
รพ.แห่งความหวัง ทีมแพทย์เป็นมากกว่า “แพทย์” สร้างสุขเพื่อคนไข้
“ผู้หญิงปัจจุบันเจอคุณหมอก่อนเจอผู้ชายที่แต่งงานด้วย ถึงเวลามาหาคุณหมอปรึกษาการมีลูก อยากจะบอกว่าหมอรู้จักภรรยาคุณก่อนคุณมาเจอกันอีก” ข้อความสั้นๆ แต่ได้ใจความของคุณหมอสมเจตน์ แห่ง รพ.เจตนิน ที่พูดคุยกับคนไข้เรียกรอยยิ้มเวลามาปรึกษาเรื่องการมีบุตรหรือฝากไข่
ปัจจุบันการแต่งงานที่ช้าลงของผู้หญิงมีมากขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง และสิ่งที่ตามมาคือการมีทายาท หรือเรียกง่ายๆ ว่าลูกของคู่แต่งงาน เพราะการตั้งครรภ์ที่อายุมากเริ่มมีบุตรยาก แต่ยุคนี้การมีบุตรยากไม่ใช่ปัญหาเพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่สามารถทำให้การมีบุตรเป็นเรื่องง่าย แต่อย่างไรก็ตามความต้องการนอกเหนือจากการมีบุตรแล้วหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่อยากจะให้ลูกที่เกิดมาแข็งแรง ซึ่งความต้องการสองข้อนี้เหมือนเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลเจตนิน ยึดมาตลอดระยะเวลา25ปี จนกลายเป็นสายใยระหว่างคนไข้ กับคุณหมอเพราะทุกเคสที่เดินเข้ามาในรพ.แห่งนี้มีเรื่องราวประทับใจแบบต่างกรรมต่างวาระ
นพ.สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์โรงพยาบาลเจตนิน เล่าถึงเรื่องราวตัวเองการเข้ามาเป็นแพทย์ว่า สมัยก่อนเส้นทางของเด็กเรียนดีไม่สอบวิศวะฯ ก็สอบแพทย์ โชคชะตาเลือกว่าควรเดินสายแพทย์ เมื่อเรียนไปเรื่อยๆ เริ่มมีประสบการณ์ได้เจอเคสคนไข้มากมาย ประสบการณ์สอนเราให้มีความรับผิดชอบ เป็นหมอเมื่อเรียนจบต้องมีโอกาสเจอคนไข้ ท้องเสีย ไส้ติ่งอักเสบ หรือแม้กระทั่งโรคซับซ้อน หมอทุกคนต้องเจอ เรียกว่าทั้งหมดเป็นประสบการณ์ เราเริ่มคิดเลือกเรียนแผนกสูติฯ มองเห็นว่าการเกิดผลลัพธ์คือความสุขสร้างรอยยิ้ม แต่เมื่อคลุกคลี เราจึงรู้ว่าเป็นภาพลวงตา เราเห็นคนท้องมีความสุข แต่ยังมีคนอีกกลุ่มเรื่องท้องไม่ใช่เรื่องง่ายใช้วิธีแบบธรรมชาติไม่ได้
“หมออยากจะบอกว่าเมื่อมีการตั้งท้องเหมือนเข้าสนามรบ เพราะคนท้องมี2ประเภท แบบแรกท้องโลกสวย คิดไปถึงหาโรงเรียนให้ลูกแล้ว กับอีกแบบท้องแบบทุกข์ระทม กังวลไปทุกอย่างจะแท้งมั้ย จะมีโรคแทรกซ้อนหรือเปล่า ลูกจะเป็นอย่างไร ทั้ง 2 แบบหมอช่วยดึงสติกลับ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เอ็กซ์ตรีมมาก หมออยากบอกกลุ่มโลกสวยต้องกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงว่าท้องแล้วมีโอกาสแท้งมากถึง30% เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก โอกาสถูกหวยยังน้อยกว่าการแท้ง ส่วนอีกกลุ่มนั้นกลัวลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม เป็นออทิสติก เราอย่าเพิ่งคิดถึงจุดนั้นขอให้ลูกคลอดออกมาน่ารัก และทั้งหมดขึ้นอยู่กับการดูแล ซึ่งจะแฮปปี้เอนดิ้งหรือไม่อยู่ที่มายด์เซ็ทของความเป็นแม่”
คุณหมอเล่าเส้นทางของความเป็นหมอมาตลอด 21 ปี แต่เข้ามาทำงานกับที่รพ.เจตนิน 13 ปี หลังจากการเรียนจบจุฬาฯ ไปเรียนต่างประเทศกลับมาอยากจะเป็นครูบาอาจารย์ แต่ด้วยจุดหักเห คิดว่าเราอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ จนกระทั่งได้พบกับอาจารย์จงเจตน์ ได้เห็นวิธีการทำงานของอาจารย์ ได้เห็นวิสัยทัศน์ที่เราสัมผัสได้ อยากจะบอกว่าการที่นายดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ซึ่งอาจารย์ท่านเป็นต้นแบบที่ดี การทำงานที่นี่แม้ทำงานทุกวันแต่เรารู้สึกเหมือนไม่ได้มาทำงาน เพราะเรามีความสุขกับการทำงาน สามารถบาลานซ์ชีวิตการทำงานกับเรื่องส่วนตัวได้ ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยแม้ต้องถูกตามตัวดึกดื่นแค่ไหน ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่การจัดการกับตารางชีวิต
คุณหมอเล่าเพิ่มเติมอีกว่าหมอมาทำงานที่ รพ.ตั้งแต่โอกาสของการตั้งครรภ์แค่35% เป็นช่วงยุคที่ต้องใส่ตัวอ่อนเข้าไปมากกว่า1 ตัว เพื่อให้มีโอกาสท้องที่สูงขึ้น ให้ได้ในสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่จะท้องมากกว่า1 คน เป็นยุคที่รักษาดูแลผู้มีบุตรยาก จนมาถึงยุคที่โอกาสการตั้งครรภ์สูง75-76% สามารถใส่ตัวอ่อนเข้าไปเพียง1ตัว มีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูง หรือยุคที่ไม่ใช่การดูแลเรื่องมีลูกยาก แต่มาปรึกษาดูแลหลีกเลี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนทางพันธุกรรม และมาถึงยุคที่หลายครอบครัวมาฝากไข่ ซึ่งคนที่พามาไม่ใช่สามีแต่เป็นคุณแม่เพราะมองเห็นปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการมีลูกในอนาคต จึงมีประโยคที่จะบอกว่าเจอหมอก่อนเจอสามีเสียอีก
เมื่อพูดถึงเรื่องอายุมีผลต่อการมีบุตรยากจริงมั้ย หมออยากจะอธิบายว่าอายุมากขึ้นการผลิตไข่ได้น้อยลง รังไข่มีคุณภาพที่ลดลง โอกาสตั้งครรภ์ลดลง อายุมากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โอกาสแท้งเพิ่มขึ้น ครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้น ซึ่งการตั้งครรภ์อายุมากต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อลดความเสี่ยง
นอกจากการตั้งครรภ์อายุมากแล้ว ยุคนี้นิยมการท้องลูกแฝดซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่หลายคนตัดภาพไปตอนจบว่าลูกออกมาน่ารัก แต่ข้อเสียการตั้งท้องแฝดอาจจะมีการคลอดก่อนกำหนด เด็กมีปัญหาตัวเล็ก หากมีภาวะผิดปกติต้องอยู่ในความดูแลของหมอนานกว่าปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น แต่บางคนคิดว่าเรื่องเงินไม่ใช่ประเด็น เราต้องดูว่าการท้องแฝดมีโรคแทรกซ้อนในระยะยาวหรือไม่ ระบบการหายใจ การมองเห็นปกติหรือไม่ ซึ่งหมอจะให้คำแนะนำกับคนไข้การอยากมีลูกแฝด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นสิทธิของคนไข้ในการตัดสินใจ
“การที่คนไข้เข้ามาหาหมอเราต้องตีโจทย์ความต้องการของคนไข้ บอกข้อมูลความเป็นจริง อย่ามองว่าเป็นปัญหา เข้าใจหัวอกของความเป็นพ่อเป็นแม่ เราจะบอกคนไข้ตลอดว่าขอให้เด็กออกมาแข็งแรงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”