Digiqole ad

มหาวิบัติ “ดิโจรทัล AI” มิติใหม่ภัยโลกไซเบอร์รับปี 2567

 มหาวิบัติ “ดิโจรทัล AI” มิติใหม่ภัยโลกไซเบอร์รับปี 2567
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 411 วันที่ 22-28 ธันวาคม 2566

หน้า 2-3

มหาวิบัติ“ดิโจรทัล AI”

มิติใหม่ภัยโลกไซเบอร์รับปี 2567

            ใกล้สิ้นปี 2566 จะเข้าสู่ปี 2567 แล้ว กลุ่มคนที่ขยันทำงานเพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ยิ่งกว่ากลุ่มใด ๆ นั่นก็คือ “มิจฉาชีพ” โดยเฉพาะ “แก๊งคอลเซนเตอร์” ที่มาในรูปแบบใหม่สด ทันเหตุการณ์ และทันยุคทันสมัยเสมอ กระทั่งมีคนบอกกันว่า “ทำงานไวกว่ารัฐบาลก็พวกมิจฉาชีพนี่แหละ”

ยกตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ รัฐบาลประกาศนโยบายเรื่องจะให้เงินดิจิทัลแก่ประชาชนคนละ 10,000 บาท ยังไม่ทันข้ามคืน มิจฉาชีพรีบออกแอพลิเคชั่นหลอกให้คนเข้าไปดาวน์โหลดเรียบร้อยโรงเรียนเศรษฐาทวีสิน นอกจากไม่ได้เงินกันแล้วยังถูกดูดทรัพย์ไปมากกว่าจำนวนเงินดิจิทัลที่จะให้เสียอีก รอดูกันว่า ถ้าหากถึงวันได้เงินได้จริง ๆ (ไม่ได้ก็แล้วไป) มิจฉาชีพคงหลอกเอาเงินประชาชนคนตาดำ ๆ (และน่าสงสาร) ไปได้อีกมหาศาล

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์” มีความห่วงใยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ พี่น้องประชาชนคนไทยจะถูกหลอกกันมากขึ้น เนื่องจากมิจฉาชีพมองว่า เป็นช่วงที่มีเงินถุงเงินถังสังสรรค์ปีใหม่ ลูกหลานนำเงินหรือของมีค่า โดยเฉพาะ “ทองรูปพรรณ” มามอบเป็นของขวัญให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักนับถือ อีกทั้งไปท่องเที่ยวให้รางวัลกับชีวิตตัวเองที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งปี จึงได้รวบรวมเอาข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วนมาเตือนภัยเอามิจฉาชีพยุคดิจิทัลและเอไอ (AI) กัน

AI : ดาบสองคม รัฐออกโรงเตือนภัย

จากกรณีที่แก๊งมิจฉาชีพ คอลเซ็นเตอร์ กำลังระบาดอย่างหนัก มีหลอกลวงให้หลงเชื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น อ้างชื่อหน่วยงานภาครัฐ หรือการส่ง SMS หลอกลวง ล่าสุดมิจฉาชีพมีการหลอกลวงรูปแบบใหม่ มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) เลียนเสียงนักศึกษาหรือผู้เสียหาย หลอกให้ผู้ปกครองหลงเชื่อว่านักศึกษาถูกเรียกค่าไถ่ พร้อมขู่โอนเงินเรียกค่าไถ่

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แจ้งเตือนภัยขอให้ผู้ปกครองอย่าหลงเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้รูปแบบพฤติการณ์เรียกค่าไถ่เสมือน โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์หาพ่อแม่หรือผู้ปกครอง พร้อมส่งส่งรูปบุตรหลานไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และมิจฉาชีพจะหลอกว่าลูกหลานถูกเรียกค่าไถ่ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการหลอกสองชั้น

โดยชั้นแรก มิจฉาชีพจะใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบInternet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี อยู่เพียงลำพัง โดยมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อข่มขู่ทำให้ผู้เสียหายตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่างๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน

ต่อมามิจฉาชีพจะทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่กลุ่มมิจฉาชีพจัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของนักศึกษาไป หากไม่มีเงิน กลุ่มมิจฉาชีพจะแนะนำให้นักศึกษาย้ายหรือออกจากห้องพัก หรือที่พักปัจจุบัน และให้ผู้เสียหายไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือกและเทปกาวจากร้านค้า เพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับมิจฉาชีพ และสั่งให้นักศึกษาทำทีปิดโทรศัพท์และให้นักศึกษาใช้เทปกาวและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง ถ่ายคลิปวิดีโอโดยใช้เครื่องของนักศึกษาเอง เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้มิจฉาชีพทางแอปพลิเคชันหรือทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับคลิปหรือภาพถ่ายแล้วมิจฉาชีพจะนำรูปภาพหรือเสียงปลอมของบุตรหลาน (AI Voice) ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือAI ในการเลียนเสียงบุตรหลาน

จากนั้น การหลอกชั้นที่สอง มิจฉาชีพจะโทรศัพท์หลอกพ่อแม่และผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่ โดยจะส่งคลิปไปให้พ่อแม่และผู้ปกครอง เมื่อพ่อแม่และผู้ปกครองตกใจ ที่ได้รับข้อมูลดังกล่าว มิจฉาชีพจะแจ้งพ่อแม่และผู้ปกครองให้โอนเงินค่าไถ่โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1. พ่อแม่และผู้ปกครองโอนเงินไปให้นักศึกษา แล้วนักศึกษาโอนเงินต่อไปให้มิจฉาชีพ และ 2. พ่อแม่และผู้ปกครองโอนเงินให้มิจฉาชีพโดยตรง

ดังนั้นเพื่อป้องกันการหลอกลวงของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดีอีเอส ขอให้นักศึกษา พ่อแม่ และผู้ปกครองไม่ต้องรับสายโทรศัพท์ จากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยและหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย +697 +698 ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยเด็ดขาด

AI :  ภัยที่ต้องหากฎเหล็กป้องกัน

            ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยังได้เตือนภัยสำหรับเด็กและเยาวชนคือ

  1.  สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้า ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์
  2.           สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับ แล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่ (มิจฉาชีพสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
  3.            หากมิจฉาชีพข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
  4.            หากมิจฉาชีพให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง
  5.           โหลดแอปฯ Whoscall ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที
  6.           หากมิจฉาชีพส่งเอกสารมาข่มขู่ ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-866-3000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง

ส่วนการเตือนภัยสำหรับผู้ปกครองคือ

  1.  หากมิจฉาชีพข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือโทรสายด่วน 191 หรือ 1441 และเบอร์ 081-866-3000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี
  2.           ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็กลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่

สำหรับกรณี เรียกค่าไถ่เสมือนนี้ ในต่างประเทศ เรียกว่า Virtual Kidnapping Ransom Scam หรือ fake kidnapping หรือ Kidnapping scam

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยท่านสามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ทาง https://pctpr.police.go.th  เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน1441 หากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงสามารถแจ้งความผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

           AI : หลอกเอาเงินแบบสมจริง

นอกจากนี้ตำรวจยุโรปเตือนภัยมิจฉาชีพอาจเริ่มใช้ AI เขียนข้อความ หลอกเอาเงิน แบบสมจริงกว่าที่เป็นมาแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยมีประสบการณ์ได้รับข้อความหรือเมลจากมิจฉาชีพ เพียงแต่รอดจากการถูกหลอกมาได้ เพราะรู้ทันคนพวกนั้น จากลักษณะการใช้คำหรือความไม่สมเหตุสมผลของข้อความกันสักครั้งสองครั้ง

ดังนั้น นี่จึงอาจจะเป็นข่าวที่น่ากังวลพอสมควรเลย เพราะเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจสากลยุโรป (Europol) ก็เพิ่งจะออกมาประกาศเตือนประชาชนเลยว่า มันกำลังมีความเป็นไปได้สูงเลยที่มิจฉาชีพจะเริ่มนำ AI อย่าง ChatGPT มาช่วยในการต้มตุ๋น

นั่นหมายความว่า อีกหน่อยเราอาจจะยิ่งตรวจจับข้อความหรืออีเมลหลอกลวงได้ยากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถพึ่งพาการใช้คำผิด หรือข้อความที่ดูไม่เป็นธรรมชาติอีกต่อไป “ความสามารถในการร่างข้อความที่เหมือนจริงสูงของ ChatGPT ทำให้มันถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากที่จะนำไปใช้โดยมิจฉาชีพเลย” ChatGPT ระบุ

และแม้ว่าในปัจจุบันภาษาที่ AI เชี่ยวชาญมากพอที่จะเป็นปัญหาเช่นนี้ได้ จะยังมีแค่ภาษาอังกฤษ จนทำให้ประเทศที่เสี่ยงส่วนใหญ่จะอยู่แค่ในฝั่งตะวันตกอยู่ก็ตาม แต่หากดูจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ AI หลายๆ ตัว มันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอีกไม่นานเราก็อาจจะได้เห็นข้อความหรืออีเมลต้มตุ๋นในภาษาอื่นๆ รวมถึงภาษาไทย ถูกเขียนขึ้นโดย AI ภาษาระดับสูงเลยก็เป็นได้

เรื่องของ AI ที่แทรกตัวเข้ามาในโลกเราดูจะเป็นประเด็นที่เอามาพูดกันยังไงก็ไม่มีวันจบนะครับ และต่อให้เราวิ่งตามกันยังไงก็คงจะไม่ทันแน่ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่คนทั่วไปแบบเราๆนะครับที่รู้สึก เพราะในหมู่นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังคิดเห็นตรงกัน จนมีการร่วมลงนาม ส่งจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ หยุดทดลอง AI ชั่วคราว เพื่อทำข้อกำหนดความปลอดภัยที่ชัดเจน

ด้วยความสะดวกสบายของ AI หลายคนก็คงจะอยากเห็นเทคโนโลยีนี้พัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นในอีกด้านหนึ่ง เราก็มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนา AI แบบก้าวกระโดดนี้เช่นกัน นั่นทำให้ล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และซีอีโอบริษัทดังๆ หลายคน รวมถึง อีลอน มัสก์ จึงได้ออกมารวมตัวกันลงนามในจดหมายเปิดผนึก

เรียกร้องให้การทดลอง AI ทั้งหมดหยุดลงเป็นการชั่วคราว ภายใต้เหตุผลว่ามันอาจ “มีความเสี่ยงอย่างลึกซึ้งต่อสังคมและมนุษยชาติ” ได้ หาก AI ขั้นสูงถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีการจัดการหรือวางแผนที่เหมาะสม โดยในจดหมายนักวิทยาศาสตร์ได้ระบุว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา AI ถูกพัฒนาไปแบบเหนือการควบคุมจนเกินไป ถึงขนาดที่แม้แต่ผู้สร้างเอง ก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจ หรือควบคุมมันอย่างน่าเชื่อถือได้

ดังนั้น มันอาจจะดีกว่าหากการทดลองทั้งหมดจะหยุดลงแบบชั่วคราวก่อน เพื่อที่ผู้พัฒนาจะได้มีโอกาสรวมตัวกันเพื่อพัฒนาข้อกำหนดหรือข้อตกลงความปลอดภัยในการออกแบบ AI ที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมา เพราะสำหรับหลายๆ คนแล้ว ในปัจจุบันเรายังมีความล้าหลังในด้านความปลอดภัยในการสร้าง AI อยู่หลายขุมมาก เมื่อเทียบกับการพัฒนาของระบบ AI เอง ที่มีการแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน (ที่มา : PPTV)

            AI : กลโกง “หลอกซ้อนหลอก”

            เฟซบุ๊ก : Worawisut Pinyoyang โพสต์ข้อความระบุ กลโกง “หลอกซ้อนหลอก” ที่แก๊ง Call Center โทรคุย โดยใช้คอนเทนต์ อ้างเป็นประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มออนไลน์ TikTok ชวนทำคอนเทนต์สร้างรายได้

ช่วงแรกหลายคนอาจจะสะใจที่ไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ แต่ในขณะนี้พบว่า เหล่ามิจฉาชีพพัฒนากลโกงไปอีกขั้น โดยการหลอกให้ผู้รับสายพูดแล้วอัดเสียง เพื่อนำไปแปลงเสียงด้วย AI

ช่วงนี้เห็นมีหลายคนโพสต์สะใจเวลามีแก๊งค์ Call Center โทรมาหา แล้วได้ชวนคุย ทำคอนเทนต์ TikTok แกล้งไอ้คนโทรมาด้วยความสะใจ เรานี่แหละที่คิดว่าตัวเองฉลาด รู้เท่าทัน แต่หารู้ไม่ เสียงของเราเองนี่แหละ ถูกอัดไว้แล้ว ระวังกลายเป็นเหยื่อ โดนหลอกซ้อนหลอก

           อัดเสียงเรา เอาไปทำอะไร ?

เสียงที่โดนอัด ถ้าไม่ชัด จะถูกเอาไปใช้ AI ที่คลีนเสียง มันจะ amplify เสียงเราจนชัดเลย ตัดเสียงรบกวน เสียงหมาแมว รถวิ่งผ่าน เหลือแต่เสียงเรา มีเครื่องมือ เช่น Cleanvoice.ai ช่วยทำให้ แค่โยนเสียงที่อัดไว้ แล้วมันจะคลีนเสียงให้ ออกมาใสแจ๋ว โดยไม่ต้องไปอัดในสตูดิโอ เหมือนแต่ก่อน

-ระวังให้ดี มิจฉาชีพ มีหลายเทคนิคในการหลอกเอาเสียงเรา เช่น โทรมาไม่พูดอะไร ให้เราฮัลโหลๆ อยู่คน-เดียว โทรมาหลายรอบ คนละเบอร์ ซักพักก็เก็บเสียงเราได้พอสมควร

-ปลอมตัวเป็นคนส่งของ แจ้งส่งของนู่นนี่นั่น ชวนคุย ถามทาง

-ปลอมเป็นธนาคาร คุณติดหนี้บัตร ชำระก่อนวันที่

-ชวนทำสินเชื่อ

-ปลอมตัวเป็นพนักงาน Call Center ค่ายมือถือ แจ้งให้ชำระเงิน

-โทรมาจากร้านนู่นนี่ บอกว่าสินค้าที่จองไว้ ได้แล้ว

ถ้าโทรมาสัก 5 คน ด้วยเบอร์ปลอมต่างๆ กัน ก็น่าจะได้เสียงเรารวมกัน 3-5 นาที เอาไป process, clean & amplify ให้ชัดๆได้แล้ว

เอาเสียงที่คลีนได้ ไปใช้ Voice Cloning ต่อ เช่น Resemble.ai ใช้ความคลิปเสียงประมาณ 3 นาที มีบริการทำแบบนี้มากมาย ที่เราไม่รู้ว่ามี ปกติใช้เวลาหลักวันในการโคลนเสียงทีได้

พอได้เสียงโคลน สามารถเขียนโปรแกรมให้เสียงนี้พูดอะไรก็ได้ เรียกว่า Real-time API แบบ Low latency (Low Latency Streaming API) สามารถทำ Realtime Speech to Speech ได้ คือ โทรหาเหยื่อด้วยเสียงเราเลย พูดจาโต้ตอบได้ด้วยเสียงเรา

สามารถ deploy เสียงโคลนให้เป็นแบบ offline ไว้ลงในโทรศัพท์พี่มิจ เรียกว่า On-Prem with Offline

สามารถทำสิ่งนี้แบบ at scale คือ ทีละเยอะๆ สเกลไปได้เท่าที่ต้องการ โดยการใช้ เทคโนโลยี Robocalling ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Caller ID Spoofing สามารถปลอมเบอร์ที่โทรเข้า เป็นเบอร์คนรู้จักได้

เดี๋ยวนี้สามารถ Spoofing (ปลอมแปลง) ได้ทั้งเบอร์โทร เสียง (เป็นผู้ชาย ผู้หญิง) ได้แบบ On the fly Concept จะคล้ายๆ กับบริการ เช่น SpoofCard, SpoofTel ที่ออกมาแบบเจตนาดี ปกป้อง privacy ของคนใช้ https://www.spoofcard.com/features

สิ่งที่ควรทำ

-ไม่รับสายเบอร์แปลก เพราะเราไม่รู้เลยว่าปลายสายเป็นใคร ต้องการอะไร

-ลง WhosCall, TruCaller ไว้ตรวจสอบเบื้องต้น ถ้าเลือกได้ บน iPhone จะมีตัวเลือก “Silence Unknown Callers”

-การเปิดเผยเบอร์โทรส่วนตัว ถือเป็นความเสี่ยง ทำให้ข้อมูลเบอร์เราเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลพี่มิจได้ วิธีการป้องกันเบื้องต้นคือ การปิด Caller ID ก่อนโทรหากลับหาเบอร์แปลก

            Android กดตามนี้

Phone > Menu > Settings > Calls > Additional Settings > Caller ID > Hide number

            iPhone กดตามนี้

Settings > Phone > Show My Caller ID และ turn off Show My Caller ID (ที่มา : ThaiPBS)

            AI : ตรวจจับบัญชี Facebook ปลอม

ปัจจุบันปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์ (Scam) เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะ Social Media บ่อยครั้งมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน ทำเป็นรูปแบบกระบวนการ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเหล่าสแกมเมอร์มักมีการดำเนินการจากหลากหลายแหล่ง ในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ต่าง ๆ และปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ด้วย

ล่าสุด Meta ได้ดำเนินการ “ลบบัญชีปลอม” บนแพลตฟอร์ม Facebook ไปแล้วมากกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลก โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกไปผ่านการดำเนินงานเชิงรุกด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 Meta ยังได้ดำเนินการลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวง จำนวน 1,100 ล้านชิ้น โดย 95.3% เป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจจับผ่านการดำเนินงานเชิงรุกโดยเทคโนโลยี AI

Meta ประเทศไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook Instagram Whatsapp และ Threads ร่วมมือกับกระทรวง DE และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดตัวแคมเปญ #StayingSafeOnline ให้ความรู้เท่าทันภัยทางออนไลน์ ออกมาตรการการรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ (Scam)

เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การตรวจจับและป้องกันสแกมบนแพลตฟอร์มของ Meta หากพบบัญชีที่มีพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ใช้งาน “บัญชี Facebook ปลอม” หรือนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง หากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด หรือหากผู้ตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ บัญชีดังกล่าวก็จะ “ถูกลบทันที”

เทคนิคตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บน Meta

-ใช้เทคโนโลยี Machine Learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta

-ลดการเข้าถึง (Reach) เนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง

-ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ

-จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะ สำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

-ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ (ที่มา : ThaiPBS)

            AI : มหาภัยต้องเจอสายด่วน 1441

            พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่เปิดให้มีการแจ้งอาชญากรรมทางออนไลน์พบว่า มีการแจ้งรวมกว่า 3 แสนคดี หรือเฉลี่ยกว่า 700 คดี/วัน รูปแบบอาชญากรรมออนไลน์ สามารถแยกได้เป็น 14 ประเภท แต่ที่มีจำนวนเยอะสุดอันดับ 1 คือ การซื้อขายออนไลน์ เช่น ได้ของไม่ตรงปก คิดเป็น 40% หรือกว่า 130,000 คดี ตามด้วย หลอกทำภารกิจหรือเล่นเกม,หลอกทำงานออนไลน์,แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และหลอกลงทุนในแต่ละปีความเสียหายจากมิจฉาชีพในไทยมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมิจฉาชีพก็เอาเงินไปลงทุนเทคโนโลยี และคนเพิ่มเติม ทำให้เครือข่ายมีความซับซ้อนและกระจายในหลายประเทศ ทำให้จับได้ยากขึ้น มีกลโกงรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น โอกาสหลงเชื่อก็เยอะขึ้น

“ปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์ นับเป็นปัญหาสังคมที่ขยายวงกว้างออกไปในทุกพื้นที่บนโลกออนไลน์  อาชญากรรมไซเบอร์และปัญหาเรื่องสแกมเมอร์เป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่ บช.สอท.ให้ความสำคัญและทำงานอย่างเต็มที่ โดยอยากให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอเมื่อมีปฏิสัมพันธ์หรือทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะอยู่ใช้แพลตฟอร์มหรือช่องทางไหน เพราะว่าอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบันมีการพัฒนากลลวงเพื่อการหลอกล่อที่ซับซ้อนและอำพรางได้แนบเนียนมากขึ้น โดยปัจจุบันทางตำรวจไซเบอร์ได้เปิดสายด่วน 1441 เพื่อขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาปัญหาอาชญกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแจ้งเบาะแสได้ (ที่มา : positioningmag)

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 411 วันที่ 22-28 ธันวาคม 2566

หน้า 2-3

มหาวิบัติ“ดิโจรทัล AI”

มิติใหม่ภัยโลกไซเบอร์รับปี 2567

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๑ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖
https://book.bangkok-today.com/books/vsoq/index.html#p=1

                  

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post