Digiqole ad

ร่างกฎหมายแก้ฝุ่นพิษของก้าวไกล มุ่งจัดการปัญหาที่ต้นตอ คนก่อต้องรับผิดชอบ

 ร่างกฎหมายแก้ฝุ่นพิษของก้าวไกล มุ่งจัดการปัญหาที่ต้นตอ คนก่อต้องรับผิดชอบ
Social sharing

Digiqole ad
เป็นเวลาหลายปี ที่ประชาชนได้รับรู้ถึงการมีอยู่และความอันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 หลังเกิดปรากฏการณ์ฝุ่นปกคลุมท้องฟ้าในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและกรุงเทพฯ
.
จนถึงวันนี้ ทุกคนเห็นตรงกันว่าฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่นธรรมดา แต่เป็น “ฝุ่นพิษ” ที่ทำลายสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรงและทำลายเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว
.
ภาครัฐที่ผ่านมาบอกว่าพยายามแก้ไข แต่ดูเหมือนยังไม่ไปถึงต้นตอ บางพื้นที่เผชิญปัญหานี้ต่อเนื่องเกือบ 5 ปี บางพื้นที่เผชิญมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ประชาชนทำได้เพียงป้องกันตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าต้องทำไปถึงเมื่อไร
.
แม้สาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ อาจมาจากหลายแหล่ง จากภาคเกษตรกรรม เช่น การเผาในที่โล่ง ไฟป่าที่ไม่มีการควบคุม / จากภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถ่านหิน / จากภาคขนส่ง เช่นการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รวมถึงการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
.
แต่อีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งมีข้อมูลจากภาพถ่ายทางดาวเทียม คือร่องรอยการเผาไหม้เศษวัสดุทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ก่อให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน โดยจากสถิติพบว่าค่า PM2.5 ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับค่าจุดความร้อน (Hot Spot) และค่าพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) ในต่างประเทศ
.
เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน พรรคก้าวไกลเห็นว่าต้องแก้ทั้งโครงสร้าง เราจึงเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน” เข้าสภาตั้งแต่วันแรกที่สภากลับมาเปิดประชุม เมื่อ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมกับร่างกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของก้าวไกลอีก 3 ฉบับ
.
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มอื่นๆ ที่เสนอกฎหมายเพื่ออากาศสะอาดเช่นกัน
– คณะรัฐมนตรี เสนอร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด (ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ สำนักงาน ป.ย.ป.)
– ภาคประชาชน เสนอร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ
– พรรคอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน, พรรคภูมิใจไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ
.
เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหา จะพบว่าความแตกต่างสำคัญในร่างของพรรคก้าวไกล อยู่ที่การเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ประกอบธุรกิจที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ อย่างจริงจังเข้มข้น สาระสำคัญของร่างสรุปได้ 11 ข้อดังนี้
.
1.กำหนดสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด
.
มาตรา 8 เขียนว่า “ให้สิทธิของบุคคลในการได้รับอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมาย”
.
นิยาม “อากาศบริสุทธิ์” คืออากาศที่ไม่มีฝุ่นพิษ หรือไม่มีมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ตามค่าความปลอดภัยของคุณภาพอากาศที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด หรือตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
.
2.มีมาตรการควบคุมหมอกควันข้ามพรมแดน
.
มาตรา 54 กำหนดให้ผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าซึ่งแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร ที่มีการผลิต การเก็บเกี่ยว หรือการจัดการวัสดุของเสียทางการเกษตรนอกราชอาณาจักรที่มีการเผาไหม้อันก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศข้ามแดนมายังประเทศไทย เป็นสินค้า “ต้องห้ามในการนำเข้า”
.
ต่อเนื่องมาตรา 55 หากพบว่าการก่อมลพิษข้ามพรมแดนนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือระบบสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง คณะกรรมการกำกับตรวจสอบฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้าม พรมแดน (หรือเรียกว่า คณะกรรมการกลาง) ที่ได้รับการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการใช้มาตรการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
.
ซึ่งในที่นี้รวมถึง การเจรจาในทางระหว่างประเทศ การใช้ความสัมพันธ์ทางการทูต การใช้กฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการจัดการต่อการก่อมลพิษข้ามพรมแดน และคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ประชาชนโดยเร่งด่วน
.
3.ให้สิทธิในการเข้าถึงระบบสุขภาพหากได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
.
มาตรา 9 วรรค 2 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ให้สิทธิในการเข้าถึงระบบสุขภาพเพื่อประเมินผลกระทบจากการรับฝุ่นพิษ รวมถึงให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียม หากบุคคลนั้นได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน
.
4.บังคับจัดทำรายงานของผู้ประกอบกิจการ
.
กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการในไทย และผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่ประกอบกิจการต่างประเทศ จัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมในด้านมลพิษทางอากาศ รายงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
.
เพื่อรายงานกระบวนการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ว่าได้ดำเนินกิจการที่มีส่วนก่อให้เกิดฝุ่นพิษหรือไม่ ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาทำ ผลิตภัณฑ์ และแสดงทุกรายการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ผลิตผลิตภัณฑ์โดยครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า
.
5.ตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ที่มีที่มาจากการเผาทั้งในและต่างประเทศ
.
มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ เช่น ใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ข้อมูลจุดความร้อน หากตรวจพบว่ากิจการนั้นๆ มีการก่อฝุ่นพิษแพร่กระจายเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจนเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในราชอาณาจักรไทย สวนทางกับสิ่งที่รายงานต่อคณะกรรมการฯ
.
บริษัทหรือผู้เป็นเจ้าของ ครอบครอง หรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 200,000 บาทจนกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายของฝุ่นพิษได้ โดยให้โทษปรับอย่างสูงรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท
.
6.ผู้ก่อมลพิษต้องเปิดเผยข้อมูล
.
ควบคู่ไปกับบทลงโทษทางกฎหมาย คือบทลงโทษทางสังคม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่เป็นสาเหตุของฝุ่นพิษ ให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทยและต่างประเทศ สามารถเข้าถึงและรับทราบถึงข้อมูลนี้ได้โดยสะดวกและตลอดเวลา เพื่อประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะสนับสนุนธุรกิจหรือผู้ประกอบการรายนี้ต่อไปหรือไม่
.
7.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อสภาผู้แทนราษฎร
.
ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษฯ ของพรรคก้าวไกล จะทำให้อำนาจและบทบาทของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีความชัดเจนมากขึ้น
.
เช่น มีอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดฝุ่นพิษในประเทศและมลพิษข้ามพรมแดน และมีอำนาจการสั่งการไปยังกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินการแก้ไขหรือหยุดดำเนินการ หากมีข้อบ่งชี้ว่าการดำเนินธุรกิจนั้นก่อให้เกิดฝุ่นพิษหรือมลพิษข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย
.
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ต้องจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับแผนและผลการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. นี้ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ปีละ 1 ครั้ง
.
8.ใครเป็นประธานคณะกรรมการระดับจังหวัด
.
“คณะกรรมการระดับจังหวัด” หมายถึง “คณะกรรมการกำกับตรวจสอบฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนประจำจังหวัด” ที่ได้รับการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยมี นายก อบจ. เป็นประธาน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง มีความยึดโยงและต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่
.
9.การประกาศเขตมลพิษ
.
หากพื้นที่ใดเกิดภาวะมลพิษทางอากาศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการประจำจังหวัดประกาศให้พื้นที่นั้นเป็น “เขตฝุ่นพิษอันตราย” และให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ เช่น
.
– ออกคำสั่งให้ลด ระงับ หรือหยุดกระทำการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น รวมถึงออกคำสั่งระงับหรือหยุดกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ ชั่วคราว
– จัดให้มีระบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ
– จัดให้มีห้องปลอดฝุ่นเพื่อรองรับกลุ่มผู้เปราะบางในเขตประสบมลพิษทางอากาศ
– แจกจ่ายอุปกรณ์สำหรับป้องกันมลพิษทางอากาศ เป็นต้น
.
10.มาตรการควบคุมการเผาในที่โล่งและยานพาหนะ
.
กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ เพื่อระงับ กำจัด ควบคุม และห้ามการกระทำที่เป็นเหตุก่อให้เกิดฝุ่นพิษ เช่น การเผาในที่โล่ง
.
11.การแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่เมื่อมีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน
.
รัฐต้องมี “ระบบแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่” ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องมากกว่า 24 ชั่วโมง ประเด็นนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรมีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนด้วยระบบ Cell Broadcast หรือ Location-Based SMS เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นั้นตระหนักถึงค่ามลพิษทางอากาศที่พวกเขากำลังสูดหายใจ
.
พรรคก้าวไกลตระหนักดี ว่าการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถทำได้ทันที เราจึงเสนอกฎหมายเพื่อปรับโครงสร้างในระยะยาว เป้าหมายเพื่อทำให้คนทั้งประเทศ ไม่ว่าคุณจะอยู่ไหน ต้องปลอดภัยจากฝุ่นพิษ ลดการสูญเสียจากมะเร็งปอด และมีอากาศสะอาดได้หายใจตลอดไป
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post