
รำลึก 50 ปี 14 ตุลาฯ : ก้าวให้ไกลกว่าการขับไล่รัฐบาลเผด็จการ คือการสร้างระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย


เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีความสำคัญในหลายมิติสำหรับการเมืองภาพใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังมีโจทย์ในทางประชาธิปไตยหลายเรื่องที่ยังไม่บรรลุ และยังคงเป็นวาระเดียวกันจากการเคลื่อนไหวครบรอบ 25 ปี ที่มีการจัดงานใหญ่ครั้งแรก
.
เพื่อพิทักษ์เจตนารมณ์ของการต่อสู้และยืนยันสานต่อโจทย์ทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐาน เช้าวันนี้ ชัยธวัช ตุลาธน – Chaithawat Tulathon หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำและ สส.ของพรรค ได้ร่วมงานครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว
.
โดยชัยธวัชระบุว่า การมาร่วมงานในวันนี้ ได้พูดคุยกับญาติวีรชนหลายคน รับรู้ถึงความคาดหวังที่หลายคนยังอยากให้คนรุ่นใหม่ สืบสานการต่อสู้ของคนเดือนตุลาฯ ต่อไปให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ท่ามกลางความขัดแย้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไม่ว่าจะฝ่ายไหนต่างคิดว่าตัวเองออกมาสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า และต่างก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง บ้างก็ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออก นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่พรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
.
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับว่าคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองไม่ใช่อาชญากร เพียงมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน และควรได้รับการนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งจะเป็นประตูบานแรกให้ฝ่ายต่างๆ ได้หันหน้ามาหาฉันทาทติร่วมกัน
.
ผ่านมา 50 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพยังเป็นปัญหา มีคดีความที่ประชาชนจำนวนมากยังถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรง หลายคนไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม เช่นประกันตัวสู้คดี เพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น นี่ยังคงเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องให้ความสำคัญ ต่อสู้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากที่สุด

ในวาระ 50 ปี 14 ตุลาฯ เรื่องของรัฐธรรมนูญยังคงเป็นเรื่องใหญ่ บทเรียนสำคัญคือเมื่อประชาชนได้ออกมาขับไล่ผู้นำรัฐบาลเผด็จการแล้ว แม้บ้านเมืองจะมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ขาดการผลักดันที่มากไปกว่านั้น โดยเฉพาะความพยายามออกแบบระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ที่มีรูปธรรมหนึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ
.
นั่นนำมาสู่โจทย์สำคัญของวันนี้ คือการออกแบบการรณรงค์ให้ประชาชนได้ลงประชามติว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้เกิดการออกแบบระบบการเมืองใหม่ที่เราจะอยู่ร่วมกัน เป็นพื้นที่ของทุกคนแม้ข้อเสนอของทุกคนจะไม่ได้รับการตอบสนองทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยก็ควรจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพได้
.
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ผ่านมา มีการรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงมีการรองรับพันธกรณีระหว่างประเทศหรือสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้มาก แต่ก็ไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น จึงยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกหลายเรื่องเพื่อให้เกิดสิทธิเสรีภาพในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล

Facebook Comments