Digiqole ad

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง
Social sharing

Digiqole ad

วันที่ 18 พฤษภาคม 2567 เวลา 16.50 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี, ผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2, แม่ทัพภาคที่ 1, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2, ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ พร้อมข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

เวลา 17.11 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงยังพลับพลาพิธีฯ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ ทรงประกอบพิธีเจิม “เรือหลวงช้าง” ซึ่งกองทัพเรือ ได้ว่าจ้างสร้างเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกเข้ามาประจำการ เป็นไปตามแนวทางการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อรองรับบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเรือในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาผลประโยชน์และเส้นทางคมนาคมของชาติทางทะเล โดยการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ ตลอดจน การช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ซึ่งเรือลำนี้ ได้เดินทางกลับมาถึงราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “เรือหลวงช้าง” ชื่อย่อว่า “ร.ล.ช้าง” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “H.T.M.S. CHANG” ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย หมายเลขเรือ 792

โอกาสนี้ เสด็จขึ้นเรือหลวงช้าง บริเวณดาดฟ้าหลัก ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ แล้วเสด็จขึ้นแท่นพิธีฯ ประทับยืน ณ พระสุจหนี่ ทรงรับการถวายความเคารพจากแถวทหาร แตรเดี่ยวเป่าถวายความเคารพ 3 จบ และทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด

แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณหัวเรือของเรือหลวงช้าง เสด็จขึ้นแท่นพิธีฯ ประทับยืน ณ พระสุจหนี่ ในการนี้ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง แล้วทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง

แล้วทรงพระดำเนินไปยังห้องโถงนายทหาร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้บัญชาการทหารเรือ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเรือหลวงช้าง (จำลอง) และผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้างแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผู้บังคับการเรือหลวงช้าง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ในการนี้ ทอดพระเนตรภายในห้องสะพานเดินเรือ เรือหลวงช้าง ซึ่งเป็นห้องควบคุมการเดินเรือ เพื่อให้เรือสามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยตรงตามเวลา โดยมีนายยามเรือทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการบนสะพานเดินเรือ ตามแนวทางและคำสั่งการของผู้บังคับการเรือ ภายในมีอุปกรณ์สำหรับการนำเรือที่ทันสมัย เช่น เรดาร์เดินเรือ จำนวน 2 ตัว แบบ x-band และ s-band แผนที่อิเล็กทรอนิกส์ จีพีเอสสำหรับการนำเรือ ระบบกล้องวงจรปิด ที่สามารถใช้ตรวจสอบในขณะปฏิบัติการยกพล และขณะปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน รวมทั้งระบบถือท้ายที่ทันสมัยเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย

เรือหลวงช้างลำนี้ เป็นเรือหลวงช้างลำที่ 3 ของราชนาวีไทย โดยเป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำใหม่ที่กองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ให้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน มีขีดความสามารถในการควบคุมบังคับบัญชา การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และมีขีดความสามารถในการลำเลียงกำลังรบยกพลขึ้นบก จำนวน 650 นาย มียานรบประเภทต่าง ๆ รวมถึง ยุทโธปกรณ์ อีกทั้ง สามารถปฏิบัติงาน ร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภท ใช้ระยะเวลาในการต่อเรือ 4 ปี โดยได้เข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้ง เป็นเรือบัญชาการ และมีภารกิจรอง ในการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ เช่น การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกัน และต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ

โดยเรือมีความพร้อมปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายทันทีที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย เช่น การฝึกผสม BLUE STRIKE 2023 ระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือในระดับทวิภาคีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือไทยในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการบริหารจัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเล

Facebook Comments


Social sharing

Related post