Digiqole ad

วช. หนุน เอ็มเทค สวทช. ส่งมอบเปลแรงดันลบ PETE สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ 100 ชุด

 วช. หนุน เอ็มเทค สวทช. ส่งมอบเปลแรงดันลบ PETE สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ 100 ชุด
Social sharing
Digiqole ad

วช. หนุน เอ็มเทค สวทช. ส่งมอบเปลแรงดันลบ PETE สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ 100 ชุด เดินหน้าพัฒนาติดตั้ง PETE ทุกยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทันท่วงที

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ส่งมอบเปลแรงดับลบ PETE เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ รับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม (DIST) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค – สวทช.) เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ดำเนินโครงการส่งมอบ PETE เปลปกป้องให้แก่สถานพยาบาล จำนวน 16 แห่ง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันมีการส่งมอบแล้วจำนวน 100 ชุด โดยจุดเด่นของ PETE เปลปกป้อง ไม่เพียงมีการออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะที่แข็งแรงและปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังสามารถทลายข้อจำกัดการใช้งานของเปลความดันลบเดิมที่มีทั่วไปในท้องตลาด อันดับแรกคือมีระบบ Smart controller ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในเปล ทำให้ใช้งานได้ทั้งบนภาคพื้นและบนอากาศ สามารถตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศสู่ภายนอก แจ้งเตือนการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศเมื่อถึงกำหนด ส่วนที่สองคือ นำเปลเข้าเครื่อง CT scan ได้ ส่วนสุดท้ายคือ ตัวเปลพับเก็บลงกระเป๋าและมีน้ำหนักเบา ทำให้พกพาสะดวกและติดตั้งง่าย เหมาะสมกับการใช้งานในรถพยาบาล ดังนั้นแล้วหากนำ PETE มาใช้ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากที่พัก เจ้าหน้าที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ ด้วยการออกแบบและพัฒนาให้สามารถผลิตได้ในประเทศ ทำให้ปัจจุบัน PETE มีราคาจำหน่ายที่ชุดละประมาณ 200,000 บาท ซึ่งถูกกว่าตลาดโลก 2-3 เท่า ในขณะที่มีมาตรฐานระดับสากล

ดร.ศราวุธ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเอ็มเทคได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อผลักดันให้เกิดการขยายผลไปสู่การใช้งานในวงกว้างเพื่อสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่คนไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดีจากการสำรวจความต้องการในปัจจุบัน ยังมีสถานพยาบาลที่ต้องการใช้งานเปลแรงดันลบอยู่มาก และมีการตั้งเป้าหมายว่าต่อไปในอนาคตควรมีเปลแรงดันลบติดตั้งอยู่ในทุกยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อให้สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในระบบทางเดินหายใจได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ที่สนใจสนับสนุนการส่งมอบ “PETE เปลปกป้อง” ให้แก่สถานพยาบาล ติดต่อได้ที่ศูนย์เทค โนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) หรืออีเมล์ pete@mtec.or.th เพื่อร่วมยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน

 

 

Facebook Comments

Related post