Digiqole ad

“พิธา”กลับเข้าสภา

 “พิธา”กลับเข้าสภา
Social sharing

Digiqole ad

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  “หยุดการปฏิบัติหน้าที่”สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 หลังจากรับคำร้องขอการวินิจฉัยจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง การหมดสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี 

6 เดือนต่อมา บ่ายวันที่ 24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษาว่า  มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 โดยสรุปคำวินิจฉัยแบบสั้นๆว่า  ตอนสมัครรับเลือกตั้งนายพิธาถือหุ้นไอทีวีอยู่จริง   แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่าบริษัท ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 การที่บริษัทไอทีวียังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ก็เพื่อการดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้น ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่า บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน

  นายพิธาจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร  สมาชิกภาพสส.ของนายพิธาจึงยังคงอยู่เหมือนเดิมสามารถกลับเข้าทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้ทันที

ศาลยังบอกด้วยว่าไม่ได้พิจารณาคดีล่าช้านะ  ที่ช้าเพราะจำเลยเป็นฝ่ายขอขยายเวลา 2 ครั้งๆละ 30 วัน รวมขยายเวลาทั้งหมด 60 วัน ไม่งั้นก็จบกันไปตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้ว

ก่อนหน้าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำพิพากษา  นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.)  ได้ฟันธงว่านายพิธา “ไม่รอด” โดยแสดงความคิดเห็นแบบผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายไว้ 4 เหตุผลว่า
           1. ไอทีวียังคงเป็นสื่อมวลชน เพราะยังมีสถานะความเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีวัตถุประสงค์จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับสื่อ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัท

         2.คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองกลาง ให้ไอทีวีเป็นผู้ชนะคดี ได้รับการเยียวยา และคืนสัมปทานคลื่นความถี่โทรทัศน์ แม้ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำพิพากษาในคดีนี้   แต่ไอทีวีอยู่ในฐานะที่พร้อมประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์นายพิธาน่าจะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม
          3.บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แต่ยังมีบริษัทลูกที่ไอทีวีถือหุ้น99% ประกอบกิจการสื่อและมีรายรับจากทำสื่อโฆษณา รายการ ให้เช่าเครื่องมือ ลิขสิทธิ์ แลtอื่นๆ ฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสื่อมวลชน
           4.ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า หุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานเป็นลักษณะต้องห้ามแม้ถือหุ้นเพียง1หุ้น ก็ขาดคุณสมบัติ
           ตอนนี้สว.สมชายที่บอกไว้เช่นกันว่าน้อมรับคำพิพากษาไม่ว่าจะออกมาทางใด  น่าจะเตรียมแสดงความคิดเห็นต่อในอีกหนึ่งคดีที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาว่า “ล้มล้างการปกครอง”

นักวิชาการท่านหนึงอธิบายว่าการที่ศาลจะพิจารณาว่า บุคคลใดเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏ ว่าบริษัทได้ประกอบกิจการจริงหรือไม่  มิใช่พิจารณาเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัทเท่านั้น

การพิจารณาวัตถุประสงค์ของบริษัทตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิแต่เพียงอย่างเดียว แล้วมีมติว่าบริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม  กรณีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดีของคดีอื่นที่ผ่านมารวมถึงคดีของนายพิธา

  • วันนี้ความเป็นสส.ของนายพิธากลับคืนมาหลังจากเสียเวลาไป 6 เดือน  นายพิธาเสียโอกาสโหวตนายกฯรอบที่ 2  เสียโอกาสทำหน้าที่ในสภา
  • ฝ่ายประชาชนยิ่งเสียประโยชน์  14 ล้านเสียงเลิอกพรรคก้าวไกลมากเป็นอันดับ 1 หนุนนายพิธาให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมากอันดับ 1  ชนะการเลือกตั้งโดยไม่มีพฤติกรรมในการซื้อเสียง  แต่เจอวิชามารเตะตัดขาหัวหน้าพรรคที่ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ให้ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่างที่ควรจะเป็นด้วยข้อกล่าวหา “ถือหุ้นสื่อ” สถานีโทรทัศน์ไอทีวี  
  • วิชามารที่ดูแล้วเหมือนเป็น “ขบวนการสมคบคิด” มีกระบวนการปลุกผีไอทีวีขึ้นมาเพื่อหวังผลทางการเมือง  มีการบิดเบือนการประชุมผู้ถือหุ้น  

             เริ่มต้นมาจากนาย มิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัครสส.สอบตกหลายครั้งหลายสมัยหลายพรรค  เป็นคนจุดประเด็นปล่อยเชื้อเอาไว้ในทวิตเตอร์ส่วนตัว ตั้งแต่ 24 เมษายน 2566 ว่ากำลังจะมีนักการเมืองโดนคดีหุ้นสื่อ  พร้อมภาพหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)          

            วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 แค่ 2 วันก่อนการเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566  นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครส.ส. อันดับที่ 22 ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นเรื่องร้องต่อกกต. ว่านายพิธา ถือหุ้นสื่อไอทีวี

            หลังเลือกตั้งพรรคก้าวไกลนำมาอันดับ1  แต่ผลปรากฏอย่างที่ผ่านมา

  • ถามว่าการที่พิธาพลาดโหวตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบ2  กับ 6 เดือนที่พิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ  ใครต้องรับผิดชอบ  
  • นายเรืองไกรผู้ร้องเรียน 2 วันก่อนหน้าเข้าคูหาเลือกตั้ง อ้างว่า “รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติก็ยังมาสมัคร”  สร้างเงื่อนไขดักรอเล่นงานให้พิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่  เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องรับผิดชอบหรือไม่
  • เข้าข่าย  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561มาตรา 143 หรือไม่
  •  ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่ไม่วินิจฉัยให้จบ  รู้อยู่แล้วว่าไอทีวีหมดความเป็นสื่อนานแล้ว  กกต.เองก็ปล่อยให้พิธานั่งเก้าอี้ในสภามาหนึ่งสมัยแล้ว  แทนที่จะทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์  กลับโยนเผือกร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญ  เหมือนรับลูกมาแล้วเตะลูกต่อ
  • กกต.จะมีสำนึกหรือไม่  หรือต้องมีกระบวนการทบทวนบทบาทหน้าที่ของกกต.กันใหม่เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทำหน้าที่ที่สร้างความไม่เป็นธรรมทางการเมืองดังเช่นที่ผ่านมา
  • มีการพูดถึงด่านต่อไปที่รอพิธาและพรรคก้าวไกลอยู่ในวันที่ 31 มกราคม 2567 คือคดีความพยายามการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีการกล่าวหาว่าพยายามล้มล้างการปกครอง  ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่าผิดจะมีโทษถึงการ “ยุบพรรค” 
  •   การแก้ไขกฎหมายบางฉบับให้ทันสมัยกลายเป็นความพยายามยกเลิกและล้มล้าง  แก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้การเมืองโหนสถาบัน  กลายเป็นลดพระราชอำนาจ กระนั้นหรือ? 
  • แม้จะมีคนฟันธงว่างานนี้ไม่รอดถึงขั้นยุบพรรค  แต่อีกฝ่ายก็เชื่อว่ารอด  เพราะแม้จะมีการหาเสียงจริงว่าจะแก้ไขมาตรา 112  แต่กฎหมายย่อมแก้ไขได้  การแก้ไขยังไม่เกิดขึ้น  หลายคงเชื่อว่าถ้าชงเข้าสภาก็ไม่ผ่าน  หรือหากผ่านก็อาจจะทำให้บรรยากาศในสังคมดีขึ้น  จะไปคาดการณ์อนาคตว่าจะเลวร้ายด้านเดียวได้อย่างไร
  • หรือแค่คิดก็มีความผิดแล้ว  ซึ่งขัดกับหลักนิติศาสตร์
  • ยิ่งมองในหลักรัฐศาสตร์หากคิดยุบพรรคก้าวไกล  ก็เหมือนใส่ปุ๋ยให้ยิ่งเติบโต  ยิ่งตีก็ยิ่งโต  จากพรรคอนาคตใหม่ 81 เสียง ถูกยุบกลายเป็นพรรคก้าวไกลเกิดใหม่ได้ 151 เสียงเข้าสภา  ต่อไปจะกลายเป็นพรรคก้าวกระโดดที่เลือกตั้งใหม่อาจจะได้มากกว่า 250 เสียง  
  • บทเรียนนี้เคยเห็นกันแล้วกับการยุบพรรคไทยรักไทย  กลายเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
Facebook Comments


Social sharing

Related post