
ผลกรรมประชาธิปไตยข้างถนน

ผลโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรีเมื่อที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มีการแหกโผทั้งส.ส.ฝ่ายค้านและส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจนตั้งท่าจะต้องชำระบัญชีกันภายในพรรคกลายเป็นเรื่องเล็ก เมื่อ4วันต่อมา 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาคดี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ผู้สร้างขบวนการนกหวีด มือตบ กับพวกซึ่งเป็นแกนนำและแนวร่วมรวม 39 คน เป็นจำเลยในความผิดหลายข้อหาจากการชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อพฤศจิกายน 2556 – 22 พฤษภาคม 2557
หลังศาลอ่านคำพิพากษาที่ยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง เพราะมีจำเลยจำนวนมากและอัยการตั้งข้อกล่าวหาตั้งแต่มั่วสุม อั้งยี่ ซ่องโจร บุกรุกสถานที่ราชการ ฯลฯ จนถึงข้อกล่าวหากบฏนั้น โดยสรุปว่าศาลยกฟ้อง 12 คน มีความผิดแต่ให้รอลงอาญา 12 คน เพิกถอนสิทธิทางการเมือง 7 คน อีก 8 คนโทษหนักจำคุก 4-9 ปีโดยไม่รอลงอาญา
8 คนที่ต้องเปลี่ยนชุดสูทเดินเข้าเรือนจำระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. โทษ 5 ปี นายชุมพล จุลไศย โทษ 9 ปี 24 เดือน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โทษ 7 ปี นายอิสสระ สมชัย โทษ 7 ปี 16 เดือน นายถาวร เสนเนียมโทษ 5 ปี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ โทษ 6 ปี 16 เดือน นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ) โทษ 4 ปี 8 เดือน เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ โทษ 4 ปี 16 เดือน
คำพิพากษาดังกล่าวมีผลให้เก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่างลงทันที 3 ตัวคือ นายณัฏฐพล หลุดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ หลุดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายถาวร หลุดจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ยิ่งไปกว่านั้นนายณัฏฐพลยังต้องหลุดจากส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ นายชุมพลหลุดจาก ส.ส.เขตจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ นายอิสสระหลุดจากส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์เนื่องจากศาลอาญายังสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี รวมถึงนายสุวิทย์ และ เรือตรีแซมดิน
กรณีนายณัฏฐพลคงไม่ติดใจเรื่องใครหักหลังคะแนนโหวตไว้วางใจในสภาจนติดอันดับบ๊วย และคงไม่ต้องปวดหัวคิดวางแผนส่งภรรยาลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะนางทยา ทีปสุวรรณ เป็นอีกหนึ่งในหัวขบวน กปปส. แม้จะถูกคำพิพากษาจำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 26,666 บาท แต่ยังโชคดีที่ศาลให้รอลงอาญา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี
มองภาพการเมืองใหญ่ผลที่ตามมาคือต้องจัดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 แทนนายชุมพล และส.ส.สงขลา เขต 6 แทนนายถาวร แต่ที่จะเกิดแรงกระเพื่อมในรัฐบาลคือการปรับคณะรัฐมนตรีที่แม้จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าขึ้นอยู่กับนายกฯประยุทธ์ แต่ในพรรคใหญ่ก็มีหลายมุ้ง ในพรรคร่วมก็มีการรวมเสียงเพื่อขอโควตา คนที่คุมเสียงส.ส.ก็ส่งสัญญาณแล้วว่าต้องการขยับจาก รมช.เป็นรมว.
ขบวนการนกหวีด กปปส. ที่ “ลุงกำนัน”สุเทพจัดการชุมนุมเริ่มต้นจากการต่อต้านร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย แล้วกลายเป็นการขับไล่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ลากยาวเกือบ 7 เดือนจนสิ้นสุดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารในนาม “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (คสช.)
หนึ่งในผู้ร่วมคล้องนกหวีดออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์คือนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรปี 2529-2531 อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 5 ผู้ที่เคยประกาศว่า “เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา”
เมื่อถูกถามว่าเชื่อมั่นระบบรัฐสภาแต่ทำไมมาเดินขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และทำไมจึงคัดค้านการเลือกตั้ง นายชวนตอบตอนนั้นว่า แคมเปญการเมืองของประชาธิปัตย์ กับอีเวนต์การเมืองหรือวาระของ กปปส. ไม่มีประเด็นใดขัดแย้งกัน เพราะทั้งสองขา ต่างเห็นด้วยกับเรื่อง “หลักประชาธิปไตย”
นักการเมืองอาชีพอย่างนายชวนย่อมรู้อยู่ว่าการชุมนุมของกปปส.จะนำไปสู่การรัฐประหาร มีการฉีกรัฐธรรมนูญ เกิดรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจคสช. พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเข้าร่วมรัฐบาลและนายชวนก็ยังรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
วันนี้นายชวนนั่งดูลูกน้องเดินชักแถวเข้าคุก ส่วนที่รอดคุกก็มีประวัติคดีอาญาแผ่นดิน ล้วนเป็นความถดถอยของพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนเป็นผลกรรมของประชาธิปไตยข้างถนน