Digiqole ad

ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ‘งบประมาณการศึกษา’

 ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ‘งบประมาณการศึกษา’
Social sharing

Digiqole ad
พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงภาพรวมงบประมาณด้านการศึกษา ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วันสุดท้าย
.
พริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามฉายภาพให้ประชาชนเห็นตลอด 2-3 วันนี้ คือการตั้งคำถามว่าท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่รัฐบาลบอกว่าประเทศเรากำลังเผชิญ ทำไมรัฐบาลถึงจัดสรรงบประมาณ เสมือนว่าวิกฤตเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง
.
แม้เราอาจมีมุมมองที่ต่างกัน ว่าบางวิกฤตนั้นหนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่วิกฤตหนึ่งที่เชื่อว่า สส. ทุกคนและประชาชนทุกเฉดทางการเมืองนอกสภาฯ เห็นตรงกันว่าเป็นวิกฤตจริงและเป็นวิกฤตที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศคือ ‘วิกฤตการศึกษา’
.
ผลการประเมิน PISA ซึ่งวัดคุณภาพของระบบการศึกษาแต่ละประเทศทั่วโลก ถูกเผยแพร่ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ตอกย้ำ 3 วิกฤตของการศึกษาไทยที่เรื้อรังมานาน
.
วิกฤตที่ 1 เรื่องสมรรถนะ หรือการที่ ‘เด็กไทยเรามีทักษะสู้ต่างชาติไม่ได้’ ทักษะของเด็กไทยถดถอยอย่างต่อเนื่องทุกด้านทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน จะอ้างว่าเป็นเพราะโควิด ก็ฟังไม่ขึ้นเพราะคะแนนของไทยถดถอยมากกว่าประเทศอื่น ทั้งที่ประเทศเราปิดโรงเรียนน้อยกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำ
.
วิกฤตที่ 2 คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือการที่ “เด็กไทยมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน” ช่องว่างทางทักษะของเด็กไทยกว้างขึ้นเรื่อยๆ ตามฐานะทางการเงินของครอบครัว ใครที่ผู้ปกครองส่งไปเรียนที่โรงเรียนชั้นนำได้ ก็จะมีทักษะสู้เด็กประเทศอื่นได้สบาย
ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ของประเทศถูกประเมินว่ายังขาดทักษะในการ “นำความรู้มาใช้งานได้จริง”
.
วิกฤตที่ 3 คือเรื่องความเป็นอยู่หรือการที่ “เด็กไทยไม่มีความสุขในโรงเรียน” ในด้านสุขภาพกาย เด็กไทยต้องอดอาหาร เยอะเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยเกือบ 3 ใน 10 ต้องอดอาหารอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะไม่มีเงินซื้ออาหาร ในด้านสุขภาพใจ เด็กไทยรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” ในโรงเรียนสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกเช่นกัน
.
“ถ้านักเรียนในประเทศเราต้องเรียนด้วยความหิวโหยหรือความหวาดกลัว พวกเขาจะมีกะจิตกะใจมาเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร”
.
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คำถามที่น่าชวนคิดต่อ คือทำไมปัญหาเหล่านี้ ยังแก้ไขไม่ได้สักที ทั้งที่นักเรียนไทยลงทุน “เวลา” เรียนไปเยอะมาก เรียกได้ว่าเรียนหนักและมีชั่วโมงเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก
.
ทั้งที่ครูไทยลงทุน “เวลา” ทำงานไปเยอะมากเช่นกัน จนแทบจะเป็นทุกอย่างตั้งแต่นักบัญชี ภารโรง หรือพ่อครัว-แม่ครัว และประเทศเราก็ลงทุน “งบประมาณ” ไปกับการศึกษา ไม่น้อยกว่าประเทศอื่น
.
แต่ลงทุนทั้งทรัพยากร “เวลา” และ ทรัพยากร “เงิน” ไปขนาดนี้ ทั้งหมดก็ยังนำพาเรามาสู่วิกฤต ณ ปัจจุบัน
.
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าปัญหาเราไม่ได้อยู่ที่ “ปริมาณ” ของทรัพยากร แต่ปัญหาเราอยู่ที่ “ประสิทธิภาพ” ในการจัดสรรทรัพยากรต่างหาก
.
กล่าวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา แต่หากเราไม่ เร่งแก้ “วิธีการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา” หรือ “วิธีการใช้เงิน” จะเพิ่มงบประมาณไปอีกกี่ล้านบาท จะทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษาอีกกี่ครั้ง ก็แก้ปัญหาการศึกษาในประเทศนี้ไม่ได้
.
“เหมือนกับคนไข้ที่มีปัญหาที่หัวใจ จะให้เลือดเขาเพิ่มแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้
หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ วันนี้จึงต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ชื่อว่างบประมาณการศึกษาโดยแบ่งออกเป็น 4 ห้องหลักตามภารกิจหรือประเภทการใช้จ่าย”
.
ห้องที่ 1 = งบบุคลากร ที่รวมถึงค่าตอบแทนครูและบุคลากรในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงคนทำงานตามหน่วยงานต่างๆทั้งส่วนกลางและในระดับจังหวัดหรือเขตพื้นที่
.
ห้องที่ 2 = เงินอุดหนุนนักเรียน ที่รวมทั้งการอุดหนุนให้กับโรงเรียนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี และการอุดหนุนให้กับนักเรียน-ผู้ปกครองโดยตรงผ่าน กสศ.
.
ห้องที่ 3 = งบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ครอบคลุมทั้งอุปกรณ์ทางการศึกษา รถโรงเรียน อาคารเรียน สนามกีฬา เป็นต้น
.
ห้องที่ 4 = งบนโยบาย ที่ใช้ไปกับโครงการต่างๆ ที่รัฐบาล ณ เวลานั้น เห็นว่าสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา
.
เมื่อแบ่งแบบนี้จะเห็นว่า แม้งบประมาณในภาพรวมค่อนข้างคงที่ เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่การจัดงบปีนี้มีความพยายามในการลดงบลงทุนลง 23% หรือกว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อเอามาเพิ่มในส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะเงินอุดหนุนนักเรียน อย่างไรก็ตาม ปีศาจอยู่ในรายละเอียดเสมอ
.
📍ห้อง “งบนโยบาย” 📍ห้องนี้มี “อำนาจ” และ “พื้นที่” มากที่สุดในการปรับเปลี่ยน “การจัดสรร” หรือ “การออกแบบ” งบประมาณใหม่ได้ทันที แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้ใช้โอกาสดังกล่าว เพราะโครงสร้างหรือรูปร่างหน้าตาโดยรวมของงบก้อนนี้ แทบจะเหมือนเดิม
.
งบนโยบายทั้งหมดยังคงกระจัดกระจายไปตามโครงการต่างๆแบบ “เบี้ยหัวแตก” เกินครึ่งเป็นโครงการขนาดเล็กที่ใช้งบน้อยกว่า 100 ล้านบาท โครงการในงบปี 67 แทบจะเป็นโครงการเดิมจากงบปี 66 โครงการกลุ่มเดียวที่ดูจะใหม่จริง ก็คือโครงการพัฒนาระบบและแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบดิจิทัล ที่ตั้งงบกระจายไปอยู่หลายหน่วยงาน ใช้งบรวมกันกว่า 600 ล้านบาท
.
ซึ่งในเมื่อรัฐบาลกำลังจะใช้เงินมหาศาลไปกับโครงการนี้ จึงจำเป็นต้องขอให้รับประกัน 2 อย่าง คือ (1) ต้องรับประกันว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ จะไม่ซ้ำซ้อนระหว่างแต่ละหน่วยงานที่ตั้งโครงการลักษณะนี้ขึ้นมาใหม่ และจะไม่ซ้ำซ้อนกับทรัพยากรที่เรามีอยู่แล้ว และ (2) ต้องรับประกันว่า กระบวนการทั้งหมดจะดำเนินด้วยความโปร่งใส บริษัทที่เข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ จะถูกคัดเลือกจากผลงานและความคุ้มค่าของสิ่งที่เขานำเสนอ ไม่ใช่เอาบริษัทที่ลอยมาจากฟ้าเพียงเพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ
.
แต่หากเจาะลึกไปในส่วนของโครงการที่มีปัญหาจริงๆ เห็นว่ามี 2 ประเภทหลักๆ (1) คือโครงการที่ไม่ควรมี แต่ยังคงมีต่อ เช่น โครงการ “รวมมิตรความดี” ทุกปีเรามักเสียงบประมาณการศึกษาไปส่วนหนึ่งกับการทำให้เด็ก “ไม่เลว ไม่โกง ไม่เสพยา” ปีนี้ยิ่งหนักกว่าเดิม งบประมาณโครงการเกี่ยวกับจริยธรรมและการต่อต้านการทุจริต รวมกันอยู่ที่ 160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8%
.
ตนไม่ได้บอกว่าเรื่องศีลธรรม เรื่องการทุจริต หรือเรื่องยาเสพติด เป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่ไม่คิดว่าการใช้ทั้งงบ ทั้งเวลาครู ไปกับโครงการเดิมๆ ที่พยายามปลูกฝังให้นักเรียนเป็น “คนดี” ผ่านการทำโครงงานคุณธรรม จะเป็นวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดีที่สุด วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการที่ครูพยายามสอดแทรกเรื่องดังกล่าว เข้าไปในการเรียนการสอนในห้องเรียน
.
อีกตัวอย่างหนึ่งคือโครงการอบรมครูจากส่วนกลาง ที่แม้จะมีการปรับลดงบประมาณลงบ้างในปีนี้ แต่จะดีที่สุดหากงบอบรมครูที่ปัจจุบันส่วนกลางเป็นคนตัดสินใจ ถูกเปลี่ยนมาเป็นการให้งบอบรมครูตรงไปที่ครูแต่ละคนหรือโรงเรียนแต่ละแห่ง เพื่อให้พวกเขาเลือกเองว่าจะใช้ไปกับการพัฒนาทักษะด้านไหนที่ตอบโจทย์เขาที่สุด
.
โครงการที่มีปัญหาประเภทที่ 2 คือโครงการที่ควรมี แต่กลับยังไม่มีสักที นั่นคือหลักฐานยืนยันจากนายกฯ หรือรัฐมนตรีว่ารัฐบาลนี้จะผลักดันให้มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ที่เน้นการพัฒนาทักษะ-สมรรถนะให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะหากไม่เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ จะหมายความว่าระบบการศึกษาเราจะถูกล็อกอยู่กับหลักสูตรเดิมที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ยาวนานถึง 20 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นมักมีการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่อย่างต่อเนื่องทุกๆ 5-10 ปี
.
ดังนั้น สำหรับห้องนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องทำอย่างน้อย 3 อย่าง (1) ยกเลิกโครงการที่ไม่จำเป็นเพื่อคืนครูให้ห้องเรียน และคืนเงินภาษีให้ประชาชน (2) กระจายงบอบรมครูจากส่วนกลาง
ไปให้โรงเรียนและครูตัดสินใจเอง และ (3) เดินหน้าจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะฉบับใหม่ให้สำเร็จ
.
📍ห้อง “งบลงทุน” 📍ในภาพรวม ไม่ติดใจที่รัฐบาลเลือกจะประหยัดงบโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนในห้องนี้ลง 23% เพื่อไปเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับนักเรียน แต่พอวิเคราะห์รายละเอียดว่าท่านปรับลดงบลงทุนส่วนไหนและจัดงบลงทุนให้กับใคร ก็กังวลใจ 2 ประเด็น (1) ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจว่าจะตัดงบลงทุนส่วนไหน และ (2) ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจว่าจังหวัดไหนจะได้งบลงทุนมาก-น้อยกว่ากัน
.
หากเราไปดู “โครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์” ที่เรียกได้ว่าเป็นโครงการลงทุนหลักของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่รับผิดชอบ 83% ของงบลงทุนทั้งหมดของหน่วยงาน จะเห็นว่างบที่ถูกกระจายไปทั่วประเทศ 955 ล้านบาท
กลับถูกกระจายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ อย่างน่าสงสัย
.
แม้การกระจายงบอย่างเป็นธรรม ไม่ได้หมายความว่าทุกจังหวัดจะต้องได้รับงบลงทุนด้านอาชีวศึกษาในปริมาณที่เท่ากัน โดยไม่คำนึงถึงสภาพปัญหาและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ที่อาจแตกต่างกัน แต่น่าสงสัยว่าทำไมจังหวัดที่มี สส. เขตจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรี ถึงได้งบสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 25%
.
ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำอย่างน้อย 2 อย่าง (1) ประหยัดงบให้ถูกจุด โดยไม่กระทบกลุ่มเปราะบางหรือซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ (2) กระจายงบประมาณให้แต่ละจังหวัดอย่างเป็นธรรมด้วยเกณฑ์ที่โปร่งใส-ตรวจสอบได้
.
📍ห้อง “เงินอุดหนุน” 📍ห้องนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ปกครองทั่วประเทศ เพราะเป็นห้องที่จะชี้ขาด ว่าการศึกษาในประเทศนี้จะฟรีจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีในเบื้องต้นที่รัฐบาลมีการเพิ่มเงินอุดหนุนทั้งหมดประมาณ 4,396 ล้านบาท หรือ 5.2% ในปีนี้ แต่ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยก็ยังไม่ “ฟรีจริง” เหมือนที่ควรจะเป็น
.
หากอ้างอิงบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติที่จัดทำโดย กสศ. ปัจจุบันทุกๆ 100 บาทที่ถูกใช้ไปกับการศึกษา รัฐเป็นคนจ่าย แค่ประมาณ 78 บาท ในขณะที่ผู้ปกครองต้องควักเองอีก 22 บาท รวมกันเกือบ 200,000 กว่าล้านบาท ตนจึงอยากเห็นรัฐบาลพยายามมากกว่านี้ในการช่วยเหลือผู้ปกครองด้วยการ (1) ขยายเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนยากจนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา อย่างน้อย 5,000 ล้านบาท/ปี (2) ตัดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ไม่จำเป็นออกให้หมด เพื่อลดภาระผู้ปกครอง เช่น หยุดบังคับเรื่องชุดลูกเสือและเปลี่ยนมาใช้ชุดลำลองหรือชุดพละแทน (3) บริหารจัดการเงินอุดหนุนที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม สิ่งที่ทำได้เลย โดยไม่ต้องใช้เงินเพิ่มสักบาทคือการ “เปลี่ยน” วิธีการอุดหนุนเงิน จากปัจจุบันที่ถูกล็อกไว้ว่าก้อนไหนใช้กับอะไรได้บ้าง เปลี่ยนเป็นอุดหนุนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์ หรือ block grant ซึ่งจะทำให้โรงเรียนมีอิสรภาพมากขึ้น ในการตัดสินใจว่าจะใช้งบอย่างไรให้ตอบโจทย์
.
โดยสรุป เราจำเป็นต้องทำอย่างน้อย 3 อย่าง (1) เพิ่มเงินอุดหนุนให้เด็กยากจนที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา (2) ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและสร้างภาระให้ผู้ปกครอง (3) อุดหนุนเงินให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้
.
📍ห้องสุดท้าย คืองบบุคลากร 📍แม้เป็นห้องที่ใช้งบเยอะที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าปรับเปลี่ยนงบในระยะสั้นได้ยากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่าหากเราอยากมีงบประมาณพอสำหรับห้องอื่นในอนาคต เราจำเป็นที่จะต้องบริหารงบบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการเผชิญหน้ากับ 2 โจทย์ท้าทายใหญ่ๆ
.
โจทย์ที่ 1 คือการแก้ปัญหาเรื่อง “ครูกระจุก โรงเรียนกระจัดกระจาย” โดยการหาทางออกที่ยั่งยืนเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก และโจทย์ที่ 2 คือการแก้ปัญหาเรื่อง “อำนาจกระจุก การทำงานกระจัดกระจาย” โดยการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวง ให้มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันน้อยลง และมีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษามากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ เราคงจะได้อภิปรายกันเต็มที่ในวันที่พรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติเข้าสู่สภาฯในเร็วๆนี้
.
ห้องนี้เราจำเป็นต้องทำอย่างน้อย 2 อย่าง (1) เร่งหาทางออกเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก (2) ปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงเพื่อลดความซ้ำซ้อน กระจายอำนาจ และเพิ่มประสิทธิภาพ
.
[ ผ่าตัดหัวใจงบการศึกษา เป็นทางออกจากวิกฤต ]
.
การผ่าตัดทั้ง 4 ห้องนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้หัวใจแต่ละห้อง “แข็งแรง” มากขึ้น แต่จะยังทำให้หัวใจงบประมาณการศึกษาของเรา “สมดุล” กันมากขึ้นระหว่างแต่ละห้อง เพราะงบทุกบาทที่เราประหยัดได้จากงบนโยบาย-งบลงทุน-งบบุคลากร หมายถึงงบที่เราสามารถนำไปเพิ่มให้กับการอุดหนุนนักเรียนได้มากขึ้น
.
ในอีกมุมหนึ่งหัวใจเราจะ “เต้นตามจังหวะ” ของโรงเรียนและนักเรียน เพราะแทนที่กระทรวงจะเป็นคนคิดแทนโรงเรียนทั้งหมด สิ่งที่เราเสนอ จะเป็นการกระจายอำนาจให้โรงเรียนและนักเรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น
.
มีคนเคยกล่าวไว้ว่าสิ่งที่เราต้องหลีกเลี่ยงที่สุดคือ “การทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่คาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” เช่นเดียวกันวิกฤตการศึกษาที่เราเผชิญอยู่ในวันนี้ มันหนักหนาสาหัสเกินกว่าจะถูกแก้ไขได้ด้วยการจัดงบแบบเดิม หรือด้วย “หัวใจดวงเดิม”
.
“เรายืนยันว่าวิกฤตการศึกษาจะแก้ไขไม่ได้ หากเราไม่ผ่าตัดหัวใจทั้ง 4 ห้องของงบประมาณการศึกษากันใหม่”
.
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอที่ผมและพรรคก้าวไกลได้อภิปราย จะไม่เป็นข้อเสนอ ที่ต้องรอพรรคก้าวไกลมาเป็นรัฐบาล ถึงจะได้เริ่มทำ แต่รัฐบาลชุดนี้ จะเห็นด้วยและรับไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อร่วมกันผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ที่มีชื่อว่างบประมาณการศึกษา และสร้างอนาคตการศึกษาไทยที่ดีขึ้น สำหรับลูกหลานเราทุกคน”
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post