
“พรพล เอกอรรถพร “ ภารกิจSACICTสู่ Art & Crafts Hub ของอาเซียน

ฉบับนี้ขอแหวกแนวออกจากภาคอสังหาริมทรัพย์บ้าง แต่จะขอกล่าวถึงองค์กรหนึ่งที่สำคัญที่มีบทบาทเป็นตัวช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชน เพราะชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็งก็จะมีรายได้เพิ่ม สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ สามารถนำรายได้มาต่อยอดซื้อบ้านใหม่ ซ่อมสร้างบ้านใหม่ก็ได้ แถมใช้วัสดุก่อสร้างซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านได้อีกต่อหนึ่ง เช่นกัน และที่สำคัญยังเป็นการให้ความสำคัญกับ”อัตลักษณ์ไทย” ให้อยู่คู่กับคนไทยไปได้นานๆ ซึ่งก็คือ “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ “ หรือ SACICT หรือ ศศป. ก็แล้วแต่จะเรียกขานกัน
ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกัน แต่หน่วยงานนี้กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 18 หากเทียบกับคน ก็เป็นวัยรุ่นเต็มตัวแล้ว “นายพรพล เอกอรรถพร “ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เล่าว่า ปี2564 ยิ่งจะต้องมีภารกิจที่ท้าทายมากขึ้น เพราะกระทรวงพาณิชย์ มีเป้าหมายเตรียมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมไทยแห่งอาเซียน เพื่อทำให้งานศิลปหัตถกรรมเติบโต ผ่านการติดอาวุธด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “นำคุณค่ามาเพิ่มมูลค่า”
หวังใช้ภูมิปัญญาที่ต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม มาช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ทำให้หัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรม รองรับการขับเคลื่อนการค้าดิจิทัล ให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจหัตถศิลป์ของอาเซียนในอนาคต
สำหรับภารกิจที่ต้องรับผิดชอบคือ การส่งเสริม สนับสนุนผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นสัดส่วน 90% ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม สืบทอดภูมิปัญญาสู่ทายาทครู เก็บข้อมูล รักษาอัตลักษณ์ ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมและส่งเสริมด้านการตลาด นอกจากนี้ส่วนที่เหลืออีก 10% คือการส่งเสริมสนับสนุนผลิตภัณฑ์โครงการศิลปาชีพ นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังจุดจำหน่ายต่างๆ ซึ่งการทำตลาดนั้น 95% จะจำหน่ายในประเทศและ จำหน่ายที่ตลาดต่างประเทศ 5%
ก่อนหน้านี้สิ่งที่ SACICT ดำเนินการไปในปี 2563 คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน การผลิตวีดิทัศน์โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ทำสื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพไปให้จังหวัดต่างๆ การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานโครงการในพื้นที่จริง เพื่อเรียนรู้และสัมผัสกับงานศิลปาชีพ การนำเทคโนโลยีไปใช้กับการพัฒนา การทำแผนส่งเสริมงานศิลปาชีพ ทั้งด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ แผนนำเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการศิลปาชีพ แผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีการส่งเสริมด้านการตลาดไม่ว่าจะเป็นงานศิลปาชีพทอใจ ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี ที่สามารถทำยอดขายได้ถึง 71 ล้านบาท งาน Crafts Bangkok 2020 ทำยอดขายถึง 67 ล้านบาท ทั้งสามารถทำยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯเพิ่มขึ้น 100% จาก 8 ล้านบาทเป็น 16 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับปี 2564 นี้ SACICT พร้อมที่จะเดินหน้าสู่ความท้าทาย ภายใต้บริบท “คุณค่าความเป็นไทย” ไม่ว่าจะเป็นการสืบสาน รักษา คุณค่าแห่งงานศิลปหัตถกรรมไทย การพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยทั่วประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ยังคงมีการนำเทคโนโลยีมาเชื่อต่อการพัฒนา มีการสนับสนุนด้านทรัพย์สินทางปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมไทย พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและส่งเสริม สนับสนุนด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
สิ่งที่จะต้องดำเนินการประการแรกคือ เพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย โดยการปรับความคิดและกระบวนการทำงานของผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น สีสัน ขนาด ลวดลาย และการใช้งานให้ตรงกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่ เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการหัตถศิลป์ไทย ควบคู่ไปกับการเข้าไปดูแลและคุ้มครองด้านสิทธิประโยชน์
การกำหนดและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย เพื่อการส่งออก รวมถึงการรับรองถิ่นกำเนิดของงานหัตถกรรมไทย การให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า รวมไปถึงลดกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึง
ทำให้ SACICT เตรียมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมไทย โดยได้ผสานความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ และยังเป็นเครื่องมือให้กับผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและมูลค่าให้สินค้า และมีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันช่วยลดระยะเวลาในการทำงานลง เป็นการพลิกโฉมหัตถศิลป์ไทยไปสู่ SMART Crafts (หัตถศิลป์อัจฉริยะ)
เหตุที่ต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ ไปจนถึงปลายทางในการจัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบ อันจะเอื้อให้ผู้ประกอบการงานคราฟต์ของไทยได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น หนุนให้เกิด Ecosystem ด้านงานศิลปหัตถกรรมอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นมิติใหม่ของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ชาวบ้าน ชุมชน คนทำงานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับสังคมไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ได้อย่างสง่างาม
สำหรับความร่วมมือกับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย )จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็ปไทยนี้คือจะเข้ามาช่วยเตรียมแผนยกระดับการตรวจสินค้าของผู้ประกอบการสมาชิก SACICT เช่นส่งเสริมการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( Geographical Indication ) ด้วยมาตรฐานสากล นำไปสู่การส่งเสริมโอกาสการต่อยอดเชิงพาณิชย์ และยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการสมาชิกทั่วประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทางพร้อมกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานการยกระดับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ด้วยการเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำถึงมาตรฐานการรับรองที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อกำหนดของประเทศปลายทาง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ
ส่วนความร่วมมือของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติหรือนาโนเทค จะเป็นในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์
สำหรับความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่หน่วยงานนี้มีภารกิจหลักคือการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมและการพัฒนาแรงงานในองค์กรที่มีศักยภาพ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในองค์กร จึงเน้นด้านพัฒนา Design & Engineering ให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในกลุ่มสิ่งทอเทคนิคและสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษ ช่วยยกระดับผลิตภาพและศักยภาพในการแข่งขันและรวมเป็นเครือข่ายห่วงโซ่มูลค่า ตอบสนองตลาดในประเทศระดับภูมิภาค และระดับโลก
ที่ผ่านมา SACICT ดำเนินการพัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมไทยอย่างรอบด้าน เน้นการเป็นเศรษฐกิจชุมชน ที่มีผู้ผลิตและจำหน่ายหัตถศิลป์ไทยล้วนเป็นชาวบ้านและชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ นำภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างที่ได้รับการสืบทอด มาผลิตงานหัตถศิลป์ในแบบดั้งเดิม ดังนั้นเพื่อให้วงการศิลปหัตถกรรมของไทยเกิดการพัฒนาให้เท่าทันกับการแข่งขันของโลกยุคใหม่ จึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย สร้างให้เป็นแรงงานอาชีพสร้างสรรค์ ที่มีคุณภาพ ยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลางและคนในชุมชนมีส่วนร่วม
ซึ่งไทยมีความโดดเด่นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงาน ที่มีเอกลักษณ์ นำคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่ปัจจุบันมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมีการนำจินตนาการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้ามีความแปลกใหม่และโดดเด่น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันในระดับราคาที่เข้าถึงได้ ผ่านการสร้างกระแสความนิยมใช้งานศิลปหัตถกรรมในสังคมไทย ช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยรู้สึกภาคภูมิใจและเกิดการซื้อใช้ ให้คนไทยในทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วม เป็นพลังสำคัญในการดำรงรักษาคุณค่าความเป็นไทยผ่านงานศิลปหัตถกรรมซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าของชาติให้คงอยู่ต่อไป
เมื่อไทยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแข่งขันในทุกมิติแล้ว ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์รวมงานศิลปหัตถกรรมแห่งอาเซียน (Art & Crafts Hub of ASEAN) ทั้งในมิติของการสืบสานรักษาต่อยอดองค์ความรู้หัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทย และในมิติของการเป็นศูนย์รวมการค้า การลงทุนในงานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นแหล่งรวมนักลงทุน แรงงานคุณภาพ ผู้ประกอบการและผู้ที่กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจด้านศิลปหัตถกรรม สร้างตลาดการซื้อ-ขาย ตั้งแต่วัตถุดิบและชิ้นงานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ