Digiqole ad

รวบตึงอภิปรายแผนปฏิรูปประเทศ: เสียเวลา 5 ปี ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

 รวบตึงอภิปรายแผนปฏิรูปประเทศ: เสียเวลา 5 ปี ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
Social sharing
Digiqole ad
🔥 การปฏิรูปกฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม กับเป้าหมายที่หายไปและขาดคนรับผิดชอบอย่างแท้จริง
🔥 การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ-พลังงาน ที่วาดวิมานในอากาศ ฝันใหญ่ไปไม่ถึง
🔥 การปฏิรูปด้านสังคม เพียงนำภารกิจทั่วไปของหน่วยงานมาตัดแปะ และทิ้งคำถามใหญ่คาใจ “ประชาชนได้อะไร??”
🔥 นี่จึงไม่ใช่การปฏิรูป แต่คือการ ‘ปะติดรูป’ ขายผ้าเอาหน้ารอด เพื่อให้มีผลการดำเนินงานให้เอาตัวรอดทันเวลา สิ้นสุดเส้นตายในปี 2565 เท่านั้น
การประชุมสภาผู้แทนฯ วันนี้ (17 ส.ค.) มีวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง สส.พรรคก้าวไกลอภิปรายอย่างหลากหลาย จึงขอยกประเด็นอภิปรายด้านหลักๆ ที่น่าสนใจมารวมกันไว้ที่นี่ ประกอบด้วย ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม
📌 [ ปฏิรูปกฎหมาย กับเป้าหมายที่หายไป ] 📌
จุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และด้านกระบวนการยุติธรรม สะท้อนภาพการทำงานที่ล่าช้าและผลสัมฤทธิ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ รวมถึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย กำหนดเป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์ขึ้นมา 10 ข้อ ล้อกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญไทย คือให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การพัฒนาประเทศ กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ปฏิรูปการเรียนการสอนวิชากฎหมาย นี่คือเป้าหมายสำคัญ ๆ ของการปฏิรูป
แต่เมื่อครบกำหนดเวลาของการปฏิรูป ณ สิ้นปี 2565 จาก 5 กิจกรรมปฏิรูป ก็ลดลงเหลือ 2 เป้าหมาย แถมผลของการปฏิรูปก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ ‘ผลสัมฤทธิ์’ จริง ๆ
ยกตัวอย่าง ผลงานด้านการปรับปรุงกฎหมายให้มีเท่าที่จำเป็น ในรายงานผลการปฏิรูปฯ สรุปว่ามีกฎหมายหรือกระบวนงานที่ควรทบทวน ปรับปรุง หรือยกเลิก จำนวน 1,094 กระบวนงาน แล้วก็สิ้นสุดแค่ตรงนั้น คือแค่รู้ว่ามี 1,000 กว่ากระบวนงานที่ต้องแก้ไข ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว ไม่ได้ทำจนถึงการแก้ไขให้สำเร็จ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการมีส่วนร่วมกับประชาชน โดยตัวชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรมการปฏิรูปนี้ ควรจะเป็นจำนวน พ.ร.บ. ของภาคประชาชนที่ผ่านสภา หรือความเห็นต่อร่างกฎหมายของประชาชนถูกนำมาใช้ประกอบการแก้ไขกฎหมาย มากกว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายและผ่าน พ.ร.บ. การเข้าชื่อกฎหมายโดยประชาชน
📌 [ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บางเป้าหมายที่เคยมี ไม่ถูกพูดถึงหลังปรับปรุงแผนฯ ] 📌
มีเป้าหมายโดยสรุปว่าเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นธรรม มีกระบวนการที่โปร่งใสและเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
หากย้อนไปแผนปฏิรูปดั้งเดิมปี 2561 วาดเป้าหมายไว้อย่างสวยหรู มีถึง 10 ประเด็นปฏิรูป ที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งและทางอาญา แผนที่จะจัดทำร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมถึง 41 ร่าง และเรื่องที่น่าเสียดายที่สุด คือการพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
แต่สุดท้ายเมื่อมีการปรับปรุงแผนฯ ในปี 2564 เหลือเพียง 5 ประเด็นปฏิรูป ซึ่งเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งหมด และกฎหมายที่จะปฏิรูปเหลือเพียง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2565 และ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
ส่วนที่เหลืออีก 39 ฉบับไม่มีการพูดถึงในรายงานนี้เลย ไม่รู้ทำสำเร็จไปกี่ร่าง และกำลังดำเนินการอยู่กี่ร่าง
จุลพงศ์ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นการปฎิรูปกฎหมาย หรือการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ จะไม่มีทางสำเร็จได้เลย หากขาดคนรับผิดชอบที่แท้จริง
📌 [ ปฏิรูปเศรษฐกิจ วาดวิมานในอากาศ ] 📌
ต่อมา กรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายผลการปฏิรูปประเทศเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ประกอบด้วยด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านพลังงาน
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจ ในแผนปฏิรูปฉบับแรก สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปวางแผนไว้ว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยน มีอยู่ด้วยกัน 5 เป้าหมายหลัก คือ (1) มีผลิตภาพสูงขึ้น (2) มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น (3) มีการเติบโตอย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน (4) มีการเติบโตอย่างยั่งยืน (5) สถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศมีสมรรถนะสูง
วิมานในอากาศที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศวาดไว้ ช่างใหญ่โตสวยงาม เช่น เราจะเพิ่มผลิตภาพผ่านอุตสาหกรรมหลักอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร มีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค ตั้งเป้าว่านักท่องเที่ยวจะต้องเข้ามาใช้จ่ายเงินในประเทศไทยมากขึ้นเท่าไร ตั้งเป้าว่าจะมีการทำเกษตรโซนนิ่ง เลิกปลูกพืชราคาถูก เปลี่ยนมาปลูกพืชราคาแพง เป็นต้น
แต่ต่อมา ช่วงปี 2563 – 2564 ได้มีการปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศด้วยสาเหตุจากสารพัดปัญหา กิจกรรมปฏิรูปรวมไปถึงเป้าหมายต่าง ๆ ที่มีเป็นร้อยเป็นพัน จึงถูกย่อขนาดลงเป็นบิ๊ก ร็อค (big rock) อยู่ 5 กิจกรรม ได้แก่ (1) การสร้างเกษตรมูลค่าสูง (2) การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง (3) การเพิ่มโอกาสของ SME ในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย (4) การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของไทยในภูมิภาค (5) การพัฒนาศักยภาพของคนเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
แม้ว่าในภาพรวมหลังปรับปรุง การปฏิรูปจะยังคงดูคล้ายเดิม แต่ทำให้แคบลง แต่ไม่ใช่แค่เป้าหมายที่ย่อลง ผลลัพธ์จากการปฏิรูปก็ย่อลงด้วยเช่นกัน
เช่น การท่องเที่ยวที่พูดเรื่องการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว ผลออกมากลายเป็นทำได้แค่ฐานข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวและโปรโมทลงโซเชียลมีเดีย หรือ การเพิ่มพื้นที่ชลประทานที่ตั้งเป้าระยะยาวว่าจะต้องทำให้ได้ประมาณ 27 ล้านไร่ ผลที่สรุปออกมาบอกว่าเพิ่มได้ 160,000 ไร่ เท่ากับทำได้ 0.59% ผลที่ได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์!!
เป้าหมายที่หายไปเลย คือเรื่องการเติบโตอย่างครอบคลุม นี่แสดงให้เห็นว่าแผนการลดความเหลื่อมล้ำนั้นล้มเหลวอย่างชัดเจน ซึ่งหลักฐานของเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นผ่านตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงและปัญหาคนจนที่จนลงอย่างไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงได้ง่าย ๆ
📌 [ ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม่เพิ่ม แถมทำประชาชนเดือดร้อน ] 📌
ในแผนปฏิรูปฉบับแรก มีการพูดถึงทั้งทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ ทะเล สิ่งแวดล้อม อย่างรอบด้าน มีความพยายามเพิ่มพื้นที่ป่า ลดการบุกรุกป่า สุดท้ายกลายเป็นโครงการทวงคืนผืนป่า ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นปัญหาของ คสช. เกิดการฟ้องร้องขับไล่ประชาชนมากมาย ทำลายกระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน พอมาถึงผลการดำเนินงาน ก็เห็นว่าไม่ได้พูดถึงการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าเลย สุดท้ายกลายเป็น ป่าก็ไม่เพิ่ม ประชาชนก็เดือดร้อน
ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีแต่แผน ไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ในรายงาน กรณีมาบตาพุดที่บอกว่าจะแก้ไขปัญหามลพิษ และนำออกจากการประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็ยังทำไม่สำเร็จตามเป้าหมาย หรือเรื่องการรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายนี้ไปตั้งแต่สภาชุดก่อน แต่ก็ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดตก
จึงขอถามว่าคณะกรรมการปฏิรูปได้ทำอะไรบ้างกับเรื่องนี้ มีร่างกฎหมายของตัวเองหรือยัง และได้ให้ความเห็นไปอย่างไร ทำไมร่างกฎหมายนี้ถึงถูกนายกฯ ปัดตก
📌[ ปฏิรูปพลังงาน ปัญหาเดิมยังไม่ถูกแก้ ]📌
มาถึงการปฏิรูปพลังงาน เป้าหมายสำคัญคือการปรับโครงสร้างบริหารกิจการไฟฟ้า ส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทน ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในกิจการพลังงาน และสำคัญที่สุด คือให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม แต่ผลของการปฏิรูปประเด็นนี้ แทบไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
ยังไม่ต้องไปพูดถึงสมาร์ท กริด (Smart Grid) กิจการไฟฟ้าเสรี เอาแค่เรื่องพื้นฐานง่าย ๆ ว่า แผนการพัฒนาระบบไฟฟ้า หรือแผน PDP ฉบับใหม่ ที่ควรจะประกาศใช้เมื่อปีที่แล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศ ค่าความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าเราใช้พลังงานได้คุ้มค่ามากเพียงใด ที่ตั้งเป้าไว้ว่าต้องลดให้เหลือ 7.40 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อพันล้านบาท ผลก็ออกมาว่าไม่เป็นไปตามเป้า
การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันยังล้นเกิน ทำให้ประชาชนคนไทยต้องใช้ไฟฟ้าแพง แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีการปลดระวางโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น แถมยังมีข่าวว่าไปอนุมัติให้ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวเพิ่มขึ้นอีก
📌[ ปฏิรูปสังคม เป้าหมายเดิมฝันไกล ไปไม่ถึง ]📌
จากนั้น ชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ เขตจตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกล อภิปรายประเด็นปฏิรูปเกี่ยวกับสังคม ซึ่งรวมถึง ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านวัฒนธรรม
เมื่อปี 2561 ที่แผนปฎิรูปประเทศออกมาครั้งแรก มีความพยายามอย่างมากในการกำหนดเป้าหมายที่ใหญ่และแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง
เช่น การสร้างหลักประกันรายได้ในการเกษียณ แผนมีการตั้งเป้าที่จริงจังว่าภายในปี 2565 คนชราจะต้องมีรายได้จากระบบบำนาญทดแทนรายได้มากกว่าร้อยละ 30 หรือตั้งเป้าจะเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้จูงใจคนเข้ามาเป็นสมาชิกมากถึง 15 ล้านคน รวมถึงการมี พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่เสมือนกึ่งบังคับให้ทุกสถานประกอบการต้องมี Provident Fund เป็นทุนออมเพื่อการเกษียณ
หรือด้านกลุ่มผู้เสียเปรียบทางสังคม ในแผนเดิมพูดถึงภาพใหญ่อย่างการปฎิรูปเพื่อปลดล็อก ตั้งเป้าที่จะแก้ไขอุปสรรคให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการ ไม่ว่าจะเป็น การตั้งเป้าปฎิรูปขนส่งสาธารณะเพื่อคนทุกคน ว่าร้อยละ 80 ของบริการสาธารณะและการเดินทางของหน่วยงานรัฐ อปท. ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทุกคนต้องเข้าถึงได้ หรือการดำเนินการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการพัฒนาให้ได้มาตรฐานและครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดภาระพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตร
หรือแผนปฎิรูปฯ ด้านการศึกษา เคยพูดถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้นักเรียนที่ยากจน และยากจนพิเศษ ให้ครอบคลุมทั้ง 2.4 ล้านคน พูดถึงเป้าการจัดสรรงบประมาณเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity-based budgeting) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี
หากทั้งหมดนี้สามารถทำได้ สังคมคงจะได้ประโยชน์อย่างมาก แต่น่าเสียดายที่สุดท้าย แผนปฎิรูปฯ ติดปัญหาในการบริหารภายใน ที่ไม่สามารถทำได้จริงอย่างที่ตั้งไว้ รวมถึงต้องไปเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ดันออกมาภายหลัง นำไปสู่การทำแผนปฎิรูปฉบับปรับปรุงที่กว่าจะประกาศใช้ก็ปี 2564 และเป้าหมายที่กล่าวไปข้างต้น ก็ถูกตัดออก แทนที่ด้วยงานที่เชื่อว่าจะทำสำเร็จภายในปี 2565 เท่านั้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ ยากจะอธิบายได้ว่าทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรม เต็มไปด้วยคำอย่าง ‘ส่งเสริม สนับสนุน’
📌 [ เป้าหมายใหม่ (ก็ยัง) ไปไม่ถึง ] 📌
แม้จะตัดเป้าหมายและกิจกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับเวลาที่เหลืออยู่ในแผนปฎิรูปฉบับปรับปรุง แต่สุดท้ายเมื่อมาดูรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการดำเนินงานตามแผนปฎิรูปประเทศ เราจะพบว่าเป้าหมายที่โดนตัดทอนไปแล้วก็ยังไม่สามารถทำเสร็จได้ตามเวลาอยู่ดี โดยเฉพาะประเด็นกฎหมายซึ่งแทบไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จเลย
เช่น แผนปฎิรูปด้านสังคม ในส่วนการออมเพื่อการเกษียณ แม้จะเหลือเป้าหมายหลักเพียงเป้าหมายเดียว คือการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ให้สำเร็จ แต่ความคืบหน้ายังคงอยู่ที่ขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น
ส่วนด้านคนพิการ ที่เหลือเพียงการแก้ไขระเบียบการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ ก็ยังคงอยู่ระหว่างหน่วยงานรัฐในการทำร่างกฎหมาย ขณะที่ด้านการศึกษา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าเป็นกฎหมายที่จะปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ยังคงไม่สำเร็จ และได้รับการต่อต้านจากบุคลากรด้านการศึกษามากมาย หรือการผลักดันให้เกิดหลักสูตรฐานสมรรถนะ สุดท้ายหลักสูตรทำสำเร็จ แต่ก็เบรกการประกาศใช้ออกไป 2-3 ปี
📌 [ ปฏิรูปกีฬา(แบบนี้) ประชาชนได้อะไร? ] 📌
แม้จะมีเรื่องล้มเหลวมากมายในแผนปฎิรูปประเทศ แต่ก็มีงานที่ทำได้สำเร็จเหมือนกัน แต่คำถามคืองานที่ทำสำเร็จเหล่านั้น เราควรเรียกมันว่าการปฎิรูปประเทศได้เต็มปากหรือไม่ อาทิ การปฎิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน กิจกรรมที่ทำสำเร็จ ทำให้เราสงสัยว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร
เช่น ด้านวัฒนธรรม มีการจัดงานมอบรางวัลคุณธรรมอวอร์ด มอบรางวัลสาขาสื่อคุณธรรมสร้างสรรค์ นี่หมายความว่าเราจะปฏิรูปประเทศด้วยละครคุณธรรมอย่างนั้นหรือ หรือจะเอาเรื่องการสำรวจคุณธรรมของสังคมไทย ที่ใช้แบบสอบถามจริยธรรมง่ายๆ มีการวัดค่าพลังครอบครัวพลังเพื่อน
หรือด้านกีฬา สิ่งที่ทำนั้นต่างจากสิ่งที่หน่วยงานปกติทำอย่างไร เช่น การจัดซื้ออุปกรณ์กีฬา การจัดแข่งกีฬาท้องถิ่นในระดับหมู่บ้าน ส่วนการสนับสนุนลีกกีฬาระดับประเทศ ไม่มีโผล่มาในแผน แล้วจะเป็นการปฏิรูปวงการอย่างไร ยิ่งถ้าเราติดตามปัญหาวงการกีฬาตอนนี้ ที่ขาดทั้งเงินสนับสนุน ความมั่นคงในอาชีพนักกีฬา ไปจนถึงค่าลิขสิทธิ์ไทยลีกที่ตกต่ำ กิจกรรมพวกนี้ตอบโจทย์อะไรได้บ้าง
📌[ ปฏิรูปสื่อ กล้าที่จะเคลมศูนย์ข่าวปลอม(!) ]📌
มีการนำเรื่องการผลิตเผยแพร่ข้อมูลข่าวยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล ผ่านสื่อออนไลน์ โดยยกตัวอย่างเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ ของแบบนี้นำมาพูดเป็นผลงานการปฎิรูปประเทศได้อย่างไร
รวมถึงการนำเรื่องศูนย์ Fake News มาพูดถึงเป็นผลงาน ซึ่งที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเคยอภิปรายไว้ว่าศูนย์ดังกล่าวทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ถามหน่วยงานของรัฐมาตอบเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น Fact Checker ที่แท้จริง และสุดท้ายยังเคยเผยแพร่ข่าวปลอมเสียเอง
สรุปแล้ว เสียเวลาไปเปล่า ๆ 5 ปีอย่างไร้ประโยชน์ ฝันที่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ ขจัดความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายการปฏิรูปไม่เกิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
เป็นแค่การ ‘ปะติดรูป’ ขายผ้าเอาหน้ารอด ตัดเป้าหมายฝันไกลที่บรรลุไม่ได้ นำภารกิจทั่วไปของหน่วยงานมาตัดแปะ เพื่อให้มีผลการดำเนินงานให้เอาตัวรอดทันเวลาสิ้นสุดเส้นตายในปี 2565 เท่านั้น
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments

Related post