
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เผยแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าคณะรัฐมนตรีมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ได้รับการยกร่างโดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดและตั้งใจที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาข้อบังคับตามกฎหมายทั้งหมดเพื่อให้สามารถเริ่มต้นการทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ ที่สร้างปัญหา
.
1. สิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้เป็นความประสงค์ที่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ละครั้งก็มีข้อสรุปที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาจำนวนมากอยู่ในปัจจุบันเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่ยังไม่ตรงกันของคนในสังคม โดยเฉพาะยิ่งในปัญหาสำคัญๆ หลายเรื่อง เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้รัฐบาลจึงให้ความสำคัญ โดยเสนอเป็นนโยบายของรัฐบาล และในการประชุม ครม. วาระแรก จึงได้นำเรื่องนี้เข้าหารือ แต่สถานการณ์และความเป็นจริงชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเกี่ยวพันกับทุกภาคส่วนของสังคม รัฐบาลจึงพยายามทำให้ครั้งนี้เป็นการหาข้อสรุปที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
.
2. เราต้องยอมรับว่าวันนี้หลายเรื่องถ้าไม่สามารถกำหนดประเด็นให้เหมาะสมชัดเจนและอาจกลายเป็นปัญหาที่ก่อความขัดแย้งใหม่ขึ้น เพราะฉะนั้นในการดำเนินการครั้งนี้ รัฐบาลจึงได้พิจารณาอย่างรอบคอบและหลังจากนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาการให้ดำเนินการในเรื่องนี้ ก็ได้มีการคิดในรายละเอียดอย่างรอบคอบ
.
3. การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นั้นเป็นแนวทางในการหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงพูดได้ว่าเรามีแนวทางในการจัดทำประชามติเพื่อไปสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชนในสังคม ซึ่งขณะนี้ได้วางหลักการไว้ชัดเจน
.
4. รัฐบาลต้องการทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด โดยกรอบเวลาที่วางเอาไว้เบื้องต้น ส่วนหนึ่งเป็นไปตามกรอบที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าจะต้องมีการทำประชามติ และอีกส่วนคือ เป็นไปตามกรอบกฎหมายในปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงคิดว่าจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปีที่รัฐบาลดำเนินการอยู่โดยสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญนี้ให้เกิดความเห็นชอบของทุกฝ่ายทุกกลุ่มในสังคมโดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะยืดเวลาไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคิดตามช่วงเวลาที่นานที่สุดก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปีกว่า แต่ทั้งนี้ในแต่ละช่วงการดำเนินการจะสามารถย่นระยะเวลาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการที่ได้จัดตั้งขึ้นครั้งนี้จะต้องไปหาแนวทางว่าจะทำอย่างไงที่จะให้เกิดการทำประชามติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ให้น้อยที่สุด เนื่องจากการทำประชามติแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 3,000 – 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินประมาณที่สูงมากในสถานการณ์เช่นนี้ จึงพยายามหาหนทาง และหากเป็นไปได้ก็อยากทำประชามติ 2 ครั้งจะได้หรือไม่ เพื่อเป็นการทำให้เสียค่าใช้จ่ายที่น้อยลง แต่จะต้องสามารถทำประชามติโดยตอบสนองการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วนและสามารถแก้ไขความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมได้
.
5. รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จ ไม่ใช่การเสนอขึ้นมาแล้วก็ตกไปเหมือน 4 ครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นจึงต้องพยายามจะหาจุดร่วมที่ดีที่สุดที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยให้มากที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายและความต้องการของรัฐบาลที่พยายามจะดำเนินการเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อใช้กฎกติกาใหม่ที่สามารถจะใช้ดำเนินการในการเลือกตั้งต่อไปได้ ดังนั้นภายใน 4 ปีจะต้องทำให้สำเร็จพร้อมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
.
6. ประเด็นที่สำคัญคือ เราเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจในมาตราต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในสังคม จึงไม่ควรจะต้องไปแตะต้อง แล้วใช้เวลาที่เหลือในการพิจาณาข้อบังคับในรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
.
7. สำหรับกระบวนการในการเริ่มต้นทำประชามติ จะมีกระบวนการต่างๆ ตามกฎหมาย ดังนั้นเพื่อความรอบคอบจึงเสนอให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้จึงได้พยายามรวบรวมผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ ให้มากที่สุดโดยจะมีการเชิญประชุมพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านอีกครั้ง แต่น่าเสียดายที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วม แต่ก็เคารพในเหตุผลของพรรคก้าวไกล และได้กันที่นั่งไว้ให้ 1 ที่นั่ง ซึ่งแม้จะยังไม่ได้เข้าร่วมในตรงนี้ แต่ก็ได้เรียนกับสื่อมวลชนไปว่าไม่เป็นไรและไม่ได้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สะดุดลง แต่เราจะพยายามกำหนดในแผนการว่าจะมีการพูดคุยกับพรรคก้าวไกลในอนาคต
.
8. สำหรับคำถามเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะเป็นอย่างไรนั้น อาจมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะพยายามทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม และเราจะพยายามทำให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามที่ได้มีความคิดเห็นกันมา ยืนยันว่าความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้เสนอมาจะมีการนำมาร่วมในการพิจารณาด้วย เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญสำเร็จลุล่วง โดยมีการพูดคุยกับทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกวิชาชีพให้มากที่สุด รวมไปถึงการพูดคุยกับ สว.
.
9. ยืนยันว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ที่ถูก ไม่ใช่กระดุมเม็ดแรกที่ผิดตามที่มีการกล่าวอ้างกัน เพราะกระดุมเม็ดแรกที่เรากำลังทำนี้เป็นความพยายามดึงทุกภาคส่วนมายืนยันอีกครั้ง ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตซึ่งไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้นั้นได้แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่ได้หาจุดสรุปที่ชัดเจน ดังนั้นการติดกระดุมเม็ดแรกของรัฐบาลคือการที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาศึกษาการทำประชามติ และพยายามรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งใช้เวลาไม่มาก โดยจะมีการหารือกับคณะกรรมการอีกครั้งว่าจะสามารถทำให้ได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือนได้หรือไม่
.
10. สำหรับบุคคลที่เข้ามาร่วมในคณะกรรมการชุดนี้เป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วน และล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งอดีต กกต. อดีตคณบดี อดีตนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนวิชาชีพต่างๆ ซึ่งจะมาช่วยกันดูว่า การที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะต้องรายละเอียดอย่างไร จึงขอให้ทุกฝ่ายยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน และควรรับหลักการที่ชัดเจนในความต้องการให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยแนวทางการให้ทุกภาคส่วนมาพูดคุยกันเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขอุปสรรคที่เป็นปัญหาของประเทศ โดยไม่สร้างความขัดแย้งใหม่
.
11. “ผมเสียใจนิดเดียว ที่พรรคก้าวไกลเอาตัวออกไปจากคณะกรรมการที่ได้จัดตั้งขึ้น ผมว่าไม่ควรมองอะไรในแง่ร้ายเกินไป สิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นเรากำลังจะเริ่มต้น ถ้าทำใจกว้างนิดหนึ่งแล้วเข้ามาร่วม ผมว่าเราจะคุยกันได้ในเวทีที่จะปรึกษาหารือกัน ดังนั้นการเข้ามาร่วมก็ย่อมจะดีกว่าการอยู่ภายนอก แต่ก็ไม่เป็นไร เมื่อท่านไม่เข้ามา เราก็จะเชิญพรรคก้าวไกลมาหารือกันอีกครั้ง และการทำงานครั้งนี้จะไม่ได้ทำงานเฉพาะคณะกรรมการเท่านั้น แต่จะเปิดเวทีให้ทุกองค์กรรวมไปถึงสื่อมวลขนได้แสดงความเห็น อาจใช้เวลานิดหน่อย แต่ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนที่ทำให้ได้ความคิดเห็นที่กว้างขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments