
ราคาห้องชุดใหม่Q1/64ขยับปรับสูงขึ้น


ช่วงแต่ละปีของภาคอสังหาริมทรัพย์ จะมีการประมวลผลเรื่องของราคาทั้งส่วนของบ้านเดี่ยว อาคารชุดหรือห้องชุด เพื่อเปรียบเทียบว่าราคาขายแต่ละปีเป็นอย่างไร ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ทำ รายงานดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่ามีค่าดัชนีเท่ากับ 152.2 จุด ลดลง – 0.8 % ลดลงเป็นไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2563
ต่อเรื่องนี้ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยรายละเอียดว่าการที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ไปจนถึงสิ้นปี 2564 สามารถกระตุ้นการซื้อขายห้องชุดได้ โดยดูจากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ในปี 2563 ทั่วประเทศลดลงเพียง -1.5% จากปี 2562 แต่ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ทุกระดับราคาทั่วประเทศลดลงถึง -8.5%
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ– ปริมณฑล มีสัดส่วนเฉลี่ยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดถึง 80% ของประเทศไทย ซึ่งกรุงเทพฯ– ปริมณฑลถือว่าเป็นตลาดหลักสำหรับอาคารชุดในประเทศไทย โดยในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1 % เมื่อเทียบกับปี 2562 ได้สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และการจดจำนองที่ผ่านมาในปี 2563 สามารถช่วยระบายอุปทานในตลาดให้ผู้ประกอบการได้ดีพอสมควร และภาวะที่อุปทานห้องชุดในตลาดลดลงได้ส่งผลเริ่มเห็นทิศทางราคาห้องชุดใหม่เริ่มปรับตัวขึ้น
โดยค่าดัชนีราคาห้องชุดใหม่ไตรมาส 1 ของปี 2564 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.2 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นไตรมาสแรกหลังจากลดลงต่อเนื่องติดต่อกันมาถึง 4 ไตรมาส แต่หากเทียบกับราคาห้องชุดใหม่ไตรมาส 1 ของปี 2563 พบว่า ค่าดัชนีราคาห้องชุดใหม่ยังคงต่ำกว่าปีก่อน 0.8% ซึ่งหมายความได้ว่า ราคาขายห้องชุดที่เสนอขายอยู่ในตลาด ยังคงอยู่ในระดับราคาที่มุ่งเน้นกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อในตลาดต่อเนื่องจากปี 2564
สำหรับดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ เมื่อพิจารณาแยกตามพื้นที่ พบว่า กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 153.6 จุด ลดลง -0.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)
ด้านปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 145.3 จุด ลดลง -0.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ ปีก่อน (YoY) แต่เพิ่มขึ้น 0.3 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)
สำหรับรายการส่งเสริมการขายห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาสนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 46.1% เป็นของแถม เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ รองลงมา 35.1% เป็นส่วนลดเงินสด และ 18.9 % เป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์
*สถิติโอนห้องชุดต่างชาติต่ำสุดในQ 2/63
สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์จะขายดีประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องไปดูกันที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ ทาง REIC พบว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดอาคารชุดที่ขายให้กับคนต่างชาติ เนื่องจากมีการล็อกดาวน์การเดินทางเข้า-ออกประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวในส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพียง 1,162 หน่วย โดยลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง – 61.1% และมีมูลค่าลดลงเหลือ 5,073 ล้านบาท หรือลดลง -54.3 %
ต่อมา ในไตรมาสที่ 3-4 สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น
โดยเป็นผลมาจากความพยายามแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติสามารถทำการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่สร้างเสร็จพร้อมโอนได้ โดยเพิ่มเป็น 1,885 หน่วย มูลค่ารวม 9,381 ล้านบาทในไตรมาส 3 และจำนวน 2,592 หน่วย มูลค่ารวม 12,730 ล้านบาท ในไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้ทั้งปี 2563 มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 8,285 หน่วย มูลค่า 37,716 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยต่ำกว่าปี 2562 ที่ -35.3 % และมูลค่าลดลง -25.5 %
ดร.วิชัย กล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ เทียบกับคนไทย พบว่า ในปี 2561 คนต่างชาติเคยมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์คิดเป็น 10.1% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด และมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 16.3 % ของมูลค่าทั้งหมด ต่อมาในปี 2562 มีสัดส่วนลดลงเหลือ 9.9 % ของจำนวนหน่วยทั้งหมด และ 15.5 % ของมูลค่าทั้งหมด และมีสัดส่วนต่ำสุด เหลือเพียง 6.8 %ของจำนวนหน่วยทั้งหมด และ 12.1 % ของมูลค่าทั้งหมดในปี 2563
ระดับราคาห้องชุดที่คนต่างชาติมีการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 – 2563) ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท และราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท โดยทั้งสองระดับราคาจะมีสัดส่วนจำนวนหน่วยใกล้เคียงกันคือ 23.2 % และ 23.0 % ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาด้านมูลค่าการโอน พบว่า ห้องชุดระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท จะมีสัดส่วนมูลค่าสูงสุดถึง 28.5 %
โดยจะพบว่าต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในพื้นที่กรุงเทพฯมากกว่าครึ่ง ทั้งนี้จังหวัดที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติมากที่สุดในปี 2563 ใน 10 ลำดับแรก ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันมากถึง 99.7 % และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวมกันมากถึง 99.8% ส่วนที่เหลืออีก 20 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยเพียง 0.3% และสัดส่วนมูลค่ารวมกัน 0.2 %
อันดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนหน่วยมากถึง57.1% และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนมากถึง73.5% เกินกว่าครึ่งหนึ่งของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศ อันดับสองคือ จังหวัดชลบุรี มีสัดส่วนจำนวนหน่วย 24.9 % แต่มีสัดส่วนมูลค่า 14.2 % อันดับสามคือจังหวัดภูเก็ต มีสัดส่วนจำนวนหน่วยเพียง 4.7 % แต่มีสัดส่วนมูลค่า 4.6 % ส่วนอันดับ 4 – 10 ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ปทุมธานี ระยอง นนทบุรี และเชียงราย ตามลำดับ
จากข้อมูลยังพบว่า ชาวจีนมีสัดส่วนโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด เมื่อมาจำแนกตามสัญชาติของคนต่างชาติที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2563 เปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งสัญชาติของคนต่างชาติของทั้งสองปีมีรายชื่อ 10 ประเทศที่เหมือนกัน โดยอันดับแรก เป็นชาวจีน ซึ่งเป็นคนต่างชาติที่มีการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด โดยในปี 2562 มีสัดส่วนการโอน 59.6% ของจำนวนหน่วย และเพิ่มสัดส่วนเป็น63.4 % ในปี 2563
อันดับสอง เป็นชาวรัสเซีย มีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563 อยู่ที่ 4.7% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด แต่ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน6.2 % ของจำนวนหน่วยทั้งหมด อันดับสาม เป็นชาวฝรั่งเศส สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563 ที่ 3.4% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 3.1% อันดับสี่ เป็นชาวสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563 ที่ 3.1 %ของจำนวนหน่วย สัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน3.0 % อันดับห้า เป็นชาวเยอรมัน สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563ที่ 2.5% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน2.2%