
ผู้ว่าประจวบฯ เดินหน้าแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจังหวัด พร้อมช่วยลดโลกร้อนยั่งยืน ดึงปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน)


จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผนึกหน่วยงานพื้นที่ ประกาศเจตจำนงช่วยลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน ตามนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เดินหน้างานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจังหวัด ส่งเสริมทุกโครงการใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน)’ คาดปี 2566 ลดก๊าซเรือนกระจก 3,122 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ดร. เสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สาเหตุของภาวะโลกร้อน (Global Warming) และพร้อมสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาและสร้างความเติบโดทางเศรษฐกิจของจังหวัด ตามเป้าหมาย ‘เมืองท่องเที่ยวทรงคุณค่าระดับนานาชาติ เกษตรปลอดภัย ด่านสิงขรระเบียงเศรษฐกิจแห่งอนาคต สังคมผาสุกภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ เพื่อสร้างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงผนึกความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐในจังหวัด แสดงเจตจำนงส่งเสริมใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน)’ ที่จะมีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐและจังหวัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ ตามแนวทาง Bio-Circular-Green Economy
ตามที่รัฐบาลไทย โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศคำมั่นในที่ประชุมผู้นำระดับโลก COP 26 ว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการร่วมกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การปรับตัว (Adaption) ครอบคลุมทั้งภาคพลังงาน ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ภาคของเสีย และภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ในการยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นร้อยละ 40 ในปี 2573 พร้อมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608
กระทรวงมหาดไทย มีความมุ่งมั่น Change for Good พร้อมส่งเสริมหน่วยงานในสังกัดและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลายด้าน โดยหนึ่งในนโยบายดำเนินงานที่สำคัญ คือ การส่งเสริมใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก)ในงานก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งเป้าหมายร่วมลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี 2566
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แสดงความมุ่งมั่นเของจังหวัด พร้อมร่วมขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก จึงผนึกความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมกัน “แสดงเจตจำนงส่งเสริมการใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน)’ สำหรับงานก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐภายในจังหวัด” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานแสดงเจตจำนง
ดร. เสถียร เพิ่มเติมว่า “การร่วมกันแสดงเจตจำนงครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการ Change for Good เป็นต้นแบบลดก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยขอความร่วมมือหน่วยงานที่มีโครงการก่อสร้าง ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย แขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) แขวงทางหลวงชนบทประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานชลประทานที่ 14 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน) มาตรฐาน มอก. 2594 เป็นทางเลือกแรก สำหรับการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะทำให้จังหวัดช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 3,122 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่าการปลูกไม้พื้นเมืองเพื่อดูดซับ CO2 ประมาณ 330,000 ต้น หรือ 3,300 ไร่) ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่า ในปีงบประมาณ 2567 จะมีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน) ในทุกโครงการก่อสร้างของจังหวัด รวมทั้งเชิญชวนไปยังโครงการก่อสร้างของภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่จะสามารถมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ลูกหลานของชาวประจวบคีรีขันธ์ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีสืบไป”