Digiqole ad

มังกรพ่นไฟ…ร้อน!ใจจะขาดรอน ๆ ร่อนเตือนภัยสุขภาพ-ค่าไฟแพง“

 มังกรพ่นไฟ…ร้อน!ใจจะขาดรอน ๆ  ร่อนเตือนภัยสุขภาพ-ค่าไฟแพง“
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๓ ระหว่างวันที่ ๑๕-๒๑ มีนาคม ๒๕๖๗

หน้า 2-3 สกู๊ปปก

 มังกรพ่นไฟ…ร้อน!ใจจะขาดรอน ๆ

ร่อนเตือนภัยสุขภาพ-ค่าไฟแพง

ประกาศเริ่มต้นฤดูร้อน ปี พ.ศ. 2567 ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 โดยในตอนกลางวันบริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งเป็นรูปแบบลักษณะอากาศของฤดูร้อน อย่างไรก็ตามบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าจนถึงประมาณกลางเดือนมีนาคม และคาดว่า ฤดูร้อน จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567”

นี่คือประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะยังไม่ทันถึงเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน  ก็ร้อนตับแลบกันแล้ว ปีนี้นับได้ว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ อย่าง 2 ปีที่ผ่านมา  ปี 2565 คือ วันที่ 2 มีนาคม 2565 และ ปี 2566 คือ วันที่ 5 มีนาคม 2566 สิ่งที่จะตามมาคือ ปัญหามากมายมาก ทั้งเรื่อง ภัยแล้ง,สภาพความเป็นอยู่ ฝุ่น PM 2.5,การเกษตร, สุขภาพร่างกาย, ค่าไฟฟ้า และ อัคคีภัย (เพลิงไหม้)

    ปัจจัยอากาศอบอ้าว-ร้อนจัด

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ปี 2567 อากาศจะร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลจากเอลนีโญ และประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีฝนน้อย ดังนั้นจึงมีอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิสูงที่สุด 43-44.5 องศาเซลเซียส ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมี.ค.ถึงต้นเดือนพ.ค.นี้

ภาพรวมปี 2567 อุณหภูมิฤดูร้อนกว่าค่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ มีโอกาสที่อุณหภูมิบางจังหวัด เช่น ลำปาง ลำพูน ตาก ร้อนจัด 43.-44 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย บริเวณประเทศไทยตอนบน 36-37องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1-1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส)

ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิ 43–44.5 องศาเซลเซียส บริเวณจ. เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลางและตะวันออก อุณหภูมิ 42–44 องศาเซลเซียส บริเวณจ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กทม. นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี  สระแก้ว

           ภาคใต้ อุณหภูมิ 40-41 องศาเซลเซียส บริเวณ จ. ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ภูเก็ต กระบี่ตรัง และสตูล และ กทม.-ปริมณฑล อุณหภูมิ 40–41 องศาเซลเซียส (ที่มา : thaiPBS)

มหาดไทยย้ำแผนรับภัยแล้ง

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) มีความห่วงใยต่อกรณีที่สภาพอากาศที่มีแนวโน้มจะแห้งแล้งกว่าปีที่ผ่านมา จึงได้กำชับผ่านกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้มีการบูรณาการการทำงานกับแต่ละจังหวัดเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งสำหรับปี 2567 การดำเนินการภายใต้แผนงานของ บกปภ.ช. ประกอบไปด้วยหลายส่วน แต่ รมว.มหาดไทยได้เน้นย้ำขอให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับประชาชน ภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนเอง ทราบถึงมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน จนเกิดความร่วมมือในการประหยัดน้ำ เชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการซ่อม บำรุง รักษาภาชนะเก็บน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำให้พร้อมใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ พร้อมกับการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรและเครื่องมือของทั้งหน่วยงานพลเรือน ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ ให้พร้อมสำรหับช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว รมว.มหาดไทย ได้กำชับให้ฝ่ายปครองประสานกับฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่สอดส่อง และทำความเข้าใจกับประชาชนในกรณีที่ในพื้นที่เกิดการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะกรณีของพื้นที่เกษตร เฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำ หรือมีการนำประเด็นขาดแคลนน้ำไปสู่ความขัดแย้งอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรนั้น ให้ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง 2566/67 ของกระทรวงเกษตร โดยเคร่งครัด

“ด้วยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีภาวะแล้งกว่าปีที่ผ่านมา ท่านอนุทินจึงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และกำชับ ปภ. และทุกจังหวัดให้เตรียมการให้พร้อมและดำเนินการตามแผนงานของ บกปภ.ช. อย่างเคร่งครัด ทั้งการตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ เพื่อประเมินแนวโน้มการเกิดภัยแล้ง ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำแต่ละพื้นที่ และบางช่วงที่อาจเกิดพายุฤดูร้อน ให้ดำเนินการแจ้งข้อมูลประชาชนทราบผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้มีการป้องกัน ลดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

            ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยต่างๆ ทางแอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ในกรณีได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

อันตรายโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก           

หนึ่งในโรคยอดฮิตสุดอันตรายที่มากับฤดูร้อนคือ “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก”  (Heatstroke) ซึ่งกรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยอันตรายโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาการรุนแรง อาจกระทบต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ เสี่ยงเสียชีวิต แม้แต่อยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้งก็ต้องระวัง อาจได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มีผลต่อระบบประสาท

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ คือ ปวดศีรษะ, หน้ามืด , กระสับกระส่าย, ซึม, สับสน, ชัก  และไม่รู้สึกตัว ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเสริมว่า โรคลมแดดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดด ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน รวมถึงประชาชนทั่วไป และผู้ป่วยระยะพักฟื้น สำหรับการป้องกันสามารถทำได้คือ

1.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน

2.ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ

3.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้

4.หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

นอกจากนี้ การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้งซึ่งมีอันตรายมาก นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่มีผลต่อระบบประสาท จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรคลมแดดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมอง และอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย

เตือนภัยระวังไฟไหม้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย แนะวิธีป้องกันไฟไหม้ในช่วงสภาพอากาศแห้งและลมพัดแรง โดยตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟให้อยู่ในสภาพปลอดภัย รวมถึงปิดสวิตช์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งานทุกครั้ง ปิดวาล์วถังแก๊สและปิดเตาแก๊สให้สนิท อีกทั้งไม่เผาขยะและเศษวัชพืชในที่โล่งหรือขณะลมพัดแรง ดับไฟก้นบุหรี่ให้สนิทก่อนทิ้ง ตลอดจนติดตั้งถังดับเพลิงในจุดที่สามารถนำไปใช้ดับไฟได้สะดวก
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยว่า ระยะนี้มวลอากาศเย็นเข้าปกคลุมประเทศไทย ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งและลมพัดแรง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีป้องกันไฟไหม้ ดังนี้ หมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟ หากเครื่องไฟฟ้าชำรุด สายไฟมีรอยแตก มีกลิ่นเหม็นไหม้ ให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที ปิดสวิตช์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งานทุกครั้ง ไม่เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดกับปลั๊กไฟสายพ่วง และไม่เสียบชาร์ทสมาร์ตโฟนบนที่นอนหรือโซฟา เพราะหากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ รวมถึงไม่ประกอบกิจกรรมที่ใช้ไฟทิ้งไว้ เช่น จุดยากันยุง จุดธูปเทียนบูชาพระ เป็นต้น

อีกทั้งไม่เผาขยะและเศษวัชพืชในที่โล่งหรือขณะลมพัดแรง เพื่อป้องกันไฟลุกลามจนเกิดไฟไหม้ ตลอดจนจัดสภาพแวดล้อมบ้านให้ปลอดภัย โดยกำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง จัดเก็บสารเคมีที่ติดไฟง่ายให้ห่างจากแหล่งความร้อน นอกจากนี้ ควรติดตั้งถังดับเพลิงในจุดที่สามารถนำไปใช้งานได้สะดวก จะทำให้สามารถดับไฟได้ทันที ท้ายนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุอัคคีภัยและสาธารณภัย รวมถึงประสานขอรับความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID 1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

เผาหญ้า-ไฟไหม้บ่อขยะ เหตุฝุ่น PM 2.5

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า อุบัติภัยไฟไหม้บ่อขยะมูลฝอย ปี 2567 เกิดขึ้นบ่อยมาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดขึ้น 12 ครั้ง ที่จังหวัดปราจีนบุรี 3 ครั้ง เชียงใหม่ เลย ขอนแก่น ภูเก็ต อยุธยา พิษณุโลก สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และ นครปฐม จังหวัดละ 1 ครั้ง ซึ่งเกิดจากการเผาหญ้าและลุกลามไปบ่อขยะ การลักลอบเผาสายไฟและของมีค่าในบ่อขยะ และไม่ทราบสาเหตุ 7 ครั้ง

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ไฟไหม้บ่อขยะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM10 PM2.5 และก๊าซพิษอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรเจนคลอไรด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ สารไดออกซินและฟูแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอันตรายต่อสุขภาพ และอาจมีน้ำเสียจากการดับไฟไหลลงพื้นที่ใกล้เคียงหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ส่งผลให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม บางกรณีต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในการจัดการระงับเหตุ การดูแลสุขภาพประชาชน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

“จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ 21 กุมภาพันธ์ ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อน ปี 2567 คาดลากยาวถึงกลางเดือนพฤษภาคม ร้อนสูงสุด 44.5 องศา คพ. ขอแจ้งเตือนและขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้มงวดในการป้องกันเหตุไฟไหม้บ่อขยะในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และป้องกันต้นเพลิงที่อาจเกิดจากความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่างๆ เช่น ควรกลบทับขยะด้วยดินทุกวัน ห้ามสูบบุหรี่ หรือก่อกองไฟ หรือเผากำจัดขยะหรือเศษกิ่งไม้ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาคุ้ยเขี่ยขยะและเผาขยะเอาวัสดุมีค่า จัดหน่วยเฝ้าระวังตรวจตราป้องกันการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะและพื้นที่ใกล้เคียง จัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในบ่อขยะ ขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่โดยรอบบ่อขยะคอยสังเกต หากพบควันไฟหรือไฟไหม้ในบริเวณบ่อขยะ ให้รีบแจ้งหน่วยงานเจ้าของบ่อโดยเร็ว เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟจนเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในพื้นที่” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

วิธีช่วยลดค่าไฟในช่วงฤดูร้อน

สืบเนื่องจากข่าวที่มีการนำเสนอว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผย ค่าไฟฟ้า งวดเดือน มกราคม ถึง เมษายน 2567 พุ่งเกิน 4 บาทต่อหน่วย เนื่องจาก ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพิ่มขึ้นเป็น 64.18 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟ พื้นฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย จึงทำให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย Onsite Inspector ได้แนะนำวิธีช่วยลดค่าไฟ สำหรับเจ้าของบ้านกัน

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า : เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการประหยัดค่าไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ หรือเสียเงิน สามารถทำได้โดย ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน ตั้งเวลาปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำงานอัตโนมัติ เช่น เครื่องปรับอากาศ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม ไม่เย็นเกินไป เลือกใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดไฟธรรมดา รีดผ้าพร้อมกันหลาย ๆ ตัว ล้างจานด้วยมือแทนการใช้เครื่องล้างจาน

            2.ปรับปรุงบ้านให้ประหยัดพลังงาน : เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยลด ค่าไฟ ได้เป็นอย่างดี โดยการติดตั้งฉนวนกันความร้อนบนหลังคาและผนังบ้าน ติดตั้งกระจก หรือติดฟิล์มกันความร้อน ที่ช่วยป้องกันความร้อนเข้าบ้าน ปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงารอบๆ บ้าน เพื่อช่วยลดปริมาณความร้อนที่เข้าสู่บ้าน

            3.เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน : เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ติดอยู่ เพราะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานที่ได้มาตรฐานตามที่ กฟผ. และกระทรวงพลังงานกำหนด

4.เปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน : เป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่วิธีการนี้จำเป็นที่จะต้องลงทุน แต่ก็แลกมาด้วยการช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ในระยะยาว และไม่สร้างมลพิษให้กับโลกด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ทำจากสารกึ่งตัวนำชนิดพิเศษ ที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

5.ติดตั้งกันสาด : ประโยชน์ของการติดตั้งกันสาด ที่หลายท่านอาจจะมองข้าม มีดังนี้ ช่วยป้องกันแสงแดด ป้องกันฝนและละอองฝน เพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับบริเวณบ้าน และที่สำคัญ ช่วยทำให้บ้านเย็นลง

ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว

หนึ่งในวิธีช่วยประหยัดไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ที่มีอากาศอบอ้าวและร้อนจัด คือ การเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดไฟ ในโอกาสที่ปีนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครบรอบ 30 ปี จึงได้เปิดตัวฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว รูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับความเข้มข้นของการประหยัดพลังงานควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ดังนี้ คือ เพิ่มเกณฑ์ประสิทธิภาพฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จาก 1-3 ดาว เป็น 1-5 ดาว เพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม พร้อมทั้งแสดงปริมาณการลดการปล่อย CO2 ตลอดช่วงการใช้งาน เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อนจากการเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5​ เพิ่มสัญลักษณ์กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Circular Economy) เพื่อขยายบทบาทของฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จากช่วงการเลือกซื้อสู่การดูแลตลอดวงจรชีวิต (Life Cycle) ของอุปกรณ์ เพิ่ม QR Code เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้งาน การติดตั้งและการบำรุงรักษาตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์

สรุปคือ ดาวบนฉลากเบอร์ 5 คือ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงระดับประสิทธิภาพพลังงานที่ได้รับ ตั้งแต่ เบอร์ 5 จำนวน 1 ดาว  ถึง เบอร์ 5 จำนวน 5 ดาว ทั้งนี้ยิ่งดาวบนฉลากเบอร์ 5 ยิ่งมาก ก็ยิ่งประหยัดไฟ ช่วยในการตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวโครงการโรงเรียนเบอร์ 5 เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนบูรณาการองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์ 4 กิจกรรม ได้แก่ 1) โรงเรียนสีเขียว ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 2) โรงเรียนคาร์บอนต่ำ ลดการใช้ไฟฟ้าในโรงเรียน 3) โรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน ลดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านนักเรียน และ 4) อาคารเบอร์ 5 ในสถานศึกษา โดยมีเยาวชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวแล้วกว่า 4 ล้านคน และเครือข่ายโรงเรียนกว่า 1,300 โรงเรียน

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๓ ระหว่างวันที่ ๑๕-๒๑ มีนาคม ๒๕๖๗

หน้า 2-3 สกู๊ปปก

 มังกรพ่นไฟ…ร้อน!ใจจะขาดรอน ๆ

ร่อนเตือนภัยสุขภาพ-ค่าไฟแพง

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๓ ระหว่างวันที่ ๑๕-๒๑ มีนาคม ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/pkti/#p=1
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post