Digiqole ad

พิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยโครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพ ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับ บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด

 พิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยโครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพ  ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับ บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด
Social sharing

Digiqole ad

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด จัดงานพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยโครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพ ณ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว ชั้น ๑ อาคาร ๑ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ เห็นความสำคัญในเรื่องของงานวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ซึ่งระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แพทย์และนักวิจัยไทย ก็มีผลงานในระดับนานาชาติอยู่หลายผลงาน

สำหรับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน กรมการแพทย์ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ในหลายโครงการ สำหรับโครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการ  ที่กรมการแพทย์ ได้มีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ในการวิจัย พัฒนา นวัตกรรมชิ้นสำคัญ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ที่สามารถตรวจวัดสภาวะทางสุขภาพด้วยลมหายใจ โดยเริ่มจากการตรวจหาปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน    ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างสูง และในช่วงที่ผ่านมาในสถานการณ์โควิด-19 ทางทีมวิจัย ได้นำองค์ความรู้นี้มาปรับใช้กับการตรวจหาเชื้อโควิด ประสบผลสำเร็จเช่นกัน ทำให้ได้รับรางวัลจากหลายเวทีประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในต่างประเทศ

ความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่สามารถผลิตเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพ   และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับวงการเทคโนโลยีสุขภาพ หรือ Health Tech ของประเทศไทย ที่จะก้าวหน้าไปในอนาคต กับการตรวจสุขภาพแบบ Non-invasive หรือการรับบริการทางสุขภาพแบบไม่ต้องเจ็บตัว เป็นเรื่องที่การแพทย์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมากในยุคต่อจากนี้ไป และแน่นอนว่าจากพื้นฐานองค์ความรู้นี้ จะนำไปสู่การตรวจหาปัญหา  ทางสุขภาพอื่น ๆ ได้อีกอย่างแน่นอน หรือกระทั่งสามารถพัฒนาต่อยอดไปในแง่มุมอื่นที่ไม่ใช่แต่เพียงในแง่มุมของสุขภาพเท่านั้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาคมโลก ในการสร้างเสริมสุขภาวะ และการมีชีวิตที่เป็นปกติสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน

นายรนนท์ พงศาจารุ ประธานบริษัท บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด เป็นบริษัทที่เน้นการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพ หลังจากวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา ๑๔ ปี บริษัทฯ ได้ค้นพบนวัตกรรมสำหรับใช้ประเมินระดับน้ำตาลจากลมหายใจ อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลจากลมหายใจและให้ผลลัพธ์แบบเรียลไทม์    โดยไม่ต้องมีการใช้เข็มเจาะ ซึ่งสำเร็จเป็นเครื่องแรกของโลก ได้จดสิทธิบัตรไปแล้ว ๑๓ ประเทศ (จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และ สิงคโปร์) กับ ๑ ทวีป คือ ทวีปยุโรป นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางบริษัทฯ ก็ได้นำองค์ความรู้นี้มาต่อยอด   ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากลมหายใจ ซึ่งให้ผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ จนได้รับรางวัลเหรียญทอง จากงานประกวดนวัตกรรม Japan Design Idea & Invention Expo 2023 ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และในอนาคตเรามีแผนที่จะต่อยอดองค์ความรู้นี้ไปสู่การประเมินและวิเคราะห์ค่าทางชีวภาพของร่างกายจากลมหายใจในโรคอื่น ๆ ต่อไป

ในช่วงระยะเวลา ๑๔ ปี ของการวิจัยและพัฒนา ต้องใช้สรรพกำลังมหาศาล ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ต้องใช้ความอดทน ต้องสะสมองค์ความรู้ และอื่น ๆ ความร่วมมือจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้งานวิจัยนี้ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สังคมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

งานวิจัยชิ้นนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อได้ถูกพัฒนา เผยแพร่ และนำไปใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนได้จริง ให้คุ้มค่ากับทรัพยากรทุกมิติที่ถูกทุ่มเทลงไป

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า องค์ความรู้ที่เราค้นพบ จะพาประเทศไทยให้เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกในงาน ด้านนวัตกรรมสุขภาพ ไม่แพ้กับงานสาธารณสุขที่ประเทศไทยทำได้ดีมาตลอด และขอขอบคุณกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดโอกาสและเห็นความสำคัญของโครงการนี้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอีกมากมาย

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่ www.hic.co.th

 


 ข้อมูลสนับสนุนในการคิดค้นอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพ

โดยอ้างอิงจากสถานการณ์โรคเบาหวาน

ตัวเลขประมาณการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ปี พ.ศ. 2560 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก จำนวน 425 ล้านราย คาดการณ์ว่าปี พ.ศ. 2588 จะเพิ่มขึ้นเป็น 629 ล้านราย

สำหรับประเทศไทย ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเฉพาะโรคเบาหวาน สูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี

ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานแล้ว ยังไม่นับรวมคนที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน หรือจำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งถ้านับรวมกันแล้วจะมีจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านคน

 

จากตัวเลขที่ถูกประเมินโดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก จะเห็นได้ว่า แนวโน้มของการเกิดโรคเบาหวานมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น

ไม่มีผลสำรวจใดเลยที่จะชี้ไปในทางลดลง นอกจากจะเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งมากกว่าที่คาดการณ์เป็นเท่าตัว

ถ้ามองในแง่การตลาดแล้ว นับว่าเป็นตัวเลขที่สูง ในมุมของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวโรค

 

การเติบโตของ Trend ของ Health Care และ Wellness

อีกประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ Trend ของ Health Care และ Wellness มาแรงในยุคหลังการระบาด ของ Covid-19ทำให้ผู้คนหันมาสนใจสุขภาพกันอย่างมาก

โดยเฉพาะเรื่องของ Health Tech ที่ในยุคต่อจากนี้ไปจะมีการคิดค้นและพัฒนาศักยภาพในการดูแลสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกัน หรือ Prevention มากกว่าการรักษา หรือถ้าเป็นการรักษาก็จะมุ่งหน้าสู่เรื่องของ Non-invasive หรือ การรักษาแบบที่ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัว ซึ่งสามารถทำได้โดยเทคโนโลยีชั้นสูงหลากหลาย

 

โอกาสการเติบโตของกลุ่ม Tech

ถือเป็นโอกาสทองของกลุ่ม Tech ที่จะพัฒนา AI ให้เข้ามาตอบสนองการให้บริการทางสุขภาพทั้งในโรงพยาบาล   หรือเป็นเครื่องมือที่เอาไว้ใช้ในการ monitoring screening ตามบ้าน โดยไม่ได้มุ่งเน้น ไปที่คนป่วยเพียงอย่างเดียว  อีกต่อไป แต่มุ่งเน้นไปที่บุคคลทั่วไปเพื่อการดูแลสุขภาพ เพื่อไม่ให้ป่วย

Facebook Comments


Social sharing

Related post