Digiqole ad

มจพ. ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ “การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นั่ง”  กับ นายกเทศมนตรี เทศบาล จ.น่าน และปลัดเทศบาลตำบลเสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

 มจพ. ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ “การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นั่ง”  กับ นายกเทศมนตรี  เทศบาล จ.น่าน และปลัดเทศบาลตำบลเสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
Social sharing

Digiqole ad

ศาสตราจารย์ ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ “การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นั่ง” กับ คุณสุรพร เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเทศบาลน่าน จังหวัดน่าน คุณณรงค์ พฤกษชาติ ปลัดเทศบาลตำบลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ภายใต้โครงการส่งเสริมการนำสิ่งประดิษฐ์และผลงานวิจัยพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงสังคม  เพื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าในการใช้รถสาธารณะที่ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ในการรับ-ส่ง เด็กนักเรียน โดยนำไปพัฒนากับชุมชนต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการให้ใช้นวัตกรรมสามารถเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน  โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท เทียนน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน แพทย์หญิงชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้ จยย.ปลอดภัย มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ และรองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์  เกิดนิยม หัวหน้าทีมศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม Cloud 9 ชั้น 9 สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ.

ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาการออกแบบผลิตภัณฑ์ “ที่นั่ง” เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยมีศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นเจ้าของผลงานผู้ประดิษฐ์คิดค้น ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากทุนวิจัยงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2561 และได้รับการจดขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่สิทธิบัตร 76476 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

รถรับส่งนักเรียนในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่พัฒนามาจากรถกระบะ หรือรถบรรทุกโดยสารหกล้อ โดยที่นั่งจะมีลักษณะเป็นเก้าอี้ม้านั่งยาวโดยให้เด็กนั่งตามแนวยาวของตัวรถ รถดังกล่าวจะมีลักษณะสองแถวซึ่งจะมีเก้าอี้ม้านั่งส่วนใหญ่และจะทำมาจากโครงสร้างเหล็กโดยไม่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ลักษณะดังกล่าวจะไม่ปลอดภัยหากเกิดอุบัติเหตุและมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น นวัตกรรมที่นั่งปลอดภัยสำหรับเด็กที่สอดคล้องกับบริบทการใช้รถและลักษณะการนั่งตามยาวแบบเดิมจึงมีความสำคัญ นวัตกรรมที่นั่งดังกล่าวได้ถูกออกแบบและสร้างบนพื้นฐานของมาตรฐานสากล โดยใช้วัสดุที่สามารถจัดหาและผลิตได้ในอุตสาหกรรมท้องถิ่น นวัตกรรมดังกล่าวจะมีโครงสร้างฐานที่ยึดติดกับที่นั่งจะถูกนำไปติดตั้งบริเวณท้ายรถกระบะ หรือในรถบรรทุกโดยสารหกล้อ ส่วนที่นั่งจะถูกติดตั้งเข้ากับโครงสร้างฐานซึ่งสามารถติดตั้งได้จำนวน 5 ที่นั่ง ในกรณีของรถกระบะ หรือมากกว่า 5 ที่นั่ง ในกรณีรถบรรทุกโดยสารหกล้อ นวัตกรรมที่นั่งดังกล่าวสามารถรับแรงกระแทกทางด้านข้างกับด้านหน้าได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งสามารถพับเก็บได้รวมทั้งปรับความสูงบริเวณพนักพิงได้ตามสัดส่วนความสูงของผู้โดยสาร อีกทั้ง ที่นั่งบริเวณศีรษะและสะโพกด้านข้างของผู้โดยสารจะถูกออกแบบให้เพื่อลดการบาดเจ็บกรณีที่มีการกระแทกเกิดขึ้นได้อีกด้วย

ศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับการติดต่อประสานงานจากแพทย์หญิงชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (Regional advisor WHO SEARO, Rrt.) มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เพื่อเชิญเข้าร่วมดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการ

สนับสนุน การดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีการคัดเลือกชุมชน 2 ชุมชน ได้แก่ เทศบาลเมืองน่าน จังหวัดน่าน และเทศบาลตำบลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย การดำเนินงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าในการใช้รถสาธารณะที่ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ ในการรับ-ส่ง เด็กนักเรียน โดยนำไปพัฒนากับชุมชนต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ ให้ใช้นวัตกรรมที่สามารถเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน “ทางเลือก ที่ปลอดภัยกว่า สำหรับรถสาธารณะ สำหรับเด็ก (ในต่างจังหวัดหรือ กทม.)”

พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อการผลิตผลงานทรัพย์สินทางปัญญาการออกแบบผลิตภัณฑ์ “ที่นั่ง” ภายใต้โครงการส่งเสริมการนำสิ่งประดิษฐ์และผลงานวิจัยพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงสังคม แสดงถึงการได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอก ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือไปใช้ประโยชน์ได้จริง อีกทั้งยังสามารถลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและสูญเสียชีวิตในการใช้รถใช้ถนนสังคมและบริบทของประเทศไทย สามารถสร้างชุมชนต้นแบบที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนที่สนใจได้ต่อไป

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post