Digiqole ad

ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 คืนบทบาทแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้พลเรือน

 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 คืนบทบาทแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้พลเรือน
Social sharing

Digiqole ad
ในการประชุมสภาฯ วันนี้ (21 ก.พ. 67) มีการพิจารณา “ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ซึ่งเสนอโดยหลายพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคก้าวไกล
.
คำสั่งนี้เป็นหนึ่งในมรดกบาปของการรัฐประหาร ที่ออกมาเพื่องดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของ พ.ร.บ. การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” และตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นมาทำหน้าที่แทน อีกทั้งยังขยายบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในพื้นที่ชายแดนใต้มากขึ้น ซึ่งทำให้ กอ.รมน. มีสถานะเหนือกิจการของพลเรือน
.
ผลจากคำสั่งดังกล่าวทำให้การบริหาร การพัฒนา การแก้ปัญหา และการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ประสบปัญหา จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในขณะที่รูปแบบและบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ จึงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาโดยภาพรวม ❌
.
ในส่วนของพรรคก้าวไกล ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ ได้ลุกขึ้นชี้แจงหลักการและเหตุผลของการเสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ โดยอภิปรายว่า ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มีการระบุให้จัดตั้ง “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากประชาชนหลายกลุ่มในพื้นที่ ทั้งผู้นำท้องถิ่น กลุ่มสตรี ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน นักธุรกิจ บุคลากรทางการศึกษาทั้งจากปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ✅
.
แต่วันหนึ่งมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 ซึ่งตัดบทบาทของพวกเขาออกไปในทันที กลายเป็นการแต่งตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นมาทดแทน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อโดย กอ.รมน. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนใต้ และทรงคุณวุฒิที่ได้รับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี 😥
.
คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวยังไปตัดอำนาจของสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการให้ความเห็นในเชิงนโยบายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ การตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรายงานต่อเลขาธิการและนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ การแสวงข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ ประกอบการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ การเสนอย้ายข้าราชการ การรับเรื่องร้องเรียนความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
.
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวได้ระบุเหตุผลในการออกไว้ว่า มีความจำเป็นบางประการที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของสภาที่ปรึกษาฯ “ไม่อาจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” แต่กลับไม่เคยมีคำอธิบายว่าไม่มีประสิทธิภาพอย่างไร โดยตั้งแต่ปี 2553 จนถึงก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ในปี 2559 หรือประมาณ 6 ปี เพิ่งมีสภาที่ปรึกษาฯ ไปชุดเดียว และยังไม่มีข้อชี้วัดประการใดเลยที่จะบ่งบอกได้ว่าการมีส่วนร่วมของตัวแทนประชาชนนั้นไร้ประสิทธิภาพอย่างไร
.
👇 [ มรดกบาปรัฐประหาร : ลดบทบาทสภาที่ปรึกษาฯ เพิ่มอำนาจ กอ.รมน. ]
.
นอกจากการลดอำนาจและบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ แล้ว คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 ยังเพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. สามารถขยายอำนาจฝ่ายทหารเข้าไปควบคุมการดำเนินกิจการของพลเรือนหลายเรื่อง ได้แก่ การกำหนดให้ ศอ.บต. บูรณาการทำงานร่วมกับ กอ.รมน. แต่ให้รอง ผอ.รมน. หรือผู้บัญชาการทหารบกโดยตำแหน่ง มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการในกรณีที่เลขาธิการ ศอ.บต. เห็นแย้ง
.
อีกทั้งยังกำหนดให้ กอ.รมน. เข้ามาสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่เหมือนจะดูดี แต่ก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะหลายครั้งที่เกิดปัญหาสาธารณภัย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่เกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส หรือกรณีโรงงานพลุระเบิดที่บ้านมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ถ้าคำสั่งนี้มีประสิทธิภาพจริง วันนี้ประชาชนบ้านมูโนะควรต้องมีที่อยู่อาศัยพื้นฐานแล้ว เขาผ่านหน้าฝนมาสองรอบแล้ว แต่วันนี้ยังไม่มีที่อยู่อาศัยจากผลกระทบโรงงานพลุระเบิดเลย คำสั่งนี้ให้อำนาจ กอ.รมน. เป็นผู้อำนวยการเมื่อเกิดสถานการณ์บรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ แล้วก็นำอำนาจนี้ไปใช้ในการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ตอบโจทย์และไร้ประสิทธิภาพ
.
🤝 [ ถึงเวลาคืนบทบาทแก้ปัญหาชายแดนใต้กลับสู่พลเรือน ]
.
ถ้าวิธีคิดและมุมมองของฝ่ายรัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นเช่นนี้ ผลลัพธ์ก็จะเป็นแบบเดิม นี่คือสิ่งที่อำนาจฤทธิ์เดชของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 แสดงไว้ แม้จะอ้างได้ว่าความรุนแรงลดลง แต่ความยากจนและความยากลำบากยังมีอยู่ และถึงแม้รัฐจะส่งเสริมการพัฒนามากมาย แต่คำถามคือการพัฒนาเหล่านั้นเข้าใจบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จริงหรือไม่ มีการใช้งบประมาณการบริหารจัดการจำนวนมาก แต่ขาดมิติด้านการเคารพอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน วัฒนธรรม ประเพณี หรือแม้กระทั่งความเชื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ขยายบาดแผลให้รุนแรงยิ่งขึ้น
.
สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอในวันนี้จึงสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. ที่มีหลักการในทำนองเดียวกันอีกสองฉบับของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ นั่นคือขอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 และบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ย้อนกลับไปใช้บทบาทของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้อำนาจครอบคลุมทุกมิติของการแก้ไขปัญหา รวมถึงการลดบทบาทของ กอ.รมน. อันจะนำมาซึ่งการล้างมรดกคณะรัฐประหาร และพลิกพลเรือนให้กลับมามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเหนือทหารอีกครั้ง
.
“ถึงเวลาแล้วที่จะคืนการตัดสินใจเหล่านี้ให้กับภาคพลเรือน ถึงเวลาแล้วที่จะคืนสันติภาพให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่นี่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่เราจะทำ และถึงเวลาแล้วที่เราจะเคารพการตัดสินใจของพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เขามีสิทธิตัดสินใจอนาคตของพวกเขาเอง” ณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้าย
.
สุดท้าย ที่ประชุมสภาฯ มีมติ 421:0 รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหน้า คสช. ที่ 14/2559 ทั้ง 3 ฉบับ และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จำนวน 31 คน โดยกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมีจำนวน 7 คน ได้แก่ 1) รอมฎอน ปันจอร์ 2) จุลพงศ์ อยู่เกษ 3) รัชนก สุขประเสริฐ 4) กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ 5) ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี 6) อันวาร์ อุเซ็ง และ 7) ฟารีด ดามาเร๊าะ
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post