
“ลูกหลง” ไฟไหม้คอกวัว วิบากกรรมซ้ำซาก(มาก) สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 406 วันที่ 17-23 พ.ย.66


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 406 วันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2566
หน้า 2-3 สกู๊ปปก
“ลูกหลง” ไฟไหม้คอกวัว
วิบากกรรมซ้ำซาก(มาก)
เมื่อเกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายในสังคมไทยเมื่อใด ดูเหมือนว่า สำนวน “วัวหายล้อมคอก” (เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงคิดแก้ไข) กับ “ไฟไหม้ฟาง” (สิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่นานแล้วก็หายไป) มักจะผุดขึ้นมาคู่กันเป็นประจำ จนมีคนสร้างสำนวนรวมกันใหม่เป็น “ไฟไหม้ล้อมคอก” โดยเฉพาะเรื่อง “ลูกหลง” ที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่และไม่ทันระวังตัวซึ่งเดินตามบนท้องถนนหรือในสถานที่ต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องเจ็บตัวตั้งแต่ที่มีอาการเล็กน้อยไล่ไปถึงโคม่า และเสียชีวิตในท้ายที่สุด
ภาพ : เพจโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์
อย่างกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวครึกโครมคือ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 จากเหตุการณ์เด็กอาชีวะใช้อาวุธปืนยิงใส่คูอริ ส่งผลให้ “ครูเจี๊ยบ–ศิรดา สินประเสริฐ” วัย 45 ปี ครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ประจำโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ อายุ 45 ปี ถูกลูกหลงจนเสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณหน้าธนาคารแห่งหนึ่ง ถนนสุนทรโกษา เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ใกล้โรงเรียนที่เธอสอน ผลกระทบที่ตามมาคือ สมาชิกในครอบครัวตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากเธอเป็นเสาหลักของตรอบครัว ที่ต้องดูแลคุณพ่อแคุณแม่ที่มีอายุมากและสุขภาพไม่แข็งแรง อีกทั้งยังต้องดูแลส่งเสียค่าเล่าเรียนหลาน ๆ เรื่องนี้ได้กระเทือนไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานระดับประเทศอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องติดตามผลการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ซึ่งเหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่สามารถจะคาดการณ์และแก้ไขปัญหาล่วงหน้าได้เลย
นายกฯ ห่วงเรื่องการใช้อาวุธปืน
รัฐบาลออกแถลงการณ์ทันที โดย นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเหตุวัยรุ่นยิงกันทำให้ นางสาวศิรดา สินปราเสริฐ หรือ ครูเจี๊ยบ อายุ 45 ปี ครูสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ถูกลูกหลงจนเสียชีวิตว่า ตนในฐานะตัวแทนของรัฐบาลขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างสุดซึ้ง
“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจะมีการบูรณาการร่วมกันของหลายกระทรวงอาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย เพราะเหตุดังกล่าวถือว่ากระทำอย่างอุกอาจ และทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องต้องมาเสียชีวิต ดังนั้นรัฐบาลจะหามาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”
จากนั้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ฝากข้อความผ่าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ว่ามีความเป็นห่วงเรื่องการใช้อาวุธปืน กรณีคนร้ายใช้อาวุธปืนบุกยิงเด็กนักเรียนแล้วลูกหลงไปถูก “ครูเจี๊ยบ” ครูโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เสียชีวิต รวมถึงเป็นห่วงสภาพการท่องเที่ยวที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ฝากให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปกวดขันเรื่องการใช้อาวุธปืน โดยมีแนวทางว่าจะไม่ออกใบอนุญาตให้ในช่วง 1 ปี ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ พร้อมยืนยันว่าจะไม่ให้บุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง พกพาอาวุธปืน เพราะอาจนำไปทำร้ายคนบริสุทธิ์
รัฐมนตรีออกโรงรับลูก(หลง)
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของนักเรียนอาชีวะต่างสถาบัน ว่า ในส่วนของกระทรวงฯ จะต้องดูแลสถานศึกษา โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่มีปัญหานักเรียนตีกัน หรือรับน้องด้วยวิธีรุนแรง ซึ่งได้มีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ทุกปี เพื่อมาบังคับใช้กับสถาบันการศึกษา แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางสถาบันด้วยว่าจะมีความแข็งแรงหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นคงไม่สามารถพูดได้ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของ อว.เพียงฝ่ายเดียว น่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการกวดขันบังคับใช้กฎหมาย พกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ และการลาดตระเวนในพื้นที่ต่าง ๆ
“ขณะนี้เมื่อสถาบันการศึกษาเห็นแล้วว่า ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของสถาบัน แต่มีผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเสาหลัก และที่พึ่งเดียวของครอบครัว และยังเป็นครูอาจารย์ต้องมาโดนลูกหลงโดยที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ตนก็เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีความรู้สึกต่อเรื่องนี้ และหลังจากนี้น่าจะได้รับความร่วมมือมากขึ้น เพราะกฎเกณฑ์ทุกอย่างมีอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้การตรวจตราไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จนเชื่อว่าไม่มีใครเห็นเหตุการณ์นี้แล้วจะยิ้ม หรือมีความสุข หากเด็กในสถาบันเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ รัฐมนตรีอุดมศึกษาฯ ระบุว่า ต้องไปตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าเด็กที่ก่อเหตุเป็นเด็กของสถาบันใด แต่ทุกสถาบันล้วนมีระเบียบและกฎเกณฑ์อยู่แล้ว”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีการสแกนอาวุธก่อนที่เด็กจะมีการเข้าโรงเรียนหรือสถาบันก่อนหรือไม่นั้นว่า ไม่ได้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ เราต้องมองในหลายมิติ ต้องใช้การพูดคุยทำความเข้าใจระหว่างครูกับนักเรียน และรุ่นพี่กับรุ่นน้อง หรือเพื่อนกับเพื่อน เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือการบาดเจ็บ ซึ่งตอนนี้เรื่องขยายลุกลามมากกว่าเรื่องระหว่างสถาบัน เพราะมีผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ จึงกลายเป็นมิติทางสังคมที่ใหญ่ขึ้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันดูแล ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเดียว ผู้ปกครองเองก็ต้องช่วยกันดูแลลูกหลานว่ามีอาวุธอยู่ในบ้านหรือไม่ รุ่นพี่ และเพื่อนช่วยกันสอดส่องดูแล เชื่อว่าจะป้องกันได้ตั้งแต่ชั้นแรก (ที่มา : www.thairath.co.th)
ทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แสดงความเสียใจกับครอบครัว “ครูเจี๊ยบ” ครูสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ที่ถูกลูกหลงเสียชีวิต 1 คน ซึ่งที่บ้านได้รับร่างของครูเจี๊ยบไปไว้ที่บ้านที่จังหวัดสุพรรณบุรีแล้ว ว่า ได้กำชับให้พม.จังหวัด เข้าไปพูดคุยและเยียวยาทางด้านจิตใจ พร้อมด้วยสหวิชาชีพ กับครอบครัวของครูเจี๊ยบ
สำหรับ นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวว่า พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีสวดภาวนา “ครูเจี๊ยบ-นางสาวศิรดา สินประเสริฐ” โดยทางครอบครัวได้จัดพิธีทางศาสนา ณ ศาลาวัดแม่พระประจักษ์แห่งภูเขาคาร์แมล สองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้ฝากความห่วงใยมาถึงครอบครัว และแสดงความเสียใจต่อการจากไปของครูเจี๊ยบ และได้กำชับให้ สช.เร่งดำเนินการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของครูโดยเร็ว ขณะนี้ สช.เร่งกำกับการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตตามข้อสั่งการ โดยครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือจาก สช. เงินทุนเลี้ยงชีพจากกองทุนสงเคราะห์ จำนวน 507,000 บาท และเงินช่วยเหลือจากสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด
“พลตำรวจเอกเพิ่มพูนได้สั่งการให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน และบุคลากรของโรงเรียน ทั้งเรื่องของการเข้าออกภายในบริเวณโรงเรียน รถรับส่งนักเรียน ความปลอดภัยของอาคารเรียน ให้ตรวจสอบสำรวจโครงสร้างอาคารให้พร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนในส่วนของอาคารที่อายุการใช้งานไม่นาน หากชำรุดให้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างมีความสุข และรู้สึกปลอดภัย ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนจนถึงบ้าน เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้น”
“เด็กอาชีวะ-อาวุธปืน” สาเหตุ “ลูกหลง” อันดับต้น
จากการประมวลข่าวกรณีประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูก “ลูกหลง” นั้น โดยมีสาเหตุอันดับต้น ๆ มาจากนักเรียนอาชีวะยกพวกทะเลาะกัน หรือมองว่าเป็นคู่อริ จากนั้นได้ใช้อาวุธปืนยิงคู่อริ กระทั่งทำให้ประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องอะไรต้องถูกลูกหลงจากกระสุนปืน เป็นเหตุให้ส่วนใหญ่จะ “เสียชิวิต” ทั้งในที่เกิดเหตุและหลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ไม่สามารถยื้อชีวิตไม่ได้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เคยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลเกี่ยวกับเรื่องเด็กอาชีวะทะเลาะกันจนเกิดเรื่องน่าสลดในหลาย ๆ ครั้ง
พบว่า ประชาชส่วนใหญ่ 34.60% รู้สึกเศร้า หดหู่ใจที่ต้องเห็น และได้ยินเหตุการณ์ซ้ำซาก ขณะที่ 32.49% รู้สึก สงสารเห็นใจพ่อแม่ของเด็กนักเรียน ที่ต้องสูญเสียลูกชายไป รวมทั้งประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นต้องพลอยถูกลูกหลงจนบาดเจ็บและล้มตาย ส่วน 19.82% คิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหัน มาหารือกันโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องมีมาตรการ หรือแนวทางป้องกันแก้ไขอย่างเด็ดขาด ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท อันดับแรก 40.18 % มาจาการปลูกฝั่งค่านิยมที่ผิดๆ จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง คิดว่า เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีระหว่าง สถาบัน รองลงมา 30.09% มาจากอารมณ์ชั่ววูบ ใจร้อน ขาดสติ และมีความแค้นส่วนตัว อันดับ 3 11.73% คิดว่าเป็นการกระทำ ที่ดูเท่ ดูดี ซึ่งการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวะนั้น ประชาชาส่วนใหญ่ 87.14% เชื่อว่า จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อไป เพราะที่ผ่านมา ไม่เห็นมีการแก้ไขที่จริงจัง เกิดปัญหาซ้ำซาก
สำหรับแนวทางการแก้ไข นั้น เริ่มจาการปรับทัศนคติของนักศึกษาเหล่านี้ ตามด้วยการมีกฎหมายบทลงโทษที่เด็ดขาดและผู้ปกครอง ต้องให้ความรัก ดูแลเอาใจใส่บุตรหลานให้ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนอยากฝากเตือนสติเด็กอาชีวะ ให้คำนึงถึงหัวอกพ่อแม่ และความรู้สึกของพ่อแม่ และอยากให้มองเด็กอาชีวะทุกคนคือเพื่อนกัน ไม่ทะเลาะกัน และนำเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์สอนใจ
แก้ปัญหาลูกหลงเหตุใหญ่เด็กอาชีวะตีกัน
นอกจากนี้ “สวนดุสิตโพล” ยังสะท้อนความเห็นประชาชนเชื่อ ปัญหาเด็กอาชีวะตีกันแก้ปัญหาไม่ได้ เสนอ ปิด ร.ร.หรือยุบรวมเป็นสถาบันเดียวกัน เป็นทางออกแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท ยกพวกทำร้ายกันของนักเรียนอาชีวะที่เกิดขึ้นหลายครั้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เนื่องจากมีการใช้อาวุธปืนและอาวุธร้ายแรงในการก่อเหตุ ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเร่งแก้ปัญหา พร้อมแนวทางป้องกัน เพราะยิ่งนับวันเหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่มีผลกระทบและเสนอแนะแนวทางที่ควรเร่งแก้ไข
1.ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี “นักเรียนยกพวกทำร้ายกัน” จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
อันดับ 1.เป็นเรื่องของความขัดแย้ง ไม่ถูกกันระหว่างสถาบัน เป็นพฤติกรรมตกทอดกันมาที่แก้ไม่หาย 35.87% อันดับ 2.รู้สึกหดหู่ใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเสียใจกับประชาชนที่ไม่รู้เรื่องต้องมาบาดเจ็บและเสียชีวิต 28.62% อันดับ 3.มาจากพื้นฐานครอบครัว สภาพแวดล้อมและการคบเพื่อนฝูงของวัยรุ่นเป็นสิ่งสำคัญ 18.84% อันดับ 4. สังคมเสื่อมถอยส่งผลให้วัยรุ่นในปัจจุบันมีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง /เลียนแบบจากตัวอย่างที่ไม่ดี 9.78% อันดับ 5.ไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทำให้สถาบันต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง/พ่อแม่เป็นทุกข์ 6.89%
2.ประชาชนคิดว่า “สาเหตุสำคัญ” ของการทะเลาะวิวาทมาจากเรื่องใด ?
อันดับ 1.เรื่องของศักดิ์ศรีระหว่างสถาบัน ค่านิยมที่ผิดๆจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง/เครื่องแบบที่สวมใส่ 49.49% อันดับ 2.ความคึกคะนอง อารมณ์ร้อน ขาดสติ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ/อยากเด่นอยากดัง เท่ 32.54% อันดับ 3.สังคมในปัจจุบันมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง ใช้กำลังในการแก้ปัญหา /มีตัวอย่างที่ไม่ดีให้เด็กเห็น 7.80% อันดับ 4.กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีมาตรการที่เด็ดขาดหรือเอาจริง เอาจังมากพอ/มีแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละครั้งเท่านั้น ไม่มีการแก้ปัญหาแบบถาวร 6.10% อันดับ 5.น่าจะมาจากหลายๆ สาเหตุรวมกัน เช่น เรื่องส่วนตัว ปัญหาชู้สาว ยาเสพติด ฯลฯ 4.07%
3.ทางออก/วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ
อันดับ 1.ปิดโรงเรียน หรือ ยุบรวมไว้ด้วยกันเป็นสถาบันเดียวกันทั้งหมด 39.71% อันดับ 2.เร่งติดตามและนำตัวผู้ที่กระทำผิดมาลงโทษขั้นเด็ดขาด/ส่งเข้าสถานพินิจ ขังคุกควบคุมความประพฤติ ละลายพฤติกรรม เพื่อไม่ให้มีคนเอาเยี่ยงอย่าง 37.55% อันดับ 3.กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาเรื้อรังขอความร่วมมือไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา สอศ.และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 8.67% อันดับ 4.ภายในสถานศึกษาต้องมีการควบคุมดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด มีการตรวจค้นเพื่อป้องกันการพกอาวุธ/มีการจัดตั้งอาสาสมัครคอยสอดส่องดูแล แจ้งข่าว/แต่งตั้งอาจารย์ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ 7.21% อันดับ 5.ควรมีการพูดคุยกันระหว่างสถาบันเพื่อหาแนวทางหรือทางออกที่ดีที่สุด/ส่งตัวแทนนักเรียนของแต่ละสถาบันมาพูดคุยกันเพื่อหาข้อตกลงที่น่าพอใจสำหรับทุกฝ่าย 6.86% (ที่มา : www.mgronline.com)
องค์กรสิทธิมนุษยชนช่วยผู้ถูกลูกหลงชุมนุม
ลำพังเพียงแค่ตัวบุคคลหรือญาติของผู้ที่ถูกลูกหลงจากเหตุการณ์ความจลาจลต่าง ๆ คงไม่เสียงดังพอที่จะร้องขอความช่วยเหลือ จึงต้องพึ่งพาองค์กรเอกชนเข้ามาช่วยดูแล ยกตัวอย่างกรณีของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตัวแทนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ยื่นหนังสือเร่งตรวจสอบหนังสือร้องเรียน กรณีประชาชนผู้ได้รับลูกหลงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เมื่อปี 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารรัฐศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รับเรื่องร้องเรียนนายมานะ หงษ์ทอง อายุ 64 ปี ประชาชนผู้อาศัยใกล้บริเวณแฟลตดินแดง กรุงเทพฯ ที่เกิดเหตุการณ์สลายการชมนุม ได้รับลูกหลงถูกยิงด้วยกระสุนยางบาดเจ็บสาหัส โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ปัจจุบันอาการบาดเจ็บอยู่ในสภาวะทุพพลภาพ จากกระสุนยางยิงเข้าบริเวณศรีษะ ไม่สามารถขยับตัวได้ โดยญาติเป็นผู้ดูแลใกล้ชิด
โดยบางส่วนของหนังสือได้ระบุว่า ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการสลายการชุมนุมที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่อันส่งผลให้ประชาชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเสียหายร้ายแรง และติดตามคดีเพื่อเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งการสืบสวนสอบสวนเพื่อผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายและให้ผู้เสียหายได้รับการฟื้นฟูเยียวยาโดยเร็ว
นางสาวคอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตั้งแต่รับเรื่องและบันทึกความร้องทุกข์ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด ที่ สน.ดินแดน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ทว่าเป็นเวลากว่า 6 เดือน (เหตุการณ์ในขณะนั้น) ปัจจุบันกลับไร้วี่แววการดำเนินงานจากหน่วยงานภาครัฐ “เราต้องการทำให้ประเด็นนี้เป็นที่รับทราบ เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการช่วยเหลือ อยากให้ทางกสม.ช่วย เรื่องการติดตามคดี ที่ยังไม่มีความคืบหน้า เหตุผู้บริสุทธิ์ได้รับการชดเชยเยียวยา เราคาดหวังการสลายการชุมนุมของรัฐอย่างไม่ละเมิดสิทธิ และใช้ความรุนแรง ต้องการให้กรณี มานะ เป็นบรรทัดฐานของรัฐ ในการดำเนินการรับผิดชอบความเสียหาย ไม่ใช่รอให้ผู้เสียหายดำเนินการเองเมื่อเหตุการณ์เกิดก็ต้องยอมรับผลกระทบด้วย ต้องให้ทางรัฐช่วยเหลือ โดนให้ทาง กสม.ช่วยเร่งติดตาม
“เป็นเรื่องการของนโยบายทางการเมืองเรื่องเกมการเมือง บ้านเรายังมีวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล จริงเราก็มีบทเรียนมาเยอะมากเลย ทั้งที่ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ไหนถูกลงโทษทางกฎหมายเลย เรื่องการชุมนุมเหมือนกัน เรื่องที่คนล้มบาดเจ็บ แต่ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ แต่เราอยากเห็นว่ารัฐมีแนวทางในการป้องกัน แต่เหตุการณ์ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่”
บทสรุปส่งท้ายคือ ทำอย่างไรไม่ให้ถูก “ลูกหลง” ในสถานการณ์บ้านเมืองและสังคมในปัจจุบันไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า เราจะถูก “ลูกหลง” เมื่อไหร่ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เลวร้ายใด ๆ แบบที่รู้ตัวมาก่อน หากเราโชคดียังปลอดภัยและมีชีวิตอยู่ขอให้ตั้ง “สติ” เพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะให้ได้ดีก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้..แล้วหวังว่า “ไฟไหม้คอกวัว” คงจะแก้ไขได้อย่างยั่งยืนในสักวันหนึ่ง!
ภาพ : อินเทอร์เน็ต
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 406 วันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2566
หน้า 2-3 สกู๊ปปก
“ลูกหลง” ไฟไหม้คอกวัว
วิบากกรรมซ้ำซาก(มาก)
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๐๖ ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
https://book.bangkok-today.com/books/vtfc/index.html#p=1