ คนจึงเลือกที่จะมีอาชีพที่ทำได้ในยามเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น อาชีพเสริมหลังเกษียณแม้จะได้รับค่าตอบแทนไม่มากเท่าคนวัยทำงาน แต่ก็ถือเป็นแหล่งรายได้ที่พอบรรเทาค่าใช้จ่ายประจำเดือนได้ไม่มากก็น้อยแทนที่จะเก็บออมไว้ใช้เพียงอย่างเดียวการเรียนรู้ให้เงินทำงานแทนเราได้ตลอดที่ยังมีลมหายใจจึงเป็นสิ่งที่หลายคนเริ่มตื่นตัวและหันมาวางแผนอย่างจริงจังในยุคนี้ รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพอย่างต่อเนื่องเริ่มต้นให้เร็วที่สุดตั้งแต่อายุน้อยๆ หมั่นออกกำลังกาย เพราะความไม่มีโรคยังเป็นลาภอันประเสริฐที่ใช้ได้ไม่เคยเปลี่ยนในทุกยุค
- ความเปลี่ยนแปลง “ด้านสภาพสังคมและความคิด”
สังคมผู้สูงอายุกำลังจะเกิดช่องว่างทางความคิดและวัฒนธรรมมากขึ้น สังคมผู้สูงอายุกำลังขยับออกห่างจากสังคมคนรุ่นใหม่ทีละเล็กละน้อยซึ่งช่องว่างระหว่างวัยนี้ทำให้เกิดความคิดเห็นต่างและความไม่เข้าใจกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่และหากต่างฝ่ายต่างไม่เปิดกว้างทางความคิด ยอมรับและเรียนรู้ซึ่งกันและกันช่องว่างทางความคิดเหล่านี้อาจจะเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างในด้านเทคโนโลยี วิวัฒนาการความก้าวหน้าของโลกยุคดิจิทัลกำลังเดินไปในอนาคตข้างหน้าด้วยอัตราความเร็วอย่างไม่มีประมาณ ทำให้ทักษะและความรู้ของวัยทำงานวันนี้ อีก 5 ปีจะอาจไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อเนื่องจากเทคโนโลยีทำแทนได้
การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือการเปิดรับมุมมองที่ต่างจากตัวเอง จึงกลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุเองที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมทั้งนี้ ยังรวมถึงเรื่องการดูแลจิตใจ สุขภาพจิตที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยและเพิ่มความเบิกบานในหัวใจ ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น อาทิ หมั่นหาโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ทำแล้วมีความอิ่มเอิบใจ กิจกรรมอาสาสมัครที่พอทำได้ และไม่ทิ้งโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ความรู้กับคนรุ่นหลัง เพื่อลดช่องว่างทางความคิดระหว่างวัยที่ดีที่สุด
และนี่คือเรื่องราวสังคมผู้สูงวัย ที่ไม่ว่าตอนนี้คุณอายุเท่าไร ก็ควรรู้ให้เร็ว เพราะอย่างที่ใครหลายคนมักจะพูดวางแผนเกษียณดี มีชัยไปกว่าครึ่ง หวังว่าข้อมูลที่ได้แบ่งปันในวันนี้จะเป็นเคล็ดลับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีทรัพย์และสุขภาวะให้กับทุกคนได้นำไปใช้กัน