Digiqole ad

ระบบแจ้งเตือนภัยที่ประชาชนจะอุ่นใจ ต้องไม่ใช่แค่ SMS

 ระบบแจ้งเตือนภัยที่ประชาชนจะอุ่นใจ ต้องไม่ใช่แค่ SMS
Social sharing
Digiqole ad
ที่ผ่านมา การทำระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันในหลายรัฐบาล มีการติดตามทวงถามความคืบหน้ามาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุเภทภัยที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
.
ล่าสุด จากกรณีกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน รวมถึงเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ได้ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบขึ้นมาพูดอีกครั้ง โดยทางรัฐบาลพยายามตอบสนองผ่านการแถลงอย่างคร่าวๆ แล้วว่าจะมีการทำระบบดังกล่าว
.
เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องกรอบเวลาและรูปแบบของระบบ เมื่อวานนี้ (12 ต.ค. 66) ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ – Natthaphong Ruengpanyawut สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จึงตั้งกระทู้ถามสดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประเสริฐ จันทรรวงทอง ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความชัดเจนในหลายกรณี
.
[ ระบบเตือนภัยที่ดี ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์และพื้นที่ ]
.
ณัฐพงษ์ตั้งต้นด้วยข้อคิดที่เป็นพื้นฐานทั่วไป ว่าระบบการเตือนภัยที่ดีต้องมีหลายรูปแบบตามความหนักเบาของสถานการณ์และพื้นที่ที่เกิดเหตุภัยพิบัติ
.
ยกตัวอย่าง ภัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่นฝุ่น pm2.5 ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนตื่นตระหนก อาจใช้การส่ง SMS ก่อนออกจากบ้านแทน ขณะที่ภัยพิบัติและภัยความมั่นคงที่ร้ายแรงมากขึ้น รัฐบาลต้องมีระบบศูนย์กลางแจ้งเตือนให้ประชาชนอย่างเหมาะสม ปัจจุบันทันด่วน และเหมาะกับพื้นที่ เช่น ประชาชนต้องได้รับข้อความแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์แม้จะเปิดระบบสั่นไว้ ซึ่งมีตัวอย่างที่น่าสนใจ 2 กรณี
.
(1) การแจ้งเตือนผ่านสถานีโทรทัศน์ อย่างที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างประชาชนรับชมรายการทางโทรทัศน์ปกติอยู่ เมื่อเกิดภัยพิบัติทอร์นาโดขึ้น จะมีการแจ้งเตือนผ่านช่องสัญญาณโทรทัศน์ มีจอดำปรากฏขึ้น ก่อนขึ้นเสียงแจ้งเตือน พร้อมข้อความแจ้งเหตุภัยพิบัติตามมา
.
(2) ระบบการแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน ที่ไม่ใช่ SMS หรือที่เรียกว่า Cell broadcast ซึ่งโทรศัพท์รุ่นใหม่ต่างรองรับระบบนี้ เป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่แม้ผู้ใช้เปิดระบบสั่น โทรศัพท์ก็จะร้องขึ้นมา และมีหน้าจอที่ผิดปกติให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นการแจ้งเตือนภัยพิบัติอย่างชัดเจน
.
[ ระบบเตือนภัยที่ดี ต้องครอบคลุมทุกช่องทางการสื่อสาร]
.
ในรัฐบาลชุดก่อน มีแผนยุทธศาสตร์เตือนภัยแห่งชาติด้วยดิจิทัลแบบบูรณาการ ณัฐพงษ์จึงสอบถาม รมว.ดีอี ว่าสิ่งที่รัฐมนตรีได้ออกมาแถลงว่าจะทำให้เกิดระบบ Cell broadcast ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีนั้น จะเหมือนหรือต่างอย่างไรกับแผนของรัฐบาลชุดก่อน และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะดีกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา ที่ไม่มีระบบเตือนภัยเกิดขึ้นจริง
.
คำถามต่อมา อยากให้รัฐมนตรีตอบให้เห็นถึงความชัดเจนในด้านสถาปัตยกรรมระบบ ระบบที่ดีต้องเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะประชาชนที่มีสมาร์ทโฟน สถานีโทรทัศน์ต้องตัดภาพให้ประชาชนรับทราบได้ วิทยุชุมชนตามจังหวัดต่างๆ ต้องสามารถแจ้งเตือนได้
.
และที่แถลงว่าระบบแจ้งเตือนในระดับพื้นที่ (location-based service) จะพร้อมใช้งานภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี ในลักษณะของ Cell broadcast นั้น จะรองรับแค่โทรศัพท์มือถือหรือรองรับทั้งคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีด้วยหรือไม่
.
แม้รัฐบาลจะยืนยันแล้วว่ามีแนวคิดในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนครอบคลุมทุกเครือข่ายทุกสื่อ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความเกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานความมั่นคง ฯลฯ ที่จะส่งข้อมูลมาที่ระบบศูนย์กลาง ตามด้วยการวางระบบให้มีความครอบคลุมไปถึงวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี ซึ่งทั้งหมดนี้ทำภายใน 1 ปีไม่เสร็จแน่นอน
.
ดังนั้น ความชัดเจนที่อยากได้ คือกรอบระยะเวลาในการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่รองรับการสื่อทุกรูปแบบ มีแนวคิดหรือกรอบเวลาในการทำให้สำเร็จภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ และหากไม่เป็นเช่นนั้น จะแล้วเสร็จภายในกี่ปี
.
[ ระบบแจ้งเตือนภัยที่ดี หวังว่าจะเกิดขึ้นเสียที ]
.
ณัฐพงษ์ถามคำถามสุดท้าย ขอความชัดเจนเพิ่มเติมเรื่องงบประมาณ ว่าแหล่งที่มาจะมาจากแหล่งใด ระหว่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือกองทุน กสทช. หรือใช้ประกอบกันทั้งสองส่วน และถ้ามีแผนที่ชัดเจนในกรอบเวลาแล้ว กระทรวงดีอีต้องมีการตั้งโครงการของบประมาณเข้ามา อยากทราบชื่อโครงการและเม็ดเงินงบประมาณในแต่ละปีด้วย
.
นี่คือสิ่งที่เราทุกคนต้องติดตามและคาดหวังด้วยกันต่อไป ว่าการดำเนินการเรื่องนี้ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะแตกต่างและมีผลสัมฤทธิ์มากกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะการมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ดี (ที่ไม่ใช่แค่ SMS) จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชน ทั้งในการรับมือสถานการณ์และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments

Related post