Digiqole ad

รถ EV จีน กับผลกระทบไทยในหลายมิติ

 รถ EV จีน กับผลกระทบไทยในหลายมิติ
Social sharing

Digiqole ad

          จะเป็นเพราะคนไทยชอบลองของใหม่  หรือเป็นเพราะสงครามทั้งในยุโรปและตะวันออกกลางทำให้ผู้ใช้รถยนต์ที่ต้องเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงกลัวว่าจะกระเป๋าฉีกยิ่งขึ้น  จึงให้การตอบรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือEVอย่างมากเกินความคาดหมายในช่วงท้ายปีนี้  โดยเฉพาะค่ายEVจีนที่สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคชาวไทยว่า  ขายแล้วไม่เทเพราะถึงวันนี้ประกาศปักเสาตั้งโรงงานในไทยแล้วอย่างน้อย 6 ค่ายดัง  ทั้ง MG, GWM, BYD, NETA, GAC AION, CHANGAN  ส่วนปีsohkยังมีข่าวว่าอาจจะเข้ามาอีก 2-3 ค่าย เพราะรัฐบาลไทยยังมีมาตรการ EV 3.5 สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 อีก 4ปี( ..2567-2570) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567

เพื่อให้ได้เห็นภาพอนาคตจากการยกทัพลงทุนในไทยของค่ายรถ EV จีน ว่าจะส่งกระทบทั้งบวกและลบต่อไทยอย่างไร  จึงได้สรุปบทสนทนาของ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร  รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ที่ออกอากาศในรายการจับคู่ธุรกิจสถานีวิทยุ FM 96.0 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ดังนี้ 

          รัฐบาลจีนได้วางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกมานานแล้ว   ถ้าเป็นระบบสันดาปภายในไม่มีทางที่จีนจะพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันไปสู้กับแบรนด์ตะวันตก หรือญี่ปุ่นกับเกาหลีได้   แต่เมื่อโลกมีความตื่นตัวด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  แก้ปัญหามลพิษ  สอดคล้องกับจังหวะที่จีนมีเทคโนโลยีในมือ  มีวัตถุดิบอย่างแร่หายากสำหรับผลิตแบตเตอรี่  มีผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เก่งในด้านนี้  จีนจึงเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศน์เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมEVของจีนมาประมาณ 15 ปี  และใช้เวลาไม่ถึง 15 ปีในการแซงหน้ายักษ์ใหญ่เดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเห็นได้ชัด  ต้องยอมรับว่าจีนแทงหวยถูก

          รถยนต์พลังงานทางเลือกเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของจีนภายใต้ Made in China 2025 ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2015   โดยรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเป็นรูปแบบที่จีนเลือกสำหรับรถยนต์พลังงานทางเลือก  เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประสบความสำเร็จมากจึงทำให้เราได้รู้จักและยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนเพิ่มมากขึ้น  และไม่แต่เฉพาะในประเทศไทย  เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

          เพราะหลังจากประสบความสำเร็จในการทำตลาดในประเทศ  ผู้ประกอบการจีนเริ่มก้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ  เหมือนกับเป็นจังหวะที่สองของการพัฒนาของเขาแม้ว่าตลาดในประเทศจะเป็นตลาดยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ตาม  แต่จีนมองว่ายังเล็กกว่าตลาดโลก  รัฐบาลจีนจึงสนับสนุนให้ผู้ประกอยการก้าวสู่เวทีโลก

          การที่จีนสามารถครองแชมป์ผู้ส่งออกรถEV สู่ตลาดโลกได้อย่างรวดเร็วนั้น  เพราะจีนเวลาจะทำอะไรเขาจะมาทั้งองคาพยพ   บทบาทภาครัฐ  บทบาทภาคเอกชน และบทบาทภาคประชาชนหรือภาคของผู้บริโภค  เมื่อสามส่วนนี้ไปในทิศทางเดียวกันอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับการพัฒนา  ผู้ประกอบการแข็งแกร่ง  ยิ่งได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ  จึงก้าวสู่เวทีโลกด้วยความพร้อมมากยิ่งขึ้น

          รถไฟฟ้าในจีนยุคก่อนโควิดมี 400-500 แบรนด์  ถึงวันนี้ล้มหายตายจากไปเหลือประมาณ 50% แต่ถ้าเทียบกับค่ายรถไฟฟ้าในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี  รวมกันยังไม่ถึง 100 แบรนด์  สะท้อนให้เห็นว่าจีนใช้เวลาเพียง 15 ปีในการพัฒนาขึ้นมาเทียบชั้นยานยนต์พลังงานทางเลือกของโลก  เหมือนแค่กระพริบตาจีนก็โผล่มาหายใจรดต้นคอแล้ว  หรือแซงหน้าทิ้งห่างไปแล้ว

          ความสำเร็จและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถไฟฟ้าจีนเพราะภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันอย่างจริงจัง  เช่นระดับมณฑลลงทุนผลิตแข่งกับภาคเอกชน  หรือรัฐบาลกลางมีนโยบายให้หน่วยงานรัฐใช้รถไฟฟ้า  มีการสนับสนุนผู้บริโภคในการลดค่าใช้จ่าย   ซึ่งประเทศไทยเรายังไม่เคยกำหนดนโยบายเชิงรุกแบบนี้ในระยะยาว

          ตามหัวเมืองใหญ่ของจีนในปัจจุบัน เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว  หางโจว  เซินเจิ้นนั้น  สัดส่วนของรถไฟฟ้ากับรถสันดาปภายในเพิ่มขึ้นเกือบ 50%แล้ว  ในขณะที่เป้าหมายของประเทศจีนคือ 30% ในปี 2025  สะท้อนถึงบทบาทภาครัฐที่รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ

           สมัยแรกๆที่จีนผลิตรถยนต์สันดาปภายใน  เกิดปัญหาว่ารถสีดำขายไม่ออกมีค้างอยู่ในสต๊อกมากเพราะคนจีนเชื่อว่ารถสีดำเหมาะจะเป็นรถขนศพเท่านั้น  ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยประกาศว่าเมื่อถึงเวลาต้องปลดระวางรถเก่าให้เอารถยนต์สีดำมาเป็นรถราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ  เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งเกิดปรากฏการณ์ว่ามีภาคเอกชนวิ่งเต้นไปขอลัดคิวซื้อรถสีดำมาใช้บ้าง  เพราะรถสีดำกลายเป็นเครื่องหมายของผู้มีอำนาจในสังคม  

          สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน  รัฐบาลจีนมีวิธีการจูงใจให้มาใช้  โดยตามหัวเมืองใหญ่ๆนั้นค่าป้ายทะเบียนแพงมาก  เช่นที่เซี่ยงไฮ้ค่าป้ายทะเบียนประมาณ 8 หมื่นหยวน(ประมาณ 4 แสนบาท)  แต่ละเดือนจะออกป้ายให้ประมาณ 100 คัน  คนมีเงินก็ต้องรอคิว  แต่ถ้าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้ป้ายทะเบียนฟรีโดยไม่ต้องเสียเงิน  ช่วงแรกซื้อประกันภัยได้ส่วนลด 50%  เป็นมาตรการที่ได้ผลอย่างยิ่ง

          การที่ไทยจะพัฒนาเป็นHub EV ของภูมิภาคอาเซียนนั้นมีความเป็นไปได้สูง  เพราะวันนี้แบรนด์จีน 5-6 ค่ายมาลงทุนแน่ แต่ละรายไม่ใช่แค่เข้ามาทำตลาด  แต่ทุกรายมีเป้าหมายการลงทุนเปิดโรงงานสายการผลิต  บางรายจะผลิตแบตเตอรี่ด้วย  ซึ่งเป็นสิ่งดีที่ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตและมีความสามารถทางการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ

          ไทยนั้นโดยพื้นฐานเดิมมีปัจจัยเชิงบวกเรื่องแรงงานฝีมือคุณภาพที่ได้มาจากอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเดิม  การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องยากเนื่องจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ลดลงไปมาก  ความสลับซับซ้อนก็น้อยกว่า  

          เชื่อว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยน่าจะเป็น 1 ในความสำเร็จของไทยในการพัฒนาฐานอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  มีการจ้างงาน  เกิดSupply Chain  ขยายในวงกว้าง  พูดถึงระบบนิเวศน์ส่วนอื่น เช่นสถาบันการศึกษาที่ต่อไปจะมีหลักสูตรเฉพาะเพื่อพัฒนาบุคลากรป้อนต่ออุตสาหกรรม

          ทำอย่างไรประเทศไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนEVจีน  โดยเฉพาะการถ่ายทอดทางด้านเทคโนโลยีและต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆเหล่านั้นให้เป็นของไทยเองได้อย่างแท้จริง  ที่ผ่านมาคนไทยได้แต่ใช้สินค้าที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศ  มีอะไรที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นสักพักหนึ่งก็ล้มหายตายจากไป  หรือทำได้ก็อยู่ในตลาดระดับล่าง  ไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่เวทีระหว่างประเทศไทย

          อุตสาหกรรมEVนี้คนไทยสามารถเรียนรู้ เรียนลัดได้หากรัฐบาลไทยจะเอาจริงเอาจังในการพัฒนา

Facebook Comments


Social sharing

Related post