Digiqole ad

รวมการเฉพาะกิจทีมวินทุกเว(ที) Ways to Win EP:28 คิดเหมือน คิดต่าง คิดอย่าง “วินทุกเว(ที)” ตอน 4 : เวทีประกวดจากยุคนั้นสู่ยุคนี้ (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 ก.ย.66)

 รวมการเฉพาะกิจทีมวินทุกเว(ที) Ways to Win EP:28 คิดเหมือน คิดต่าง คิดอย่าง “วินทุกเว(ที)” ตอน 4 : เวทีประกวดจากยุคนั้นสู่ยุคนี้ (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 ก.ย.66)
Social sharing
Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 กันยายน 2566

หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:28

คิดเหมือน คิดต่าง คิดอย่าง “วินทุกเว(ที)”

ตอน 4 : เวทีประกวดจากยุคนั้นสู่ยุคนี้

4 โค้ชวินทุกเว(ที) รวมการเฉพาะกิจร่วมกันแชร์ประสบการณ์เรื่องราวของเวทีประกวดนางงามสมัยก่อนเปรียบเทียบกับปัจจุบัน เพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลนางงามที่ยามนี้จัดประกวดกันอย่างคึกคักและต่อเนื่องมาตลอด

ฉบับนี้ ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ มาเล่าประสบการณ์การทำข่าวนางงาม ตั้งแต่ ปี 2535 กันต่อ โดยใช้คอนเซ็ปต์จากคำว่า “สาย”

  1. สายสะพาย : ในการประกวดนางงามสมัยก่อนนิยมติดแค่หมายเลขเท่านั้น “เวทีนางสาวไทย” นิยมติดหมายเลขที่ชุดเสื้อผ้าต่าง ๆ แต่จะมีติดสายสะพายชื่อสปอนเซอร์ในรอบชุดว่ายน้ำ ส่วน “เวทีมิสไทยแลนด์” กับ “มิสทีนไทยแลนด์” นิยมติดหมายเลขตรงข้อมือ โดยเวลาถ่ายรูปออกมาแล้วมักไม่เห็นหมายเลข อาทิ นางงามอาจยกมือไปมา นางงามยืนบังหมายเลขกัน ซึ่งนักข่าวอาจเดาไม่ถูกว่าใครเป็นใคร เพราะหน้าตาจะคล้าย ๆ กันหมด ยกเว้นเป็น “ตัวเก็ง”/“ตัวเต็ง” แต่สมัยนี้จะเรียกกันว่า “ตัวตึง”

หันมามองในยุคนี้นางงามใส่สายสะพายที่มีชื่อจังหวัดหรือชื่อตัวเองแทนหมายเลขไป แบบนี้นักข่าวไม่มีวันหลง อีกทั้งนางงามในยุคนี้ “เป็นงาน” พอเจอช่างภาพขอถ่ายรูปจะโชว์สายสะพายให้รู้ว่าไผเป็นไผ สาวงามบางคนถือโอกาสพูดขอคะแนนจากนักข่าวเลยประมาณว่า “คุณพี่อย่าลืมเชียร์หนูด้วยนะคะ หนูจาก…..หนูชื่อ…..” แต่อย่างไรก็ตามหมายเลขยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ เนื่องจากได้มีการจัดให้มีระบบการโหวตให้คะแนนผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ค่ายต่าง ๆ  เพื่อสร้างรายได้ให้กับ “กองประกวด” (ปัจจุบันเรียกว่า “กองแม่”) แล้วจะมีตำแหน่งพิเศษจากการโหวตคือ MISS POPPULAR VOTE” บางเวทีให้นางงามที่ได้ตำแหน่งนี้ ผ่านเข้ารอบ 10 หรือ 12 คนสุดท้ายโดยอัตโนมัติ (FAST TRACK) และรอบลึก ๆ นางงามเดินบนเวทีแทบไม่ค่อยใส่หรือคาดสายสะพาย แต่มีชื่อขึ้นที่จอ LED และจอทีวีทางบ้านเท่านั้นต้องตาไวกันพอสมควร

  1. สายสปีช : นางงามสมัยก่อนตอบคำถามกันไม่ค่อยจะได้จะดีกัน “ไปไหนมาสามวาสองศอก” หรือ “น้ำท่วมทุ่งผ้กบุ้งโหรงเหรง” อย่างนางงามอิมพอร์ต มีทั้งตอบ “ดีสุดขีดกับมั่วสุดขีด” ที่ว่าสวยแล้วแต่บางคนก็ยังพูดไทยไม่ชัด แถมยังฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ซึ่งนางงามสมัยนี้ต้องบอกว่า “อย่าให้จับไมค์” “ไม่เคยตายไมค์” เพราะทุกคนฝึกฝนศิลปะการพูดมาดี หลายเวทีเปลี่ยนเทรนด์การประกวด โดยจะให้นางงามพูดทุกรอบ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการ “ประกวดนักพูด” มากกว่าจะเป็นการ “ประกวดนางงาม”ไปเสียอีก กระทั่งต้องมีการเปิดคอร์สติวการพูดสำหรับนางงามโดยเฉพาะ แม้แต่ตัวผมเองเคยติวให้นางงามมากแล้วหลายคน (ได้มงก็มี ได้รองก็มาก ตกรอบก็เพียบ…เพราะดันช็อตไมค์) แถมภาษาอังกฤษยังต้องคล่องแบบน้ำไหลไฟดับ โดยเฉพาะรอบไฟนอล คุณเธอแข่งกันสปิกอิงลิชกันน่าดู ใครพูดไม่ได้หรือไม่เก่งโอกาสที่จะได้มง ดูเหมือนเลือนลางมาก
  2. สายสนกลใน : ความหมายของผมคือ นางงามที่มีต้นทุนมาดี ไม่ว่าจะเป็นโพรไฟล์ ทีมงานที่แต่ก่อนมีพี่เลี้ยงเพียงแค่ 1-2 คน เดี๋ยวนี้นางงามตัวปัง ๆ ตัวมารดา มีทีมงาน 10-20 คน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทีมวินทุกเว(ที) เคยถูกเชิญร่วมเป็นทีมงานมาแล้วด้วย และพวกเธอก็ได้มงและรองมาแล้วหลายคน โดยนางงามไม่ต้องวิ่งหานักข่าว นักข่าวจะวิ่งหานางงามเอง หากเด็กเราครบเครื่อง (พร้อมมง) เหมือน “มาม่าคัพ” ที่เพียงแค่เปิดฝาฉีกซองเครื่องปรุงแล้วนำน้ำร้อนเทใส่ อีกไม่กี่อึดใจก็ทานได้อร่อยเหาะเลย ไม่ต้องเป็น “มาม่าซอง” ไหนจะหาถ้าย ชาม มาใส่ ช้อน ส้อม มาใช้ แถมยังฉีกซองเครื่องปรุงย่อย ๆ หกเลอะเทอะดูวุ่นวายไปหมด

ส่วนการรู้จักคนในกองประกวด คงต้องบอกว่า ในวงการนางงามสมัยนี้โลกมันแค้บ..แคบ เรารู้จักกันหมด คงไม่ต้องเอ่ยปากฝากกันดูแลหรอก หากเราเทรนเด็กมา             ดีมาเป๊ะปัง อย่างไรแล้วก็ต้องเข้าตากรรมการบ้างล่ะ ไม่อยากให้คำว่า “เด็กเส้น” “เด็กดิวมามง” (หาแค่ตำแหน่งรองเท่านั้น) มาบั่นทอนจิตใจนางงามและทีมงาน

  1. สายวิชามาร : ในการประกวดนางงามทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงโค้งสุดท้ายหรือการประกวดรอบไฟนอล (FINAL) ถ้าหากเป็นการเลือกตั้งต่าง ๆ นานา คงเรียกว่า “คืนหมาหอน” ที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างสารพัดจากทุกสารทิศ มีการใช้ “วิชามาร” เล่ห์ กล มนต์ คาถา ใด ๆ ขนมาใช้กันให้หมด นางงามคนนั้นคนนี้จะได้มง มีการใช้กุญแจเบอร์ใหญ่ล็อกมงไว้แล้วเป็น “สงครามจิตวิทยา” ที่ใช้ได้ผลกับนางงามจิตอ่อน แต่ใช้ไม่ได้กับนางงามที่ถูกฝึกให้มี “วุฒิภาวะทางอารมณ์” (EQ-Emotional Quotient ) มาดีมี “พลังบวก” (ไม่ใช่ “พร้อมบวก” ชาวบ้านเขานะ) THE SHOW MUST GO ON จงก้าวต่อไป ไม่หวั่นปัญหาน้อยใหญ่ใด ๆ

           อย่างไรก็ตามอยากฝากข้อคิดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “แม้วันนี้ฉันไปไม่ถึงพระจันทร์ แต่ฉันก็ภูมิใจที่ได้อยู่ท่ามกลางดวงดาว”…ท้ายที่สุดแล้วชีวิตของเราไม่ได้ผูกติดกับเวทีการประกวด ต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า ชีวิตยังมีสิ่งดี ๆ ให้ทำอีกเยอะแยะ…เวทีประกวดไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาลของชีวิตของเรา!  

ภาพ : อินเทอร์เน็ต,เพจ Missteenthailand-นางงามไทย,ชบาพิคเจอร์  

เรื่อง/เรียบเรียง : ดร.จุมพล โพธิสุวรรณ

 

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 กันยายน 2566

หน้า 33 คอลัมน์วินทุกเว(ที) Ways to Win EP:28

คิดเหมือน คิดต่าง คิดอย่าง “วินทุกเว(ที)”

ตอน 4 : เวทีประกวดจากยุคนั้นสู่ยุคนี้

https://book.bangkok-today.com/books/lsnl/#p=33

(พลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

 

Facebook Comments

Related post