Digiqole ad

ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม หุ่นยนต์ สร้างชาติ สร้างอนาคตเด็กไทย 

 ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม หุ่นยนต์ สร้างชาติ สร้างอนาคตเด็กไทย 
Social sharing
Digiqole ad

ในปัจจุบันผู้คนไม่น้อยทั่วโลกต่างหลงใหลหุ่นยนต์พอๆ กับคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอล และนี่คือแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เกิดการแข่งขันพัฒนาทักษะ“หุ่นยนต์”โดยเฉพาะจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ที่ครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ให้แก่เด็กไทย เพื่อนำไปพัฒนาประเทศชาติต่อไป  

ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมาพันธ์ระดับนานาชาติ RoboCup (International RoboCup Federation) ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดำเนินการจัดการแข่งขันโรโบติกส์คัพ เปิดเผยว่า นับเป็นโอกาสที่ดีเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีนี้ “ทุกครั้งที่มีการจัดการแข่งขันโรโบติกส์คัพในแต่ละประเทศทั่วโลก ก็จะมีผู้เข้ามาร่วมแข่งขันจากประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ปีนี้คาดว่า จะมีผู้เข้ามาแข่งขันในประเทศไทยถึง 45 ประเทศ มากกว่า 3,000 คน โดยเข้ามาแข่งขันหุ่นยนต์ในลีกต่างๆ” 

อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ยังได้กล่าวย้ำว่า หนึ่งในลีกย่อยที่สำคัญของการแข่งขันของปีนี้ คือลีก Rapidly Manufactured Robot Challenge League : RMRC “หุ่นยนต์พิชิตภารกิจสำรวจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” ซึ่งเป็นการแข่งขันลีกเยาวชนอายุตั้งแต่ 13-19 ปี เป็นการแข่งขันประเภทจูเนียร์ลีก RMRC  ที่เน้นการสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย ที่ประกอบขึ้นจากวัสดุที่หาได้รอบตัว หุ่นยนต์สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ และพิชิตภารกิจตามโจทย์กำหนดให้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยของเราก็ได้รับมอบหมายให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกก็ได้” 

อายุไม่ใช่อุปสรรคต่อการเรียนรู้หุ่นยนต์ 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวด้วยว่า การเรียนรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์นั้น ไม่ได้จำกัดเรื่องของอายุ “ผมมองว่า อายุไม่ใช่ตัวกำหนดการเรียนรู้ เด็กสมัยนี้ สามารถทำกลไกหุ่นยนต์เบื้องต้นง่าย ๆ ได้ แต่หากมีผู้ใหญ่มาแนะนำ หรือ มีผู้เชี่ยวชาญมาชี้แนะ ก็จะทำให้เขาเรียนรู้และเข้าใจได้ดีขึ้น ซึ่งเท่าที่เราจัดงานมา เรามองเห็นศักยภาพของเด็กไทยค่อนข้าง ไม่เคยมีปีญหาเรื่องของอายุเด็กที่เข้าแข่งขันเลย แต่หากจะมีจริง ๆ ก็คงเป็นเรื่องจินตนาการและการแก้ไขปัญหา หรือ ซอฟต์สกิล (soft skill) มากกว่า” 

การส่งเสริมการเรียนด้านหุ่นยนต์ ในประเทศไทย อธิการบดีฯ อธิบายว่า ส่วนใหญ่เด็กที่มาเรียนรู้ มักจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง หรือ โรงเรียน แต่ไม่ใช่การเรียนแบบจริงจังเท่าไรนัก เป็นการเรียนแบบเสริมมากกว่า เพราะผู้ปกครองคิดว่าการเรียนรู้เรื่องของหุ่นยนต์ไม่ได้เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็น เรียนแล้วจะได้อะไร มองไม่เห็นอาชีพในอนาคตเลย” 

“ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า จะหาเรียนวิทยาการด้านหุ่นยนต์ในเมืองไทยคงยาก เพราะวันนี้ เราจะเห็นมีแต่โรงเรียนกวดวิชาที่เป็นด้านวิชาการมากกว่า ขณะที่เรื่องหุ่นยนต์อาจไม่แพร่หลายขนาดนั้น แต่ผมก็อยากจะบอกว่า ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยของเรา ได้ทำงานใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมมาตลอด ทำให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย กำลังประสบปัญหาในเรื่องกำลังคน และบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงมีไม่เพียงพอ คนเกิดน้อยลง  ผู้สูงอายุมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพึ่งพาวิทยาการด้านหุ่นยนต์เป็นอย่างมาก” 

ภาคอุตสาหกรรมต้องการกำลังคน

ผศ. ดร. ภานวีย์ ย้ำว่า หากจะให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศเดินหน้าแบบก้าวกระโดด จำเป็นต้องมีบุคลากรมากกว่า 5 แสนคน “เพื่อเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม กำลังคนเหล่านี้ต้องสามารถบูรณาการศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี ออโตเมชั่นและโรโบติกส์ เพื่อการปฏิบัติการ ไม่เช่นนั้นประเทศของเราก็จะยังคงติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางดังอดีตที่ผ่านมา”

ด้วยความตระหนักรู้ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครจึงพยายามที่จะปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเด็กไทย “เหตุผลที่เราพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้เรียนที่เป็นเด็ก เพราะผมมองว่าเด็กยุคนี้มีความกล้าคิดกล้าทำ การเรียนรู้จึงไม่ควรเริ่มเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย แต่ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กและเริ่มจากความชอบของเขาก่อน” อีกสิ่งหนึ่งที่ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเน้นย้ำด้วย คือ ต้องสร้าง และทำให้เด็ก ๆ เห็นว่า เมื่อเขาเรียนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีไปแล้ว เขาจะทำงานอะไร “หากจะให้ประเทศไทยหลุดจาก Middle Income Trap หรือ กับดักรายได้ปานกลาง ให้ได้ ก็ต้องนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปกระตุ้น ถึงจะหลุดออกมาได้” 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครพร้อมเดินหน้าสนับสนุน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เล่าถึงการสนับสนุนเด็กไทยกับการเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์ว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเด็ก ๆ น้อง ๆ ซึ่งบางคนไม่มีโอกาส ให้ได้เจอกับโอกาส “หลักสูตรที่เรามีอยู่ตอนนี้ และความใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้เรารู้ว่า ปลายทางเขากำลังต้องการอะไร วันนี้ เราจึงพยายามปรับปรุงหลักสูตรทุกอย่างของเรา รวมถึงเครื่องมือ และจัดสรรอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้เหมาะกับเด็กๆ ที่อยากเข้ามาเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์ ในโอกาสนี้ซึ่งหลังจากที่เราประกาศรับสมัครทีมเข้าร่วมแข่งขัน ก็พบว่า มีทีมเยาวชนมากกว่า 55 ทีมจากทั่วประเทศสมัครเข้ามาแข่งขันหุ่นยนต์พิชิตภารกิจสำรวจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกับเรา โดยทุกทีมที่สมัครเข้ามา เราไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เลย” 

“นอกจากทางมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมกิจกรรม Workshop เพื่อการฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้น โดยทีมคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัย และจัดเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ รวมถึงจัดหาสปอนเซอร์ เข้ามาสนับสนุนการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ให้แก่เด็กๆ ในครั้งนี้ด้วย” 

ความคาดหวัง 

ในส่วนของการคาดหวังกับการจัดงาน อธิการบดีฯ ไม่ได้มองแค่ เรื่องของความรู้ที่เด็กๆ จะได้เท่านั้น “ผมอยากสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็กๆ ว่า ศาสตร์ทางด้านนี้ คืออนาคตของประเทศ มีผลโดยตรงต่ออนาคตที่ดีของชุมชน จนลงมาถึง ระดับครอบครัว ดังนั้น ความคาดหวังของผม คืออยากให้เด็กที่มาเข้าร่วมการแข่งขันได้เห็นถึงอนาคตที่แจ่มชัดของตัวเขาเอง ณ เวลาปัจจุบัน นั่นคือ เขาสามารถมองไปถึงว่า เขาจะช่วยเหลือครอบครัวของเขาอย่างไร จากสิ่งที่เขาชอบ แน่นอนว่าเขาจะภาคภูมิใจที่สุด ที่เขาสามารถสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้แก่ตัวเองได้” 

ถึงกระนั้นก็ดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ในการแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งนี้ นอกจากเด็กๆ จะได้เห็นภาพความฝันที่จับต้องได้ของเขาแล้ว เด็กๆ ยังจะได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ในชีวิต “การมาสมัครเข้าแข่งขันครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขันเท่านั้น แต่เด็กๆ ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมเวิร์ค ที่ต้องถกแถลงแสดงความคิดเห็น ด้วยเหตุและผล ขณะเดียวกันยังจะได้เรียนรู้กติกามารยาท ซึ่งบางครั้งเขาอาจจะแพ้ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างก็ตาม แต่เขาก็จะจดจำบทเรียนข้อผิดพลาดเหล่านั้น แล้วนำไปปรับปรุงและประยุกต์ใช้ในอนาคต” ซึ่งอธิการบดีฯ ยังเน้นย้ำด้วยว่า “อย่าคิดแค่ว่าการแข่งขันนี้ เป็นแค่เรื่องของการชอบหุ่นยนต์อย่างเดียว ทว่า จริงๆ แล้ว เขากำลังเรียนรู้เรื่องราวชีวิตจริง ที่เขาต้องพบกับทั้งความสมหวังและความผิดหวังผิดพลาด แต่เมื่อได้ลุกและก้าวต่อไปอย่างถูกทิศถูกทาง เขาก็จะภูมิใจในตัวเอง และได้หลักคิดแนวทางในการพัฒนาตัวเองและประเทศชาติต่อไป” 

สำหรับเด็กๆ หรือ ผู้ปกครอง ที่สนใจการแข่งขันในลีก Rapidly Manufactured Robot Challenge League : RMRC “หุ่นยนต์พิชิตภารกิจสำรวจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” หรือการเรียนรู้วิทยาการด้านหุ่นยนต์ สามารถสอบถามได้ที่ สำนักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร  02-988-4021-24 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซด์ http://www.mut.ac.th/robocup2022/

Facebook Comments

Related post