
รพ.บำรุงราษฎร์ ชี้ โรคหลอดเลือดสมอง รู้ก่อนป้องกันเร็ว


รพ.บำรุงราษฎร์ ชู ศักยภาพ “ศูนย์โรคระบบประสาท (Neuroscience Center) ที่มาพร้อมทีมแพทย์ และเทคโนโลยี เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ครอบคลุมทุกการรักษาโรคระบบประสาท และสมอง
….ผู้ป่วยที่เป็น “โรคหลอดเลือดสมอง” ในประเทศไทยวันนี้ มีมากถึง 349,126 ราย และยังพบอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกกว่า 30%….
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคที่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิต และทุพพลภาพในประชากรทั่วโลก คือ “โรคหลอดเลือดสมอง” ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามชีวิต ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และครอบครัว มากขึ้นในปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่เป็น “โรคหลอดเลือดสมอง” ในประเทศไทยวันนี้ มีมากถึง 349,126 ราย และยังพบอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกกว่า 30% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอยู่ที่ 2.5% นอกจากนี้ ยังมีโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น ภาวะเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เนื้องอกในสมอง ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน เป็นต้น โรคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูงในการดูแลรักษา เพราะทุกวินาที คือ ‘วินาทีชีวิต’ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจส่งผลต่อชีวิตได้
นพ. ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ หัวหน้าศูนย์โรคระบบประสาท, แพทย์ชำนาญการเฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ภาพรวมของโรคระบบประสาท วันนี้ ภาวะขาดเลือดในสมอง และเลือดออกในสมอง พบได้เยอะมากขึ้น ตัวเลขข้อมูลในประเทศไทย ยังพบด้วยว่า ทุก 3 นาที จะมีคนเกิดภาวะขาดเลือดในสมอง หรือเลือดออกในสมอง 1 คน โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งอาหารก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงเยอะขึ้น “โดยทั่วไป เราแบ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งที่คือกลุ่มที่เป็นเพศชาย และมีอายุมาก รวมถึงมีโรคพันธุกรรมบางอย่าง ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ และไม่ได้ออกกำลังกาย รวมถึงมีภาวะการหยุดหายใจตอนกลางคืน”
หัวหน้าศูนย์โรคระบบประสาท ยังบอกด้วยว่า ในเรื่องของสัญญาณเตือนต่อการเกิดภาวะขาดเลือดในสมอง มีอาการเตือนค่อนข้างน้อยมาก “ผู้ที่มีภาวะเลือดออกในสมอง จะมีอาการเตือนน้อยมากแค่ 10% และอาการเตือนที่เกิดขึ้นนั้น ก็ยังเป็นช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ อาทิ ตามองไม่เห็นชั่วคราว รู้สึกเวียนศีรษะชั่วคราว หรือแม้แต่ มีอาการแขนขาอ่อนแรงชั่วคราว จนทำให้ตัวของเราละเลยสิ่งที่เกิดขึ้น” แพทย์ชำนาญการเฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุนี้ ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากโรคระบบประสาท และมีความมุ่งมั่นพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่อง
“วันนี้ เรามีทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากประสบการณ์เฉพาะทาง ด้านระบบประสาทครบทุกสาขา รวมถึงทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทที่ร้ายแรงและซับซ้อน และสามารถให้การดูแลผู้ป่วยแบบเฉพาะบุคคลด้วยวิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ตั้งแต่การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม การใช้ยา ไปจนถึงการผ่าตัด หรือ การรักษาด้วยวิธีรังสีร่วมรักษา โดยอิงจากความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน (Evidence based best practice) พร้อมด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างแม่นยำ รวมถึงการรับมือกับผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่มีความซับซ้อนได้อย่างทันท่วงที”
ขณะที่ทางด้าน นพ.ภวิศ เหลืองเวชการ แพทย์ชำนาญการเฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมถึงแนวทางการรักษา โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องมีการเข้ารับการผ่าตัดด้วยว่า “ในระหว่างการผ่าตัด และหลังการรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทและสมอง อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น ภาวะเลือดออกซ้ำและทำให้สมองเสียหายเพิ่มขึ้น หรืออาจเกิดภาวะสูญเสียความรู้สึกได้ ดังนั้น ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงจัดตั้ง ‘แผนกผู้ป่วยวิกฤตระบบประสาทและไขสันหลัง’ (Neurocritical care unit) เพื่อติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยแพทย์ผู้ชำนาญด้านระบบประสาทวิกฤติที่ผ่านหลักสูตรและสำเร็จเป็นผู้ชำนาญเวชบำบัดวิกฤติด้านระบบประสาทจากสหรัฐอเมริกา พยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤติด้านระบบประสาทและสมอง พร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ในเอเชียที่พยาบาลในแผนกผู้ป่วยวิกฤตผ่านการอบรมหลักสูตร ‘การช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตระบบประสาทขั้นสูง’ (Emergency Neurological Life Support: ENLS Course) เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย”
แพทย์ชำนาญการเฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังได้ย้ำด้วยว่า ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังมีการทำงานประสานกับแผนกผู้ป่วยฉุกเฉินและแผนกผู้ป่วยนอกอย่างใกล้ชิด โดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์และแพทย์เฉพาะทางด้านรังสี จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งรักษาให้ความเห็นร่วมกัน โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัย เพื่อเลือกแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดให้กับผู้ป่วยในแต่ละราย
อย่างไรก็ดี แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง จาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังได้แนะนำวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อป้องกันโรคระบบประสาทและสมองว่า ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง ตรวจสุขภาพสมองเป็นประจำทุกปี และควรหมั่นสังเกตตนเอง หรือ คนในครอบครัวหากมีอาการเหล่านี้ เช่น มือ-เท้าชา แขน-ขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว เวียนศีรษะ พูดไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณของโรคระบบประสาทและสมอง ให้รีบมาพบแพทย์ทันที
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 19 อาคาร A หรือ โทร. 02 011 3994-5