Digiqole ad

ป้ายสุดท้าย…พรรคประชาธิปัตย์  

 ป้ายสุดท้าย…พรรคประชาธิปัตย์  
Social sharing

Digiqole ad

           วันที่ 6 เมษายน 2489 พรรคประชาธิปัตย์ถูกก่อตั้งขึ้นโดยพันตรีควง อภัยวงศ์ ด้วยอุดมการณ์ไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ  ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ

พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทย  เคยได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักประชาธิปไตยของประชาชน  เคยเป็นสถาบันที่ผลิตนักการเมืองที่มีอุดมการณ์  ที่มีฝีปากกล้า  ที่มีจิตใจกล้าหาญที่จะเผชิญหน้าเผด็จการ  มีหัวหน้าหน้าพรรคที่เคยได้ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้วนับตั้งแต่นายควง อภัยวงศ์  ...เสนีย์ ปราโมช  นายชวน หลีกภัย  และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

           แม้แต่นายสมัคร สุนทรเวช  อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ก็ถือเป็นผลผลิตคนหนึ่งจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะแยกไปเติบโตในเส้นทางการเมืองของตนเอง

          ความเสื่อมถอยของพรรคประชาธิปัตย์ที่กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้งในวันนี้  เริ่มมาตั้งแต่ปี2538 เมื่อรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจกที่ดินส.ป.ก. 4-01 ให้เศรษฐีภูเก็ต  ส่งผลให้นายชวน หลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่  นั้บแต่นั้นมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยชนะการเลือกตั้งอีกเลย 

การเลือกตั้ง 10 ครั้งที่ผ่านมา
          – ปี 2538 พรรคชาติไทย ชนะ พรรคประชาธิปัตย์   92 ต่อ 86 เสียง
          – ปี 2539 พรรคความหวังใหม่  ชนะ พรรคประชาธิปัตย์  125 ต่อ 123 เสียง
          – ปี 2544 พรรคไทยรักไทย  ชนะ พรรคประชาธิปัตย์  248 ต่อ 128 เสียง
          – ปี 2548 พรรคไทยรักไทย ชนะ  พรรคประชาธิปัตย์ 377 ต่อ 96 เสียง   

– ปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์ บอยคอตการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549  ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ                                                                                  

– ปี 2550 พรรคพลังประชาชน ชนะ พรรคประชาธิปัตย์ 233 ต่อ 68 เสียง
          – ปี 2554 พรรคเพื่อไทย ชนะ พรรคประชาธิปัตย์ 265 ต่อ 159 เสียง                                                                  

– ปี 2557  ลุงกำนัน(สุเทพ เทือกสุบรรณ) ในนาม กปปส.เป่านกหวีตต่อต้านการเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ระดมพลชัตดาวน์กรุงเทพฯ  ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

– ปี 2562 พรรคเพื่อไทย  ชนะ พรรคประชาธิปัตย์ (อันดับ 4) 136 ต่อ 53 เสียง                                               

– ปี 2566 พรรคก้าวไกล  ชนะ พรรคประชาธิปัตย์ (อันดับ 6) 151 ต่อ 25 เสียง

กาลเวลามีผลให้เสาหลักประชาธิปไตยกลายเป็นไม้หลักปักขี้เลน  มีผลให้พรรคของคนดี ใสซื่อมือสะอาด  พรรคของเหล่าสุภาพบุรุษสุภาพสตรีประชาธิปไตยที่เทิดทูนการเลือกตั้ง  กลายเป็นพวกขี้แพ้ชวนตี  และเป็นตัวจุดชนวนวิกฤติการณ์ทางการเมืองในหลายครั้ง 

            ความเสื่อมถอยของพรรคที่สังคมจดจำคือ  การทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยไปเล่นนอกเกมเพื่ออำนาจทางการเมือง  เช่นการร่วมตั้งรัฐบาลในค่ายทหารปี 2551 ดันนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นผลให้เกิดการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อขับไล่รัฐบาล  นำมาสู่การปราบปรามและล้อมปราบด้วยกระสุนจริงและความตายเกือบ 100 ศพ บาดเจ็บหรือพิการอีกนับพันโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ     

           เช่นเดียวกับการกลืนน้ำลายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  นำพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งแบบหมดรูปในปี 2562 แล้วยังสนับสนุนพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคสช.ให้ครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 4 ปี

          การเลือกตั้งล่าสุดปี 2566 แม้ไม่ได้ถูกชวนเข้าร่วมขั้วรัฐบาลแต่กลุ่มส..ประชาธิปัตย์ก็ยังฝืนมติพรรคโหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี  ประชาชนมองว่าทำตัวเป็นพรรคอะไหล่รอเสียบ  สะท้อนถึงภาวะของพรรคที่หมดแล้วซึ่งหลักการ  ไร้อุดมการณ์  ไร้ศักดิ์ศรี

          ความเปลี่ยนแปลงที่ถดถอยของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเวลา 28 ปีที่ผ่านมาจึงไม่อาจโยนบาปทั้งหมดไปยัง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคคนที่ 9  แต่เพียงผู้เดียว  หรือเพียงเพราะตระบัตสัตย์ว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิตเมื่อนำพรรคพ่ายแพ้อีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา 

           ถ้าจะให้ยุติธรรม อดีตหัวหน้าพรรคทุกคนนับแต่ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์  และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถอนตัวจากการแข่งขันกับนายเฉลิมชัย  และลาออกจากสมาชิกพรรค  รุ่นใหญ่เหล่านี้ล้วนมีส่วนรับผิดชอบต่อทุกก้าวเดินของพรรค  สมควรถกแขนเสื้อกรีดเลือดออกมาให้ดูกันว่าเป็นสีฟ้าจริงอย่างที่คุยหรือเปล่า

          ส่วนก้าวต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย  อาจจะเป็นพรรคต่ำ 10 หล่นอันดับไปอยู่ท้ายตาราง  หรืออาจจะไปสู่การสูญพันธุ์ไร้ที่นั่งในสภา  เพราะปรามาสคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ว่า ขาดบุคคลิกของผู้นำทางการเมือง  ฝีปากไม่คมอภิปรายในสภาไม่โดดเด่น  มีตำหนิจากการไม่รับผิดชอบคำพูดของตนเอง  ส่วนสส.ที่เป็นลูกทีมก็ล้วนแต่อ่อนพรรษา ฯลฯนั้น 

          ส่วนใหญ่คือมุมมองของคนที่โดดขึ้นฝั่งถีบหัวเรือเพราะเชื่อว่าเรือกำลังจะล่ม  หรือคนนอกที่ยืนอยู่ริมฝั่งเฝ้าดูเรือลำนี้ที่พายวนเวียนอยู่ในอ่างการเมืองไทยในช่วงหลังเกือบ3ทศวรรษแบบไร้อนาคต   

นักวิชาการด้านการเมืองท่านหนึ่งกล่าวแบบแทงใจดำว่า  พรรคประชาธิปัตย์แค่ปรับโครงสร้างยังไม่พอ  ต้องรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่  เพราะวิถีของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนไทยในยุคปัจจุบันต้องการ

อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนที่โบกมือลา  เอ่ยคำขวัญของพรรคที่ว่า “ สจฺจํ  เว อมตา วาจา”  คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย

แต่สโลแกนของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  ขึ้นไว้บนหน้าเฟสบุ๊กว่า “ อยู่ให้มีศักดิ์ศรี  ดีให้มีคุณค่า  บ้าให้มีเหตุผล   ทนให้มีเป้าหมาย  และตายให้มีคนจำ”

เหมือนจะบอกว่า อย่าหมิ่นคนบ้า ที่กล้าตระบัดสัตย์  เพราะอาจจะมีผลงานมากกว่า คนที่ “ดีแต่พูด”

Facebook Comments


Social sharing

Related post