
มาเปิดสวิตซ์ 3 ป. กันเถอะ “ปราบปราม-ป้องกัน-ปกป้อง”(สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 ก.ย.66)


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 กันยายน 2566
หน้า 2-3
มาเปิดสวิตซ์ 3 ป. กันเถอะ
ปราบปราม-ป้องกัน-ปกป้อง
ในขณะที่การเมืองไทยนับวันก็ยิ่งร้อนแรงชนิดองศาเดือดปุด ๆ และก่อนหน้านั้นพรรคการเมืองบางพรรคหาเสียงด้วยกัน “ปิดสวิตซ์ 3 ป.” ส่วนจะ ป. อะไรนั้นก็เป็นรู้ ๆ กันอยู่ แล้วยังรวมไปถึงการ “ปิดสวิตซ์ สว.” กันด้วย แต่สำหรับสกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับนี้ เลือกที่จะ “เปิดสวิซต์ 3 ป.” มากกว่า ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นมาติดตามกันได้เลย
ช่วงที่ผ่านได้เกิดวิกฤตทางสังคม กระทั่งกลายเป็นปัญหาและภัยสำคัญระดับประเทศ “วาระแห่งชาติ” ที่ประดังประเดเข้ามาพร้อม ๆ กัน และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ต่างกรรมต่างวาระกันออกไป ซึ่งมีถึง 3 ปัญหาใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ 1.แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center Gang) ปัญหาด้านสังคมที่ต้อง “ป.ปราบปราม” 2.ฝีดาษลิง (Monkeypox) ปัญหาด้านสุขภาพ ที่ต้อง “ป.ป้องกัน” และ 3.ภาวะเอลนีโญ (El Niño) ปัญหาสภาพแวดล้อม ที่ต้อง “ป.ปกป้อง” มาไล่กันไปแต่ละหัวข้อ
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ปัญหาอภิเรื้อรัง
ข้อมูลจาก สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ภัยการหลอกลวงทางโทรศัพท์ มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศรูปแบบหนึ่งในยุคดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเหยื่อจำนวนมากแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศอีกด้วย ภัยคอลเซ็นเตอร์ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติที่เป็นภัยร้ายแรงและเฝ้าระวังในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสารที่การติดต่อในรูปแบบดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายงานจากศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่าสถิติทางคดีดังกล่าวพุ่งขึ้นไม่หยุดแสดงให้เห็นถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลเหตุจูงใจการกระทำผิด คือ รายได้ที่ได้รับจากการก่อเหตุมีมูลค่าเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่บทลงโทษตามกฎหมายไม่มีความรุนแรง
แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่มีรูปแบบการทำงานเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนโดยการใช้ช่องทางความตื่นกลัว ความโลภ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเหยื่อหรือผู้เสียหาย เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไต้หวัน ในครั้งแรกนั้นไม่ได้ใช้คำว่าคอลเซ็นเตอร์ แต่ใช้คำว่า เอทีเอ็มเกม (ATM Game) เนื่องจากเป็นการสร้างกลโกงโดยการแอบอ้างแสดงตนเป็นผู้อื่น เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อทางโทรศัพท์แล้วให้เหยื่อไปที่ตู้เอทีเอ็มและให้ทำการโอนเงินแก่คนร้าย โดยมีรูปแบบที่ใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหายหรือเหยื่อใน 2 ลักษณะ คือ การหลอกลวงด้วยความโลภ เช่น การหลอกลวงผู้เสียหายว่าได้รับคืนภาษี ได้รับเงินจากการถูกรางวัล หรือได้รับเช็คคืนภาษี โดยอ้างว่าต้องจ่ายค่าบริการเบื้องต้นเพื่อเป็นค่าบริการและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเพราะความโลภอยากได้เงินหรือทรัพย์สิน ก็จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของคนร้ายที่ได้เตรียมเปิดรองรับไว้ อีกรูปแบบ คือ การหลอกลวงด้วยความกลัว โดยหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นหนี้ค่าโทรศัพท์ หนี้บัตรธนาคาร มีบัญชีธนาคารพัวพันกับยาเสพติด บัญชีธนาคารจะต้องถูกอายัดและถูกตรวจสอบโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจะทำธุรกรรมทางการเงินตามที่กลุ่มคนร้ายแจ้ง ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ลักษณะการหลอกลวงจะใช้วิธีทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว
ผลกระทบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจระดับจุลภาค คือ เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการหลอกลวงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศสูญเงินเป็นจำนวนมูลค่ามหาศาล ผลกระทบทางสังคม เมื่อเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์มักจะประสบกับความเครียด โดยเหยื่อบางรายคิดสั้นฆ่าตัวตาย สูญเงิน มีภาวะหนี้สิน จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตตามมา นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย
ดีอีเอสออกมาตรการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาโดยให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ประสานกับบริษัทเครือข่ายมือถือเพื่อหาวิธีเตือนผู้ใช้โทรศัพท์ให้ระวังการตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยหากเป็นเลขหมายที่โทรมาจากต่างประเทศ หรือโทรผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทางค่ายมือถือจะขึ้นเป็นเครื่องหมายบวก บนหมายเลขโทรศัพท์เพื่อแจ้งเตือนผู้รับสายให้ระมัดระวังว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ ในส่วนของสำนักงาน กสทช. มีการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการระงับสายการโทรเข้าจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของหมายเลขโทรเข้าเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศ และตรวจสอบสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย กรณีสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ไม่ได้มีการกำหนดเลขหมายต้นทาง ให้เพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นการโทรเข้ามาจากต่างประเทศ ให้เกิดความระมัดระวังในเบื้องต้น ปัจจุบันได้มีการดำเนินการปราบปรามกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อเหตุของมิจฉาชีพ ดังนั้น ในส่วนของประชาชนต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาร่วมกัน มีสติและคอยติดตามข่าวสารด้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัลเพื่อป้องกันตัวเองในการตกเป็นเหยื่อและประสานความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้มีบทลงโทษที่หนักกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก
ทางด้าน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อัปเดตข้อมูลเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จากข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 ถึงวันที่ 28 มิ.ย. 2566 พบว่าสถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ จำนวน 108,383 ครั้ง 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 38,669 ครั้ง 3.หลอกให้กู้เงิน จำนวน 35,121 ครั้ง 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 23,545 ครั้ง 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) จำนวน 21,482 ครั้ง
โดยรูปแบบคดีออนไลน์ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า “11,500 ล้านบาท” คาดการณ์ว่าสถานการณ์คดีอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากครึ่งปีแรกโดยเฉพาะ 5 อันดับคดีดังกล่าวข้างต้น แต่มิจฉาชีพอาจปรับรูปแบบวิธีการ ที่สำคัญคือจะมีการเพิ่มการเข้าถึงเหยื่อมากขึ้น เช่น การส่งข้อความสั้น (SMS.) , การโทรศัพท์หาเหยื่อ การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ
พัฒนารูปแบบการหลอกลวงตลอดเวลา
ความรวดเร็วของ อย่างกรณีล่าสุด นโยบายของรัฐบาลใหม่คือ “เงินดิจิตัล 10,000 บาท” ซึ่งยังไม่ทันได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ บรรดาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็สวมรอยออกเป็นแอพพลิเคชั่นหลอกลวงแล้ว กระทั่งมีหลายคนถึงกับกล่าวว่า “ที่ทำงานไวกว่ารัฐบาลก็แก๊งคอลเซ็นเตอร์นี่แหละ!”
ทั้งนี้ทาง บก.ปอท. ได้เตือนประชาชนให้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ และวิธีการป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะกลุ่มอาชญากรมักจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา โดยขอนำเสนอวิธีการเบื้องต้นในการป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.วิธีการที่อาจจะสุดโต่งแต่ได้ผลมากที่สุด คือการคิดอยู่เสมอว่าทุกคนบนโลกออนไลน์ที่ไม่รู้จักตัวจริงอาจเป็นคนไม่ดี พร้อมที่จะหลอกลวงเราอยู่เสมอ ต้องไม่หลงเชื่อกดลิงก์ โอนเงิน หรือส่งข้อมูลเอกสารส่วนบุคคล ภาพหรือคลิปที่ไม่เหมาะสมของตนเองทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง
2.อย่าหลงใหลกับสิ่งที่เห็นบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคนที่จะขอเป็นเพื่อน จะมีรูปโปรไฟล์ สวย หล่อ รวยหรือถูกใจเราเพียงใด เพราะอาจไม่เป็นความจริง หรือเป็นรูปหรือภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นมาก็ได้
3.เงินที่อยู่ในบัญชีของเรา ตราบใดก็ยังคงเป็นเงินของเรา จนกว่าเราจะโอนให้บุคคลอื่น ดังนั้นจึงต้องไม่หลงเชื่อโอนเงินให้กับบุคคลที่อ้างว่าต้องการตรวจสอบเงินในบัญชี หรือโอนเงินให้กับร้านค้าต่าง ๆ โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลบัญชีปลายทางก่อน
4.ลิงก์บนเว็บไซต์ หรือลิงก์ที่ส่งข้อความมาให้เราทางช่องทางต่าง ๆ จะต้องระมัดระวัง และตรวจสอบก่อนที่จะกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันทุกครั้ง ว่าลิงก์หรือแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของ หน่วยงาน องค์กร หรือบริษัท ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่
5.การชักชวนลงทุน หรือการชักชวนไปสัมมนาออนไลน์ ในลักษณะอ้างเป็นไลฟ์โค้ช อาจารย์ กูรู ที่แนะนำช่องทางในการลงทุนที่สามารถได้รับผลตอบแทนสูง ในระยะเวลาอันสั้น ให้พึงระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลก่อนเสมอ เพราะเป็นไปได้น้อยที่จะมีบุคคลที่สละเวลามาชักชวนเรา โดยที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากเรา นอกจากนี้มิจฉาชีพยังปลอมเว็บไซต์การลงทุนให้ดูเสมือนจริงมาก เช่น มีข้อมูลกราฟสถิติการลงทุน การแสดงผลกำไร ขาดทุน ฯลฯ จนเหยื่อหลงเข้าใจว่าเป็นเว็บไซต์การลงทุนจริงๆ แล้วโอนเงินเข้าไปลงทุน
6.อย่าเชื่อข่าวที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เพราะปัจจุบันข่าวปลอมสามารถสร้างขึ้นได้เพียงปลายนิ้วโดยใช้คนหรือเทคโนโลยี (AI) ในการสร้างขึ้น ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข่าวต่าง ๆ ได้ที่ www.antifakenewscenter.com หรือเว็บไซต์หลักของสำนักข่าวต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ
โดยหากพี่น้องประชาชนสามารถทำตามที่กล่าวมาได้ ก็จะเป็นการตัดโอกาสที่ท่านจะตกเป็นเหยื่อของอาชญากร ที่หลอกลวงแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบทางออนไลน์ และหากพี่น้องประชาชนท่านใด ได้รับความเสียหาย หรือพบเห็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงทางออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือแจ้งความออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
การมาเยือนไทยของโรค “ฝีดาษลิง”
กลับระบาดอีกแล้ว ภายหลังจากเมื่อปีที่แล้ว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึง “โรคฝีดาษลิง” หรือ “ฝีดาษวานร” (Monkeypox) ที่พบในเมืองไทยว่า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน การพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ
คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
สำหรับผู้ป่วยรายแรกในเมืองไทย ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีอาการต้องสงสัยเข้าได้กับฝีดาษวานร โดยมีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า ลำตัว แขนขา และอวัยวะเพศ จึงเก็บตัวอย่างไปส่งตรวจวิเคราะห์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบผลบวกต่อโรคฝีดาษลิง และส่งตรวจยืนยันซ้ำที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันผลตรงกัน ทีมสอบสวนโรคจึงรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยรายนี้ ทั้งทางคลินิก ระบาดวิทยา และผลตรวจห้องปฏิบัติการ เสนอคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ พิจารณาโดยละเอียดและประกาศยืนยันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ว่าเป็นโรคฝีดาษวานรรายแรกของประเทศไทย โดยเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีความรุนแรงน้อย
สธ.ระบุยอดผู้ติดเชื้อพุ่งก้าวกระโดด
กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่า สถานการณ์ในขณะนี้ถือว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด เพราะยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว และสามารถแพร่ต่อได้ ในช่วงแรก ประมาณ ก.ค. 2565 – เม.ย. 2566 จะเป็นต่างชาติจำนวนหนึ่ง แต่ในการติดเชื้อช่วงหลังๆ นี้ผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเกือบ 100% ส่วนต่างชาติที่ติดเชื้อช่วงหลังก็เป็นการมาติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศแล้ว โดยพื้นที่ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมากคือ กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว และจากรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -15 ส.ค. 2566 มี 3 จังหวัดที่อยู่ในระดับสีแดงคือ กรุงเทพฯ 136 คน นนทบุรี 14 คน ชลบุรี 9 คน
คนทั่วไปยังไม่ต้องกังวลมาก หากไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง คนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสติดเลย อย่างช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ไม่มีผู้หญิงติดเชื้อเลย มีแต่ผู้ชายที่มีความเสี่ยงทางเรื่องเพศ เพราะจากการสอบสวนโรคพบว่าเกือบ 100% เป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
ทั้งนี้หากไปมีความเสี่ยงมาแล้ว ก็ให้ตรวจสอบตัวเองว่า มีผื่น หรือตุ่มบริเวณที่สัมผัสหรือไม่ ทั้งอวัยวะเพศ ปาก หน้าท้อง แผ่นอก ถ้าลุกลามเป็นตุ่มหนองมากขึ้น บางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีต่อมน้ำเหลืองโต ให้ไปตรวจรักษาที่รพ. สวมหน้ากากอนามัย เว้นการสัมผัสกับผู้อื่น ส่วนคนที่ไม่เป็นก็ขอให้ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น
ในส่วน กรุงเทพมหานครได้เปิดเผยสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในกรุงเทพมหานคร ว่า จากข้อมูลปีที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 จนถึงปัจจุบันพบว่ายอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คือ เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และในเดือนสิงหาคม พบผู้ป่วยเฉลี่ยเดือนละประมาณกว่า 40 ราย และจากการรายงานของสำนักอนามัยล่าสุด (21 – 23 สิงหาคม 2566) พบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 10 ราย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนโรค ลงพื้นที่ติดตามคนใกล้ชิด ตรวจสอบและทำความสะอาดพื้นที่
ทั้งนี้สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการในการเฝ้าระวังมากขึ้น และหากมีผู้ป่วยอื่น ๆ ในโรงพยาบาลมีอาการคล้ายคลึงอาการเริ่มต้นของโรคฝีดาลิง จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อทันที หากพบว่าติดเชื้อ และจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพแวดล้อมของผู้ติดเชื้อ สำรวจตรวจหาเชื้อจากผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และชุมชนที่อาศัย เบื้องต้นกำหนดให้ใช้น้ำยาเฉพาะโดยตรงในการล้างพื้นที่เสี่ยงที่อาจมีการติดเชื้อ อาทิ ห้องน้ำ ห้องนอน จากนั้นใช้ผงซักฟอกล้างซ้ำ ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติตนกรณีมีอาการเริ่มต้นให้รีบพบแพทย์ เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคค่อนข้างใช้เวลานานกว่า 1-2 อาทิตย์ หากไม่รักษาอาการจะแย่ลงเรื่อย ๆ อีกทั้งยังแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยง หรือตรวจสอบตนเองและคู่นอนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เพื่อความปลอดของทั้ง 2 ฝ่าย
วิกฤตเข้าขั้น“ซูเปอร์เอลนีโญ”
มาถึงปัญหาสุดท้ายคือ “เอลนีโญ” ที่ทุกคนต้องช่วยกันปกป้องประเทศไทยผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ล่าสุด องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ออกประกาศเตือนถึงปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2566 เพื่อจำกัดผลกระทบของเอลนีโญต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนระบบนิเวศและเศรษฐกิจที่จะได้รับความเสียหายตามมา
ที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเคยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2559 จากแรงหนุนของปรากฏการณ์เอลนีโญกับพฤติกรรมของมนุษย์ในการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเกินความพอดี แต่การเกิดเอลนีโญรอบปี 2566 อาจทำสถิติแซงหน้ารอบที่เกิดเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยปรากฎการณ์เอลนีโญจะเกิดเฉลี่ยทุก ๆ 2-7 ปี และมีระยะเวลายาวนานประมาณ 9-12 เดือน และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุณหภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา พบว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปสภาวะเอลนีโญจะทวีกำลังแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็น “ซูเปอร์เอลนีโญ”ต่อเนื่องไปถึงจนเดือนมกราคมปีหน้า (ปี 2567)โดยจะทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และในขณะที่ภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป โอกาสที่โลกเราจะเจอกับซูเปอร์เอลนีโญก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภัยแล้ง คลื่นความร้อนรุนแรงและ วิกฤตไฟป่าในหลายพื้นประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ในวิกิพีเดียได้ระบุว่า “เอลนีโญ” คือ รูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกห้าปี ลักษณะของเอลนีโญ คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า เอลนีโญและลานีญาตามลำดับ และความดันบรรยากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเขตร้อน ซึ่งเรียกว่า ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นได้สองกรณี: เอลนีโญ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศสูงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ส่วนลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก กลไกที่ทำให้เกิดความผันแปรดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย เอลนีโญก่อให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย อย่างเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาคของโลก ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีเศรษฐกิจเน้นเกษตรกรรมและการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ไทยกระทบแรงสุดในรอบ 74 ปี
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.66 ในวงเสวนา “ฟังเสียงประเทศไทย” Thai PBS กล่าวโดยสรุปว่า สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี ทำให้รายได้ต่อหัวลดลง 5-7.5% และในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก จึงจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรง โดยเฉพาะภาคเกษตร
ด้านสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1 พ.ย. 2566 มีปริมาณน้ำเก็บกัก 15,699 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ส่วนปริมาณน้ำใช้การ คาดว่าจะมี 9,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะน้อยกว่าปี 2565 ถึง 5,000 ล้าน ลบ.ม.
ภัยแล้งเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ยิ่งแล้งนานยิ่งกระทบยาว ภาพที่จะเกิดก็คือปริมาณผลผลิตอาหารจะลดลง ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น กระทบถึงค่าครองชีพของประชาชนทั้งประเทศ และในรอบนี้โอกาสจะเกิดเอลณีโญมีสูงเกิน 90% และลากยาวถึงเดือน มี.ค. 2567 สภาพอากาศมีแนวโน้มร้อนและแล้งกว่าปกติ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค สัญญาณนี้จะเริ่มชัดเจนตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีนี้เป็นต้นไป ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกจะได้รับความเสียหายยาวถึงปี 2572 โดยเฉพาะภาวะขาดแคลนอาหาร หรือสินค้าราคาแพง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เอาไว้ว่า ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทในปี 2566 โดยเฉพาะข้าวนาปี อาจลดลงอย่างน้อย 4.1% – 6% หรือประมาณ 25.1-25.6 ล้านตัน หากปรากฎการณ์นี้ไม่รุนแรงมากนัก
ทางรอดสู่การจัดการเชิงนโยบาย
ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้เสนอแนะทางรอดวิกฤตเอลนีโญซึ่งต้องมีการจัดการเชิงนโยบายคือ
- พัฒนาระบบคาดการณ์น้ำเพื่อเชื่อมโยงทุกมิติในด้านการป้องกันภัยพิบัติ การรักษาสิ่งแวดล้อม การอุปโภคบริโภค ด้านการผลิตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
- พัฒนา Platform เชื่อมโยงข้อมูล Real-time และการคาดการณ์ สู่ระบบการตัดสินใจวางนโยบาย และบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับระบบปฏิบัติการน้ำ และระบบเครือข่ายการใช้น้ำอย่างสมดุลใหม่ New Balance สอดรับภาคการพัฒนาผลผลิต
- ปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์น้ำ ด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มุ่งผลสัมฤทธิ์ให้ทำได้จริงและทันต่อสถานการณ์น้ำที่มีความผันผวน
- จัดตั้งศูนย์พัฒนาความมั่นคงทางน้ำภาคกลางเพื่อเป็นต้นแบบความสำเร็จสู่ภูมิภาคอื่น
- จัดตั้งกองทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและบริหารการใช้งบประมาณให้บรรลุเป้าหมาย
6.พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำ จำเป็นต้องเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนและวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นให้พอเพียงรวมทั้งการปรับปรุง ซ่อมแซม บำรุงรักษาเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ หรือพื้นที่ชลประทานให้สามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นหรือลดการสูญเสียน้ำในระบบ
แต่อย่างน้อย ๆ การรู้ข้อมูลล่วงหน้าจากผลการคาดการณ์ จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก เพราะเมื่อนโยบายถูกออกแบบเพื่อเตรียมพร้อม ก็จะสามารถ ปรับตัว รับมือ กับความเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และยังลดการสูญเสียและเสียหายมากกว่าไม่ได้เตรียมพร้อม
ภาพ : อินเทอร์เน็ต,masii.co.th
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 กันยายน 2566
หน้า 2-3
มาเปิดสวิตซ์ 3 ป. กันเถอะ
ปราบปราม-ป้องกัน-ปกป้อง
https://book.bangkok-today.com/books/lsnl/#p=1
(พลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)